The Prachakorn

มองโลกในแง่ดีในวันสงกรานต์ 2561


ปราโมทย์ ประสาทกุล

13 มิถุนายน 2561
304



สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ที่ผม(ยัง)ทำงานอยู่ จัดงานฉลองวันสงกรานต์เช่นทุกปีที่ผ่านมา ในช่วงเช้ามีพิธีรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ มีงานเลี้ยงอาหารกลางวันตอนเที่ยง และมีกิจกรรมสันทนาการในช่วงบ่ายไม่อยากจะเชื่อว่าปีนี้ผมเป็น “ผู้ใหญ่” นั่งเป็นลำดับที่สองเมื่อเรียงตามวัย เรานั่งอยู่บนเวทียกพื้นสูง เมื่อมองลงไปเห็น “เพื่อนร่วมงาน” รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน เกือบร้อยคน เข้าแถวทยอยกันขึ้นมารดน้ำขอพรจากพวกเรา

เมื่อประเพณีกำหนดบทบาทให้เราต้องเป็นผู้ให้พร เราก็ต้องสรรหาพรมาอวยให้ผู้ที่มารดน้ำแต่ละคน “ขอให้..(ชื่อ..ถ้าจำได้) มีความสุขทั้งกายและใจ...ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บไม่ไข้...ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานและครอบครัว...คิดหวังสิ่งใด ก็ขอให้สมปรารถนา...นะครับ”

 เป็น “ผู้สูงอายุ” เต็มตัวแล้วสิเรา !!!

การมานั่งเป็นผู้ใหญ่ยื่นสองมือรอให้ผู้น้อยรดน้ำแล้วกล่าวให้พร โดยเฉพาะได้ที่นั่งในลำดับต้นๆ เมื่อเรียงตามวัย เช่นนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ผมคิดอยู่เสมอว่าความเป็นผู้สูงอายุของคนเราจะถูก กำหนดโดย “สังขาร” “สังคม” และ “จิตใจหรือความรู้สึกของตัวเอง”

คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้นจนเลยวัยกลางคนแล้ว สมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็จะถดถอยลง กิจกรรมที่เคยทำได้คล่องแคล่วเมื่อยังหนุ่มสาวก็อาจเฉื่อยช้าลงบ้างเมื่ออายุมากขึ้น ผมต้องเตือนสติตัวเองอยู่บ่อยๆ ให้เจียมสังขารเราอายุมากแล้ว จะโลดโผนโจนทะยานอย่างเด็กๆ ไม่ได้ ความคล่องตัว การทรงตัว และการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ อาจไม่ว่องไวดังใจคิด สังขารที่เสื่อมถอยลงเป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักว่าเราก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้สูงอายุแล้ว

สังคมจะกำหนดบทบาทของผู้สูงอายุไว้เป็นบรรทัดฐาน เมื่อเราอายุมากขึ้น สถานะทางสังคมของเราก็เปลี่ยนไปด้วย  จากที่เคยเป็นเด็กๆ เป็นวัยรุ่น เมื่ออายุยังน้อย ก็กลายเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้อาวุโส เป็นผู้สูงอายุที่คนอายุน้อยๆ ให้ความเกรงใจ ผมต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้สมที่เป็นผู้ใหญ่ อย่าทำตัวให้คนเขานินทาว่าเป็นเฒ่าหัวงู เฒ่าเจ้าเล่ห์ เฒ่าทารก ฯลฯ ธรรมะที่ผู้สูงอายุพึงมีไว้เป็นหลักกำกับความประพฤติของตน คือ พรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา (ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข) กรุณา (คิดช่วยเขาให้ พ้นทุกข์) มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และมีจิตผ่องใสเบิกบานอยู่เสมอ) อุเบกขา (วางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ด้วยรักและชัง)

จิตใจและความรู้สึกของเรามีส่วนกำหนดความเป็นผู้สูงอายุมาถึงวันนี้ ผมเป็น “ผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์แล้วตามนิยามในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และอยู่ใน “วัยชรา” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 แต่ใจของผมยังไม่รู้สึกว่าตัวเอง “แก่” คงเป็นไปดังวลีที่ว่า “สูงวัย แต่(ใจ) ไม่แก่” หรือ “อายุเป็นเพียงตัวเลข” นั่นแหละครับ

