ในยุคที่สัตว์เลี้ยงเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น หลายคนเลือกจะใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์บวกกับได้รับการดูแลเอาใส่ใจเหมือนลูก (Pet Parent) ทำให้สัตว์เลี้ยงทุกวันนี้มีอายุยืนยาวขึ้นกว่าในอดีตและสามารถสูงวัยไปพร้อมกับผู้เป็นเจ้าของ ทว่าภาวะสูงวัยของสัตว์เลี้ยงก็มาพร้อมกับความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ อันจะทำให้เกิดโรคตามมามากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร โรคกระดูกและข้อ โรคตา รวมถึงโรคทางระบบประสาท1 สัตว์เลี้ยงในวัยชราจึงเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนไม่ต่างจากมนุษย์และด้วยอายุขัยที่สั้นกว่ามนุษย์ เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า สัตว์เลี้ยงไม่อาจอยู่เคียงข้างเจ้าของได้ตลอดไป
ผลการสำรวจผู้มีสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกาในปี 2021 จำนวน 400 คน พบว่า 68% ของผู้ตอบมองว่า การสูญเสียสัตว์เลี้ยงบางกรณีรับมือยากมากกว่าการสูญเสียสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน ขณะที่อีก 17% ระบุว่าความสูญเสียดังกล่าวเทียบเท่ากับการสูญเสียสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน นอกจากนี้ 90% ยังบอกว่า การสูญเสียสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในความสูญเสียที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผูกพัน การสูญเสียสัตว์เลี้ยงจึงก่อให้เกิดความเศร้าโศกอย่างมีนัยสำคัญ และระบบสนับสนุนทางสังคมสามารถมีบทบาทในการฟื้นตัวจากความสูญเสียนี้2
ในฐานะผู้อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงและเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับมิตรสหายรอบตัวผู้มีสัตว์เลี้ยงเป็นลูก หลายคนกังวลถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่แก่ชรา หวาดกลัวการเผชิญหน้ากับการตายและการสูญเสีย รวมถึงเป็นห่วงว่าหากวันหนึ่งตนเองต้องจากไปก่อน สัตว์เลี้ยงจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ดี น้อยคนจะคิดถึงการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าและการเตรียมตัวรับมือกับเรื่องดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าสัตว์เลี้ยงยังมีสุขภาพแข็งแรง หากป่วยหนักก็เพียงทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาเขาให้ดีที่สุดเท่านั้น ขณะที่บางคนเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียมาก่อนและมองว่าการรักษาแบบยื้อชีวิตอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือมีทางเลือกอื่นใดที่จะทำให้สัตว์ไม่ต้องจากไปอย่างทุกข์ทรมานและสร้างความเจ็บปวดให้ผู้เป็นเจ้าของ
ปัจจุบันการตายดีของสัตว์เลี้ยงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากคนมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงอย่างลึกซึ้ง ทำให้เกิดความต้องการจัดการชีวิตวาระท้ายของสัตว์เลี้ยงให้มีคุณค่าและปราศจากความเจ็บปวด แนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณาคือ Palliative Care for Pets หรือการดูแลแบบประคับประคองในสัตว์เลี้ยง ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วยระยะท้ายแทนที่การพยุงชีพให้ยืนยาวที่สุด การดูแลแบบประคับประคองในสัตว์เลี้ยงมีหลายรูปแบบ หลักการคือการวินิจฉัยที่ละเอียดรอบคอบเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ ของสัตว์เลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเจ็บปวด เพื่อเพิ่มความสบายทางกายและใจ ไปจนถึงการ Put to Sleep หรือการุณยฆาตเพื่อให้สัตว์เลี้ยงหลุดพ้นจากความทรมานเมื่ออยู่ในสภาวะที่การรักษาทางการแพทย์ไม่อาจช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกต่อไป โดยแนวคิดนี้มองว่า การอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อยื้อชีวิต นอกจากจะไม่สามารถทำให้สัตว์กลับมาเป็นปกติ ยังนำมาสู่ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เจ้าของก็รู้สึกเป็นทุกข์ที่ต้องเห็นสัตว์เลี้ยงเจ็บปวดทรมานโดยไม่สามารถช่วยเหลือได้ ขณะเดียวกันก็สูญเสียโอกาสสำคัญที่จะใช้เวลาช่วงสุดท้ายร่วมกันเพื่อสร้างการจากลาอย่างมีคุณค่า3
