The Prachakorn

Ageing in Purpose: สูงวัยอย่างมีเป้าหมายเพื่อความหมายของชีวิต


นิธิพัฒน์ ประสาทกุล

25 พฤศจิกายน 2567
93



“การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ถูกซ่อนอยู่ในทุกแนวคิดของการสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ หากเราใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย อาจทำให้คุณภาพชีวิตเราลดลง หรือเราอาจทำให้เราสูญเสียคุณค่าของตัวเอง และไม่สามารถเตรียมตัวหรือรับมือกับเหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“Ageing in Purpose” เป็นคำที่ผมเคยเห็นผ่านตาอยู่บ่อยครั้งจากบทความภาษาอังกฤษ ผมจึงได้มีโอกาสนำแนวคิดดังกล่าวมาศึกษา และได้แปลแนวคิดนี้เป็นภาษาไทยว่า “การสูงวัยอย่างมีเป้าหมาย” ซึ่งเป็นคำที่มีความน่าสนใจและค่อนข้างที่จะครอบคลุมในทุกมิติของ Active Ageing

หากเราใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย อาจทำให้คุณภาพชีวิตเราลดลง หรือเราอาจทำให้เราสูญเสียคุณค่าของตัวเอง และไม่สามารถเตรียมตัวหรือรับมือกับเหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเมื่อยามชรา มักจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งการเจ็บป่วย การตั้งเป้าหมายในชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com

Active Ageing อย่างที่ทุกท่านทราบกันดี เป็นแนวคิดที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุทั่วโลก และปัญหาดังกล่าว อาจจะมาถึงก่อนเวลาที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยแนวคิดดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ผู้สูงอายุทุกวัยสามารถใช้เวลาในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดดังกล่าวประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ 1) การมีสุขภาพที่ดี 2) การทำกิจกรรมร่วมกับสังคม และ 3) การมีความมั่นคงปลอดภัย
เมื่อเราลองมาดูในแต่ละส่วนภายใต้แนวคิด Active Ageing จะเห็นได้ว่า การมีเป้าหมาย หรือ Purpose ในการใช้ชีวิต ถูกซ่อนอยู่ในทุกมิติในการส่งเสริมคุณภาพผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

  1. การมีสุขภาพที่ดี การตั้งเป้าหมายในการรักษาสุขภาพ เช่น การตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองให้มีสุขภาพที่ดี หรือการวางแผนในการรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อสูงวัย
  2. การทำกิจกรรมร่วมกับสังคม การตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพบปะพูดคุยกับเพื่อน หรือการมีกิจกรรมร่วมกันกับคนในชุมชน โดยเป้าหมายดังกล่าวเข้ามาช่วยในเรื่องของการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะออกจากสังคมตามกาลเวลา
  3. การมีความมั่นคงปลอดภัย การตั้งเป้าหมายทางการเงิน เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของผู้สูงอายุ เนื่องจากการสูงวัยนั้นมีราคาที่จำเป็นต้องจ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งข้าวของเครื่องใช้ ผู้สูงอายุมักจะขาดรายได้หรือเงินในช่วงสูงวัย การตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินเพื่อใช้ในช่วงสูงวัยจึงสำคัญ หรือในทางกลับกันเราสามารถตั้งเป้าหมายในการทำงานเมื่อสูงวัยได้เช่นกัน1

เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com

เห็นได้ชัดว่าการมีเป้าหมายในชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญและถูกซ่อนอยู่ในทุกองค์ประกอบของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับแนวคิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีอายุที่ยืนยาว เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับ “Blue Zone” หรือพื้นที่สีน้ำเงินของ Dan Buettner ซึ่งได้ค้นพบว่าผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ “Blue Zone” มักมีการตั้งเป้าหมายในการมีชีวิต หรือจุดหมายของชีวิตซ่อนอยู่