ผมคอยสังเกตตัวเองว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น จิตใจของเราเปลี่ยนไปอย่างไร แน่นอนว่าความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของเราย่อมเปลี่ยนไปบ้างตามประสบการณ์ชีวิตที่สะสมเพิ่มพูนมากขึ้น แต่บางครั้ง ผมก็ต้องเตือนตัวเองว่าอายุมากถึง ปูนนี้แล้ว  ควรรู้จักหักห้ามใจและควบคุมอารมณ์ เมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ไม่ควรตัดสินใจกระทำการใดๆ อย่างหุนหันพลันแล่น ผมกำลังเตือนตัวเองว่าผู้สูงอายุต้องครองสติให้ได้ตลอดเวลา ขอเพียงว่าอย่าให้คลื่นสมองของผม เสื่อมลงจนไม่มีสติจะให้ครองก็แล้วกัน

ประเทศไทยจะรับมือกับสังคมสูงวัยในอนาคตอย่างไร

ขณะที่นั่งอยู่บนเวที ผมคะเนว่าประมาณครึ่งหนึ่งของน้องๆ ชาวสถาบันฯ ที่กำลังต่อแถวรอรดน้ำอยู่ขณะนี้อายุยังไม่ถึง 40 ปี หมายความว่าพวกเขายังไม่เกิดเมื่อผมเข้ามาเริ่มทำงานในสถาบันฯ แห่งนี้ ผมมองเห็นภาพระลอกคลื่นของคนรุ่นใหม่ที่ทยอยหนุนเนื่องกันเข้ามา ในขณะที่คนรุ่นเก่าอย่างผมก็ทยอยจากไป และกลายเป็นผู้สูงอายุ

ผมนึกถึงประเทศไทย “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2506 ถึง 2526 ซึ่งเป็นคลื่นยักษ์ประชากร กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่ชัา คาดประมาณว่าในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 20% เมื่อถึงเวลานั้น คนที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีก็จะมีจำนวนมากกว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

มีข้อกังวลว่าประเทศไทยจะรับมือกับ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ไหวหรือเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทั้งของแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน และรัฐ เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ ให้เพียงพอต่อการยังชีพ การดูแลรักษา พยาบาล และการอยู่อาศัยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ถ้าเรามองโลกในแง่ดี ... เราก็อาจไม่ต้องกังวลใจมากนักที่ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด แม้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่าง “พลิกโลก” ก็ตาม ในมุมมองด้านที่ดี คนไทยจะมีการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ให้อยู่รอดได้ในสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กในอนาคตอันใกล้นี้

ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองเห็นชัดเจนว่าโครงสร้างอายุของประชากรจะเป็นเช่นไรในอีกไม่นาน บวกกับความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่จะปรับพฤติกรรมของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเมื่อเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า

คนรุ่นใหม่จะระมัดระวังในการกินอาหารมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่จะนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บในวันหน้า คนรุ่นใหม่จะใส่ใจในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น คนไทยจะกินอาหารหวาน อาหารเค็ม และอาหารที่มีไขมันสูงน้อยลง รัฐอาจมีกฎหมายควบคุมส่วนประกอบของอาหารในตลาด

เทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์และสาธารณสุขจะพัฒนาก้าวหน้าขึ้น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะลดน้อยลง และโรคหลายชนิดที่ยากจะรักษาในวันนี้ก็จะมีวิธีการรักษาให้หายได้ในวันหน้า คนรุ่นใหม่จะมีชีวิตที่มีสุขภาพดียืนยาวขึ้น ซึ่งเท่ากับจะมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาหรือเป็นภาระกับคนอื่นสั้นลง

คนรุ่นใหม่จะถือเอาการออกกำ.ลังกายเป็นเรื่องสำคัญ คนรุ่นใหม่จะตระหนักว่าการออกกำลังกายจะช่วยส่งเสริม สุขภาพและช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อหลายชนิด เป็นต้นว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคซึมเศร้า พวกเขาจะตระหนักว่าการออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอจะช่วยให้พวกเขาเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีต่อไปในวันหน้า