ใน workshop การดูแลประคับประคองในสัตว์เลี้ยง จัดโดย Pet SOULciety ชุมชนผู้สนับสนุนการดูแลสัตว์เลี้ยงแบบองค์รวมและขับเคลื่อนแนวคิด Palliative Care for Pets ในประเทศไทย สพ.ญ. วิลาสินี ภุมรินทร์ สัตวแพทย์ด้านการดูแลประคับประคอง จากโรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท อธิบายว่า การดูแลแบบประคับประคองในสัตว์เลี้ยงมีหลักการคล้ายกับคน ที่ต้องมีการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณไปพร้อมกัน โดยสัตว์ที่เหมาะกับการดูแลลักษณะนี้ ได้แก่ สัตว์ที่เข้าสู่การป่วยระยะสุดท้ายของโรคที่รักษาไม่หายขาดและสัตว์อายุมากที่มีความเสื่อมของร่างกายจากกลุ่มโรคชรา ปัจจุบันการดูแลแบบประคับประคองสามารถทำได้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาลสัตว์ โดยเริ่มต้นจาก 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) สัตว์เลี้ยงต้องได้รับการตรวจอาการและวินิจฉัยโรคขั้นต้นแล้ว 2) เจ้าของเข้าใจภาวะอาการหรือโรคและรับทราบทางเลือกในการดูแลรักษา 3) เจ้าของสัตว์เข้าใจหลักการและผลที่ได้รับจากการดูแลแบบประคับประคอง และ 4) สัตว์เลี้ยงและเจ้าของ “พร้อม” จะรับการดูแลแบบประคับประคอง4
ทั้งนี้ การดูแลแบบประคับประคองเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลสัตว์ป่วยระยะท้ายและเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างเจ้าของกับสัตวแพทย์ภายใต้การประเมินข้อมูลและสถานการณ์อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะขั้นการทำการุณยฆาตที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีประเด็นด้านจริยธรรมมาเกี่ยวข้อง ในมุมของคนเลี้ยงสัตว์ที่ผูกพันกันมาและความเชื่อทางศาสนา การตัดสินใจเลือกจบชีวิตสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนสัตวแพทย์ ในฐานะผู้ร่วมตัดสินใจ ให้ข้อมูล และลงมือกระทำก็อาจมีความเห็นแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้นำเสนอให้ใช้วิธีการนี้แต่แรก แต่ต้องพิจารณาจากสถานการณ์การรักษา ณ ขณะนั้นเป็นตัวบ่งบอกว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร สำคัญที่สุดคือ เจ้าของต้องเป็นคนตัดสินใจ “เลือก” แทนสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราเมื่ออยู่ในภาวะต้องตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้เท่าหัวใจของเจ้าของเอง5
ทุกวันนี้หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Living Will หรือ "พินัยกรรมชีวิต" เอกสารที่บุคคลทำขึ้นเพื่อบอกความต้องการเกี่ยวกับการดูแลทางการแพทย์ในกรณีที่ไม่สามารถสื่อสารหรือตัดสินใจได้เองเนื่องจากอาการป่วยหรือภาวะฉุกเฉิน ยุคที่ความเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงมีความซับซ้อนและมีทางเลือกการรักษาหลากหลาย Living Will ของสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์แนะนำให้บรรดา Pet Parent ควรพิจารณา เพื่อช่วยให้เจ้าของระบุแนวทางการรักษาในกรณีฉุกเฉินได้อย่างชัดเจน เช่น การทำ CPR การใช้เครื่องช่วยหายใจ และวงเงินค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและปลอดภัยในกรณีเจ้าของไม่สามารถอยู่ดูแลเองหรือติดต่อไม่ได้ การเขียน Living Will นั้นเจ้าของสามารถออกแบบได้เองตามที่อยากให้สัตว์เลี้ยงได้รับการดูแล โดยมีองค์ประกอบหลัก เช่น 1) ข้อมูลเบื้องต้นของเจ้าของสัตว์เลี้ยง 2) ข้อมูลสัตว์เลี้ยง 3) รายละเอียดสัตวแพทย์ 4) การอนุญาตสำหรับการรักษาและวงเงิน 5) การจัดการกรณีที่การรักษาไม่ประสบผล 6) การจัดการหลังความตาย เช่น พิธีศพและการจัดการร่าง 7) ข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่นๆ และ 8) การลงนามและเก็บเอกสาร โดยควรเก็บเอกสารไว้ในสถานที่ปลอดภัย เช่น ไฟล์ส่วนตัวของเจ้าของ คนสนิทที่ไว้ใจ และเวชระเบียนของโรงพยาบาลสัตว์ที่รับการรักษาเป็นประจำ6
