The Prachakorn

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?


สาสินี เทพสุวรรณ์

23 กันยายน 2562
333



จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 ความว่า “คนไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย จิตใจไม่สบาย ร่างกายไม่แข็งแรง” ทำให้หลายหน่วยงานต้องหันมาให้ความสนใจในการจัดทำฟันปลอมให้กับผู้สูงอายุ1  ซึ่งส่วนใหญ่ประสบกับภาวะการเสื่อมถอยของร่างกายรวมถึงสภาวะภายในช่องปาก โดยองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพภายในช่องปากของผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของ Active Aging หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “พฤฒพลัง” หมายถึง ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการดำเนินชีวิต2  ซึ่งจากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการสูญเสียฟันจะทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอและทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ3 

จากการกำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้สูงอายุต้องมีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ และมีฟันหลังใช้เคี้ยวอย่างน้อย 4 คู่สบ คือ การมีฟันกรามหลังบนล่างและซ้ายขวาที่สบกันอย่างน้อย 4 คู่ขึ้นไป ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก4  และจากรายงานสำรวจสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประเทศ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2555 พบว่า ผู้สูงอายุที่มีจำนวนฟันไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด กลับมีความต้องการใส่ฟันเทียมลดลงจากร้อยละ 4.1 ในการสำรวจครั้งที่ 6 เหลือเพียงร้อยละ 2.5 ในการสำรวจครั้งที่ 75  นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยยังขาดความตระหนักในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวอาหารที่ดีขึ้น6  แต่ในบางการศึกษากลับพบว่า การใส่ฟันเทียมส่งผลต่อการบาดเจ็บภายในช่องปากและทำให้ผู้สูงอายุมีอาการเจ็บปวดขณะรับประทานอาหาร7  ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่อยากใส่ฟันปลอม

Image by rawpixel from Pixabay

ใน พ.ศ. 2561 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่ได้ใส่ฟันปลอมจะมีร้อยละของการกินผัก กินผลไม้ และกินทั้งผักและผลไม้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมเล็กน้อย นั่นแสดงให้เห็นว่า การใส่ฟันปลอมทำให้ผู้สูงอายุได้กินอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างผักและผลไม้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอม 

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมยังประสบกับปัญหาการมีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (body mass index) น้อยกว่าปกติมากกว่าผู้ที่ใส่ฟันปลอม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการบดเคี้ยวอาหารจากการสูญเสียฟันมีโอกาสเกิดสภาวะที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาสูญเสียฟัน8 

ปัญหาการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุยังส่งผลกระทบต่อเนื่องจนทำให้เกิดโรคได้มากมาย รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญของประชาชนทุกกลุ่มวัย และผู้เขียนอยากให้ผู้สูงอายุรวมทั้งลูกหลานที่มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย ที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพฟัน หันมาให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพฟันของท่าน และรีบไปรักษาฟันกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใส่ฟันปลอม แต่หากผู้สูงอายุท่านใดได้รับความเจ็บปวดจากการใส่ฟันปลอม ก็อยากให้รีบกลับไปปรึกษาทันตแพทย์และทำตามคำแนะนำที่ได้ เพราะการใส่ฟันปลอมจะช่วยในการบดเคี้ยวอาหารที่ดีขึ้น ทำให้เราได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ลดการเป็นโรค และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ที่มา: วิเคราะห์จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย พ.ศ.2561

ที่มา: วิเคราะห์จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย พ.ศ.2561

*ค่า BMI หรือดัชนีมวลกาย (body mass index) เป็นการคำนวณจากน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยมีการแบ่งเกณฑ์สากลตามองค์การอนามัยโลก
 


ภาพปกโดย Image by rawpixel from Pixabay

อ้างอิง

  1. Bureau of Dental Health. 2007. Royal Denture Projects and Elderly Dental Health Promotion. Retrieved October 20, 2016 from http://dental.anamai.mpoh.go.th/elderly/project.php. (in Thai)
  2. World Health Organization. 2017. Oral Health. Cited February 11, 2017). Available from: http://www/who.int/oral_health/action/groups/en/index1.html
  3. McMillan AS, Wong MC. 2004. Emotional effects of tooth loss in community-dwelling elderly people in Hong Kong. The International Journal of Prosthodontics. 
  4. กรมอนามัย. 2551. คู่มือการดำเนินงานโครงการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากผู้สูงอายุ ตามชุดสิทธิประโบชน์ทางทันตกรรม. กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ.
  5. กรมอนามัย. 2555. รายงานผลการสำรวจทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ประเทศไทย. กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ.
  6. ศูนย์ทันตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน. 2555. สรุปรายงานประจำปี.
  7. ชัยรัตน์ ทับทอง. 2558. การประเมินความพึงพอใจและผลกระทบของฟันเทียมต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา. วิทยาสารทันตสาธารณสุข. ปีที่ 20 ฉบับที่ 2.
  8. นิมิตร เตชะวัชรีกุล. 2551. สุขภาพช่องปากที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุในโครงการฟันเทียมพระราชทานของโรงพยาบาลสารภี จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th