The Prachakorn

โลก ปี 2567 ยังวิกฤต ....... เพราะเล่นผิดกติกา


อมรา สุนทรธาดา

20 กุมภาพันธ์ 2567
303



ความขัดแย้งที่หยุดโลกในรอบปีที่ผ่านมาและอาจมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องของสงครามการสู้รบระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลบริเวณฉนวนกาซา และการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีรูปแบบเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ต้องติดตามในช่วงปี 2567

สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เปิดฉากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 อิสราเอลใช้ขีปนาวุธอัจฉริยะโจมตีเป้าหมายแบบไม่ยั้ง โดยไม่คำนึงถึงจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในขณะที่กองกำลังกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์รบแบบสงครามกองโจร ซุ่มโจมตีผ่านอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้เปรียบกว่ากองทัพอิสราเอลที่รบแบบเปิดหน้าด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดศึกอิสราเอลทิ้งระเบิดฉนวนกาซากว่า 20,000 ลูก มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และย้ายเข้าสู่ค่ายผู้อพยพ จำนวนมาก สงครามครั้งนี้เข้าข่ายสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ประชาคมโลกประณาม มีสงครามนอกรูปแบบที่มีกองกำลังติดอาวุธต่อต้านฝ่ายรัฐบาล ยากที่จะคาดเดาว่าจะมีจุดจบเมื่อไร สิ้นสุดลงเมื่อไร และความเสียหายหรือผลกระทบ เช่น ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีจำนวนมากแค่ไหน สงครามครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิและชีวิตพลเรือนนับแสนคน

การเปิดฉากสงคราม การสู้รบด้วยอาวุธทำลายล้างสูง มีผลให้พลเรือนจำนวนนับล้านต้องพลัดถิ่นเพื่อไปอาศัยชั่วคราวในค่ายผู้อพยพ มีผู้เสียชีวิต 21,978 คน และผู้บาดเจ็บ 56,697 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และไม่มีข้อมูลยืนยันสำหรับจำนวนผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน องค์การอนามัยโลกห่วงใยเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่จะขยายตัวเร็วกว่าปกติในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ขาดน้ำดื่ม และอาหารไม่เพียงพอ

ความขัดแย้งไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่ที่ปาเลสไตน์กับอิสราเอลเท่านั้น การถูกดักซุ่มโจมตีของประเทศที่ต้องใช้เส้นทางการค้าทางทะเลที่เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียผ่านทะเลแดงที่มุ่งหน้าสู่อิสราเอล โดยกองกำลังฮูติที่มีฐานปฏิบัติการที่เยเมน เนื่องจากระแวงว่าจะมีการขนส่งอาวุธแทรกไปกับสินค้า ส่งผลให้เรือพาณิชย์อื่นๆ ที่ไม่ต้องการเสี่ยงภัยหรือไม่ต้องการจ่ายค่าประกันภัยที่สูงมากกว่าเดิมหลายเท่า ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเดินเรือผ่านแหลม Good Hope ทวีปแอฟริกา ซึ่งจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากเดิม 15-30 วัน

คู่กรณีระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สงครามเริ่มต้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565 จากประชากรราว 44 ล้านคนของยูเครน ประมาณ 7.7 ล้านคน ลี้ภัยอพยพไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป และมีผู้พลัดถิ่นฐานภายในประเทศอีกเกือบ 7 ล้านคน

รูป 1: ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากการโจมตีทางอากาศที่ฉนวนกาซา
ที่มา: https://www.reuters.com/pictures/pictures one-month-israel-gaza-2023-11-04/?user_email=a72d74bec6268841b93e53e22cb6085670a67b401ead6a4781c64ffec/
สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567

รูป 2: ผลกระทบจากการสู้รบทำให้เกิดการพลัดถิ่น
ที่มา: https://www.reuters.com/pictures/pictures one-month-israel-gaza-2023-11-04/?user_email=a72d74bec6268841b93e53e22cb6085670a67b401ead6a4781c64ffec/         
สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567

ยูเครนไม่ได้รบแบบโดดเดี่ยว นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นยูเครนได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากมากกว่า 30 ประเทศ ยูเครนใช้ขีปนาวุธจากภาคพื้นดินสู่อากาศที่ผลิตขึ้นในโซเวียต มีการใช้อาวุธหลายชนิดจากชาติตะวันตกเพิ่มเข้ามารวมถึงระบบขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศ ขีปนาวุธโดรนมีประสิทธิภาพสูงสำหรับการสอดแนมและกำหนดเป้าหมายเพื่อทำลาย นับตั้งแต่สงครามความขัดแย้งเริ่มขึ้น บริษัทผลิตอาวุธชื่อ เบย์การ์ (Baykar) ของตุรกีได้ขายและบริจาคโดรนทีบี2 (TB2) ให้ยูเครน เช่นเดียวกัน กองกำลังรัสเซียใช้โดรนเพื่อโจมตีเมืองต่างๆ รวมทั้งจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ โรงผลิตพลังงานไฟฟ้าของยูเครน

จำนวนพลเรือนของยูเครนเสียชีวิต ประมาณ 8,006 คน ตั้งแต่สงครามเริ่มต้น มีผู้บาดเจ็บ 13,287 ราย กองกำลังรัสเซียสูญเสียกำลังพลไม่น้อยเช่นกัน มีการคาดประมาณว่า กำลังพลฝ่ายรัสเซียที่เสียชีวิตและบาดเจ็บอาจมีมากถึง 200,000 ราย เปรียบเทียบกับยูเครน ที่มีจำนวน 100,000 ราย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปแม้ว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาจะน้อยลง ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว บทบาทผู้นำประเทศของประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy สั้นลงทุกนาทีด้วยปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ผู้นำกองทัพยูเครนคงไม่ปล่อยให้ประเทศสูญเสียมากกว่านี้ และอาจจำเป็นต้องเลือกการปฏิวัติโค่นอำนาจเพื่อรักษาความเป็นเพื่อนที่ดีกับรัสเซียสักระยะหนึ่ง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ลดความเสี่ยงต่อการล่มสลายของประเทศ เพราะความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาคงไม่เต็มที่เหมือนเดิม ด้วยปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ

โลกปี 2567 อยู่ยาก เพราะทุกฝ่ายต่างสร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ ประกอบกับการหลีกเลี่ยงการเจรจาต่อรองและไม่เคยเคารพกติกา โดยเฉพาะประเทศที่มีอิทธิพลสงครามโลกครั้งที่ 3 จึงอยู่ใกล้กว่าที่คิด ผู้หญิงและเด็กจะเป็นเหยื่อความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เอกสารค้นคว้า

International Crisis Group. (2024). 10 Conflicts to watch in 2024. https://www. crisisgroup.org/global/10-conflicts-watch-2024 สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th