The Prachakorn

ความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยในช่วงก่อนและระหว่างการเกิดวิกฤตโควิด-19


สาสินี เทพสุวรรณ์

06 พฤศจิกายน 2566
237



การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งทางบวกและทางลบ มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นผลในเชิงบวก เช่น โอกาสในการกระชับความสัมพันธ์กับครอบครัว การได้ทำงานอดิเรกที่สนใจ หรือแม้กระทั่งช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม แต่ในทางกลับกันการระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบในเชิงลบทั้งทางกายและทางจิตใจต่อชีวิตของผู้คนมากมายเช่นเดียวกัน ในส่วนของผลทางจิตใจ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อความวิตกกังวล ความทุกข์ ความซึมเศร้า ความโกรธ และความกลัว ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความพึงพอใจในชีวิต

ในประเทศไทย การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 และแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ในขณะนั้นรัฐบาลออกมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโรค เช่น การปิดพรมแดนประเทศ การปิดสถานประกอบการ การปิดโรงเรียน และการมีเคอร์ฟิวในตอนกลางคืน ซึ่งการมีข้อจำกัดดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองจากการต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เช่น work from home หรือต้องอยู่แต่ในบ้าน และที่สำคัญ เกิดผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสุขภาพที่เปลี่ยนไปด้วย

จากบทความเรื่อง “Life Satisfaction Before and During COVID-19 Pandemic in Thailand” ซึ่งเป็นบทความที่ได้นำเอาข้อมูลจากโครงการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยในรอบปี 2562 (ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19) และปี 2564 (ระหว่างการระบาดโควิด-19) มาใช้ในการศึกษา ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 3,115 คน เพื่อนำมาใช้ศึกษาความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยในช่วงก่อนและระหว่างการระบาดของโควิด-19 กับความสัมพันธ์ทางพฤติกรรมสุขภาพและการบริโภคอาหาร ผลการศึกษาพบว่า ระดับคะแนนความพึงพอใจในชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 25.5 คะแนน เป็น 22.4 คะแนน หรือลดลง 3.1 คะแนน (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ระดับคะแนนความพึงพอใจในชีวิต 5-35 คะแนน

นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพกับความพึงพอใจในชีวิต ผู้ที่ยังรักษาวิถีชีวิตที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การได้ออกกำลังกาย และการบริโภคผักและผลไม้ในระดับเพียงพอ จะเป็นกลุ่มที่มีระดับความพึงพอใจในชีวิตอยู่ โดยบุคคลใดที่ยังคงรักษาพฤติกรรมการออกกำลังกายของตนเองได้อย่างสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตลดลงน้อยที่สุด (เปลี่ยนแปลงลดลง 2.1 คะแนน) ในขณะที่บุคคลที่เคยออกกำลังกายเพียงพอแต่กลับไม่ได้ออกกำลังกายหลังจากเกิดการระบาดจะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตลดลงมากที่สุด (เปลี่ยนแปลงลดลง 3.7 คะแนน) เช่นเดียวกับการได้บริโภคผักและผลไม้ในระดับเพียงพอ พบว่า บุคคลที่มีพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้เพียงพอมาก่อนจนถึงในช่วงระหว่างเกิดการระบาดของโควิด-19 จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตลดลงน้อยที่สุด (เปลี่ยนแปลงลดลง 2.4 คะแนน) ในขณะที่บุคคลที่เคยได้กินผักและผลไม้เพียงพอมาก่อนการระบาด แต่กลับกินได้ไม่เพียงพอในช่วงของการระบาดจะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตลดลงมากที่สุด (เปลี่ยนแปลงลดลง 3.8 คะแนน) (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในชีวิตจำแนกตามพฤติกรรมทางสุขภาพ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้กล่าวถึงความท้าทายสำคัญในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งก็คือการดูแลรักษาสุขภาพระหว่างการกักตัวอยู่ที่บ้าน เช่น การดูแลอาหารที่กิน น้ำที่ดื่ม และการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อเป็นการป้องกันและช่วยฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงความพยายามของทางภาครัฐ ในการช่วยดูแลรักษาระดับการมีสุขภาพดีของคนไทยในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมสุขภาพและการบริโภคอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะและสมดุล การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเป็นการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด-19

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากการออกกำลังกายไม่เพียงพอ และการบริโภคผักและผลไม้ลดลง ส่งผลเสียต่อระดับความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย การเกิดโรคระบาดส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนไทย และการที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนเมื่อต้องรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยเกิดการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด


แหล่งข้อมูล

  • Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Soottipong Gray, R., Chamratrithirong, A., Pattaravanich, U., Ungchusak, C., & Saonuam, P. (2023). Life Satisfaction Before and During COVID-19 Pandemic in Thailand. International Journal of Public Health, 68, 1605483.

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th