อันที่จริงแล้ว Living Will สำหรับสัตว์เลี้ยงมีหลักการคล้ายกับของคน จุดแตกต่างคือ สัตว์เลี้ยงผู้เป็นเจ้าของชีวิตมิได้ตัดสินใจและสื่อสารความต้องการออกมาโดยตรง แน่นอนว่าเจ้าของย่อมรู้จักนิสัยใจคอของสัตว์เลี้ยงดีที่สุด เพียงแต่บางครั้งอาจลืมคิดไปว่า เมื่อชีวิตวาระท้ายของพวกเขามาถึง สิ่งที่สัตว์เลี้ยงของเราต้องการอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของบางคนมีความกังวลที่จะนำสัตว์ป่วยระยะท้ายกลับมาดูแลที่บ้าน ด้วยเกรงว่าหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจะรับมือไม่ได้ หรือทำใจได้ยากกับการเห็นสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตที่บ้านต่อหน้าต่อตา แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง สำหรับสัตว์เลี้ยงแล้ว บ้านที่อยู่และเติบโตมาอาจเป็นสถานที่ที่เขาอยากใช้ชีวิตวาระท้ายมากที่สุด เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมคุ้นเคยทั้งแสง สี เสียง กลิ่น และสัมผัส รวมถึงได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่รักมากที่สุด นั่นคือเจ้าของ ดังนั้น การกลับไปทบทวนความสัมพันธ์และความทรงจำร่วมกันว่า สัตว์เลี้ยงของเราชอบ ไม่ชอบอะไร คุ้นเคยกับชีวิตแบบไหน ย่อมทำให้การออกแบบชีวิตวาระท้ายเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
“Pet Friendship สมุดฝากรักสัตว์เลี้ยง” (รูป 1) เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับมาจากการร่วมกิจกรรมของ Pet SOULciety ความน่าสนใจของสมุดบันทึกเล่มนี้ คือ การเป็นเครื่องมือวางแผนชีวิตวาระท้ายของสัตว์เลี้ยงอย่างรอบด้าน ส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็น Living Will แจ้งแผนการดูแลสุขภาพล่วงหน้าของสัตว์เลี้ยง อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวช่วยทบทวนความสัมพันธ์ผ่านบันทึกเรื่องราว ความรัก ความผูกพัน ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะนำพาให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์เลี้ยงตลอดเส้นทางที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมา สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าเรื่องราวของคนกับสัตว์ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นบันทึกข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกแนวทางดูแลและจัดการชีวิตวาระท้ายของสัตว์เลี้ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของทั้งสัตว์เลี้ยงและผู้เป็นเจ้าของ ขณะเดียวกัน เป็นการวางแผนเพื่อการจากลาไปในตัว หากเกิดเหตุไม่คาดคิดที่เจ้าของต้องจากไปก่อน เพราะมีพื้นที่ให้แสดงเจตจำนงการฝากรัก ฝากเลี้ยง ให้กับผู้ดูแลคนต่อไป สมุดเล่มนี้จึงช่วยให้ผู้เลี้ยงคนใหม่เข้าใจนิสัยใจคอ ความต้องการ และตัวตนของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การดูแลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นเจ้าของเดิม แม้เราจะไม่อยู่กับสัตว์เลี้ยงในวันสุดท้ายแล้วก็ตาม
รูป 1 สมุดฝากรักสัตว์เลี้ยง: ตัวช่วยวางแผนชีวิตวาระท้ายสัตว์เลี้ยงอย่างรอบด้าน
ภาพโดย ผู้เขียน
โดยทั่วไปเมื่อมีการพูดถึงสังคมสูงวัยกับสัตว์เลี้ยง เรามักจะมองไปที่ภาวะสูงวัยของมนุษย์เป็นหลักและแสวงหาแนวทางให้คนสามารถสูงวัยไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยงอย่างมีคุณภาพ ทว่าในความเป็นจริงสัตว์เลี้ยงก็มีภาวะสูงวัยและต้องการดูแลชีวิตวาระท้ายที่ดีไม่ต่างกัน การเตรียมตัวและวางแผนสำหรับช่วงเวลาสุดท้ายของสัตว์เลี้ยงจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการดูแลทางการแพทย์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นการมอบความรักและคุณค่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงสมบูรณ์ในทุกมิติ ดังที่คุณปิญชาดา ผ่องนพคุณ นักวางแผนการตายจาก Baojai Family และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Pet SOULciety กล่าวอยู่เสมอตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมว่า แม้สัตว์จะพูดไม่ได้ แต่เมื่อเจ้าของใช้เวลาอันมีอยู่อย่างจำกัดกับพวกเขาด้วยความรัก ความผูกพัน และรับรู้ถึงคุณค่าในสายสัมพันธ์ระหว่างกัน ย่อมทำให้ชีวิตของสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งมีคุณภาพชีวิตวาระท้ายที่ดี สิ่งสำคัญคือการอยู่กับปัจจุบัน ดูแลกันในวันนี้อย่างหมดจดและงดงามที่สุด เมื่อวันแห่งการจากลามาถึงก็จะเป็นเพียงวาระที่มีแต่ความเสียใจ แต่ไม่มีความรู้สึกเสียดาย หรือมีความรู้สึกผิดติดค้างในใจ
เอกสารอ้างอิง