Blue Zone หรือพื้นที่สีน้ำเงิน เป็นพื้นที่ที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวกว่าที่อื่น พื้นที่สีน้ำเงินกระจายอยู่ทั่วโลก โดยพื้นดังกล่าวถูกกำหนดโดย Dan Buettner นักสำรวจจาก National Geographic ใน ค.ศ. 2004 มีทั้งหมด 5 พื้นที่ กระจายอยู่ทั่วโลก Buettner ได้ทำการศึกษาประชากรในพื้นที่ และได้เคล็ดลับการมีชีวิตที่ยืนยาวที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือวิถีชีวิตของคนทั้ง 5 พื้นที่นี้ต่างให้ความสำคัญกับการมีเป้าหมายในชีวิต2

  1. เกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น มีหลักแนวคิดที่ควรปฏิบัติสำหรับคนทุกกลุ่มวัยไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ คือ หลักปรัชญา “อิคิไก” หรือการมีเป้าหมายในชีวิต ผู้สูงอายุในพื้นที่มักไม่มีการเกษียณอายุ เพราะคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวยังคงทำงานหรือกิจกรรมร่วมกับสังคมในชีวิตประจำวันเมื่อยามแก่ชรา
  2. เมืองอิคาเรีย ประเทศกรีซ มีแนวคิดหรือการตั้งเป้าหมายส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาสุขภาพ เช่น การเล่นเกมร่วมกันยามค่ำคืนเพื่อความบันเทิง รวมทั้งยังมีแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบ “Siga-siga” เป็นการใช้ชีวิตแบบช้า ๆ หรือใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์เพื่อลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาพ
  3. เมืองโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแนวคิดเกี่ยวกับการมีกิจกรรมในทุกวันของสัปดาห์เรียกว่า “Seventh-day Adventist” เป็นการตั้งเป้าหมายในการมีกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน เช่น การเดินระยะไกลเพื่อสร้างความสัมพันธ์กันและกัน
  4. เมืองซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี เป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้สำหรับคนในพื้นที่ที่เป็นใจความสำคัญของพื้นที่นี้ นั่นคือ การรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว เพื่อลดความเครียดและความซึมเศร้า และลดความเหงาเมื่อยามแก่ชรา
  5. เมืองนิโคยา ประเทศคอสตาริกา เป็นประเทศที่มีการกำหนดเป้าหมายในการใช้ชีวิตอย่างชัดเจน โดยผู้ที่อาศัยในพื้นที่นั้นมักมีแนวคิดที่เรียกว่า “Plan de Vida” ซึ่งสามารถแปลได้ว่า “เหตุผลของการมีชีวิต” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุชาวนิโคยาใช้ชีวิตอย่างแข็งขันและคิดบวกอยู่เสมอ  

เห็นได้ว่า การมีเป้าหมายในชีวิต เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในทุกแนวคิดหรือหลักการในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในช่วงยามแก่ชรา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด Active Ageing หรือพื้นที่สีน้ำเงิน (Blue Zone) มักจะมีการตั้งเป้าหมายหรือกำหนดเหตุผลในชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นเพียงเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เราตื่นนอนในแต่ละวันก็ถือว่าเป็นการมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว หากเราไม่มีเป้าหมายในชีวิต อาจทำให้ชีวิตของเราไม่มีจุดมุ่งหมายหรืออาจจะทำให้ชีวิตในช่วงบั้นปลายนั้นว่างเปล่าก็เป็นได้


อ้างอิง

  1. Wongsala, M., Anbäcken, EM. & Rosendahl, S. Active ageing – perspectives on health, participation, and security among older adults in northeastern Thailand – a qualitative study. BMC Geriatr 21, 41 (2021). https://doi.org/10.1186/s12877-020-01981-2
  2. Blue Zone Country: ผู้คนที่สุขภาพดีที่สุดในโลกอาศัยอยู่ที่ไหน. Seven Seas Worldwide [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 67] จาก: https://www.sevenseasworldwide.com/th-gb/need-help/blue-zone-countries/

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th