คนรุ่นใหม่จะวางแผนชีวิตของตนเองเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่พอมีพอกินเมื่อออกจากวัยทำงานในอนาคต พวกเขาจะเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย พวกเขาจะวางแผนตั้งแต่การเลือกเรียนสายวิชาการและวิชาชีพ พวกเขาจะเปลี่ยนนิสัยเป็นคนมีวินัยทางการเงิน รู้จักเก็บออมและมัธยัสถ์ และพวกเขาจะรักษาสุขภาพเพื่อจะได้ทำงานต่อไปให้นานที่สุด โดยไม่มีอายุเกษียณ ทั้งนี้ สังคมจะเปิดโอกาสให้คนทำงานได้ยาวนานขึ้น และรัฐจะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุและเปิดช่องทางในการออมสำหรับเป็นรายได้เพื่อการยังชีพในวัยสูงอายุ

คนรุ่นใหม่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการมีชีวิตอยู่ คือต้องการมีชีวิตอยู่อย่างมีอิสระและไม่เป็นภาระ คนรุ่นใหม่จะไม่กลัวความตาย เมื่อถึงวาระที่ต้องตาย ก็จะขอตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ไม่ทุกข์ทรมาน และไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตไว้

การปรับตัวในเรื่องที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมต่างๆ

ขณะนี้สังคมไทยกำลังปรับสภาพไปตามการเปลี่ยนโครงสร้างอายุของประชากรที่มีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อไปการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การวางผังเมือง การออกแบบการขนส่งคมนาคม อาคารสถานที่สาธารณะ จะนำเอาประเด็นเรื่องการสูงวัยของประชากรมาพิจารณาร่วมด้วยทั้งสิ้น

คนรุ่นใหม่จะสร้างที่อยู่อาศัยจะคิดเผื่อสำหรับตนเองเมื่อมีอายุสูงขึ้น ทั้งประตูทางเข้าทางออก พื้นบ้าน ห้องนอน ห้องน้ำของบ้านที่จะสร้างขึ้นใหม่และบ้านเก่าที่จะปรับปรุงต่อเติม จะสะดวกต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

ถนนหนทาง สถานีขนส่งคมนาคม ยานพาหนะสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า อาคารสถานที่สาธารณะ เช่นโรงพยาบาล สวนสาธารณะ จุดพักรถ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า จะออกแบบมาเพื่อความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ

ทุกวันนี้มีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยในการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะ เป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์ช่วยผ่อนแรงผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง เครื่องมือเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ดูแล แอพพลิเคชันต่างๆ ที่ช่วยผู้สูงอายุหาความรู้ ความบันเทิง และติดต่อทางโซเชียลมีเดีย ในอนาคตจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าคนไทยไม่ปรับตัว ... อะไรจะเกิดขึ้น

ผมลองตั้งคำถามง่ายๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้น.. ถ้าคนไทยไม่ปรับตัว หรือปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงครั้งนี้ เช่น คนไทยยังขาดวินัยในการกิน การออม และการใช้ชีวิต คนไทยยังไม่นิยมออกกำลังกาย บ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ การคมนาคม ขนส่ง ถนนหนทางยังเป็นแบบเดิม...อะไรจะเกิดขึ้น

ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก เช่น เบาหวาน โรคความดันเลือด โรคหัวใจ สมองเสื่อม ฯลฯ จะเกิดความยากจนในกลุ่มประชากรสูงอายุ ผู้คนจะมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต คนหนุ่มสาวและคนในวัยแรงงานจะมีภาระหนักมากในการดูแลผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายเพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ ทั้งเบี้ยยังชีพ และค่ารักษาพยาบาล จะเป็นภาระหนักอย่างยิ่งของครอบครัวและของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองโลกในแง่ดี คนไทยกำลังปรับตัวเพื่อรองรับ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ในขณะนี้


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th