The Prachakorn

ลักษณะอำนาจที่ภาคธุรกิจใช้ เพื่อส่งผลต่อนโยบายควบคุมการทำการตลาดอาหารในประเทศไทย


สิรินทร์ยา พูลเกิด

01 กุมภาพันธ์ 2566
316



การจำกัดหรือควบคุมการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีประสิทธิผลต่อการช่วยลดการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของประชากร และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคตได้ ภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายอาหารและโภชนาการนี้ ผ่านบทบาทการผลิต ขาย ทำการตลาด และให้บริการด้านอาหารแก่ผู้บริโภค ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงอิทธิพลของภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และสื่อโฆษณา จะช่วยให้ภาครัฐกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมการตลาดอาหารได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

บทความนี้ได้นำเสนอผลการศึกษาจากโครงการวิจัย Governing harmful commodities: the case of ultra-processed foods in the Asia Pacific region มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะอำนาจ (power) ที่ภาคธุรกิจใช้ เพื่อไปมีอิทธิพลต่อการควบคุมการตลาดอาหารของประเทศไทย โดยเน้นศึกษาอำนาจเชิงโครงสร้าง (structural) เครื่องมือที่ใช้ (instrumental) และวาทกรรม (discursive) เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยจากภาครัฐ วิชาการ ประชาสังคม และธุรกิจ รวม 20 คน

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงลักษณะอำนาจที่อยู่ในมือภาคธุรกิจ ทั้งอำนาจเชิงโครงสร้างจากการมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจประเทศและจากการวางตำแหน่งของภาคธุรกิจไว้ในลักษณะให้เอกสิทธิ์หรือจุดได้เปรียบมากกว่ากลุ่มอื่นในสังคม อำนาจจากการให้เงินทุน สนับสนุน การทำแคมเปญ และการล๊อบบี้ และอำนาจทางวาทกรรมจาก การนำเสนอที่เน้นความรับผิดชอบด้านอาหารและสุขภาพเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคมากกว่าของบริษัทอาหาร นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงข้อถกเถียงและกระบวนการเชิงสถาบันที่ได้ส่งเสริมและเพิ่มความสามารถของภาคธุรกิจให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางนโยบายอาหารและโภชนาการ ต่อความคิดเห็นสาธารณะ และสภาพแวดล้อมทางทางนโยบาย มากยิ่งขึ้น

บทความนี้ในท้ายสุดสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการมีโครงสร้างบริหารจัดการทางนโยบาย (governance structure) เพื่อบริหารจัดการอำนาจของภาคธุรกิจ รวมถึงความสำคัญในการมีกลไกติดตามและบังคับใช้นโยบายที่เข้มแข็งและครอบคลุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยตามเป้าหมายที่วางไว้


ที่มา:

Phulkerd S, Collin J, Ngqangashe Y, et al. How commercial actors used different types of power to influence policy on restricting food marketing: a qualitative study with policy actors in Thailand. BMJ Open 2022;12:e063539.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th