The Prachakorn

การส่งเสริมการเกิด ไม่ใช่ทางแก้สังคมสูงอายุ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

26 กุมภาพันธ์ 2567
229



การเป็นสังคมสูงอายุเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรอบโลกแทบทุกประเทศในขณะนี้กำลังประสบกับการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุ การเป็นสังคมสูงอายุมักนำมาสู่ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางในการดูแลประชากรสูงวัย ทั้งในเรื่องระบบสาธารณสุข การจัดสวัสดิการ และการเป็นภาระของครอบครัว ชุมชน และสังคม

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลทั่วโลกจึงพยายามค้นหาแนวทางนโยบายต่างๆ ในการรับมือกับการสูงวัยของประชากร นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงอายุอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มนโยบายที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร เช่น การส่งเสริมการเกิดให้มีประชากรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นหรือการดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศเพื่อให้มีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น การสนับสนุนการสูงวัยอย่างมีพลัง การส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุ การออกแบบรองรับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณ และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

การออกแบบนโยบายและคัดเลือกชุดนโยบายเพื่อตอบสนองการเป็นสังคมสูงอายุให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบริบทของประเทศจำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุของประเทศนั้นๆ โดยสาเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุ อาจแบ่งได้เป็น 4 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้

  • ปัจจัยแรก คือ การที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ในทุกประเทศเมื่อระบบสาธารณสุขพัฒนา ผลที่ตามมาก็คือ ประชากรจะมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งทำให้สัดส่วนผู้ที่จะมีชีวิตจนถึงวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น และทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ปัจจัยที่สอง คือ การเกิดที่ลดลง ปัจจัยนี้มักถูกพูดถึงว่าเป็นปัญหาหลักและมักถูกนำไปเชื่อมโยงกัการเป็นสังคมสูงอายุในสื่อต่างๆ การเกิดที่น้อยลงส่งผลให้ขนาดของประชากรวัยเด็กลดลง ดังนั้น เมื่อคำนวณสัดส่วนผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้น เนื่องจากขนาดฐานของประชากรเล็กลง
  •  ปัจจัยที่สาม คือ การสูงอายุของรุ่นประชากร หมายถึง การมีรุ่นประชากรรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมด กลุ่มประชากรรุ่นนี้มีอิทธิพลต่อโครงสร้างอายุประชากรโดยตรงเพราะเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่พอ หากประชากรกลุ่มนี้อยู่ในวัยเด็ก ก็จะทำให้ประเทศนั้นมีสัดส่วนวัยเด็กที่สูง เมื่อประชากรกลุ่มนี้เติบโตไปเป็นวัยทำงาน ก็จะทำให้ประเทศนั้นมีสัดส่วนวัยทำงานที่สูงขึ้น และเมื่อประชากรกลุ่มนี้มีอายุมากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศนั้นมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงตามไปด้วย
  •  ปัจจัยสุดท้าย คือ การย้ายถิ่นข้ามชาติ ที่เป็นตัวแปรในการเพิ่มหรือลดสัดส่วนผู้สูงอายุได้ ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ย้ายถิ่น หากมีวัยแรงงานย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศมาก ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนวัยทำงานและลดสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศได้ แต่ในทางกลับกัน หากวัยแรงงานย้ายถิ่นออกนอกประเทศมาก ก็จะทำให้สัดส่วนวัยแรงงานลดลงและสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศเพิ่มขึ้น

จากทั้ง 4 ปัจจัยข้างต้นนี้ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นำไปสู่การเป็นสังคมสูงอายุตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก คือ การสูงอายุของรุ่นประชากร ในภูมิภาคเอเชีย การเป็นสังคมสูงอายุมีสาเหตุมาจากการสูงอายุของรุ่นประชากรราวร้อยละ 73 และจะเป็นสาเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุในอนาคตถึงร้อยละ 94 ในขณะที่การเกิดน้อยแทบจะไม่ได้ส่งผลต่อการเป็นสังคมสูงอายุเลย1

สำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 2506–2526 เป็นช่วงที่มีการเกิดสูงมาก คือ เกิน 1 ล้านคนต่อปี ประชากรรุ่นเกิดล้านกลุ่มนี้ คือ รุ่นประชากรที่มีขนาดใหญ่ จึงมีอิทธิพลต่อโครงสร้างอายุประชากรของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ประชากรกลุ่มนี้จะเริ่มมีอายุครบ 60 ปี ดังนั้น เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศไทยจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะการสูงวัยของกลุ่มประชากรรุ่นนี้

ดังนั้น นโยบายเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงอายุในประเทศไทย จึงไม่ควรเน้นนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุประชากร เช่น นโยบายการส่งเสริมการเกิด เพราะการเกิดน้อยไม่ใช่ต้นเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุในประเทศไทย การมีเด็กเกิดเพิ่มขึ้นในวันนี้จะไม่ทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความจริงว่า เรากำลังจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การวางแผนนโยบายควรมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น จะเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

รูป: คุณยายหนู หินเหล็ก และน้องวิน
รูปโดย: จุทารัตน์ ทรัพย์ยอดแก้ว


เอกสารอ้างอิง

  1. Sudharsanan, N., Bloom, D. E., & Sudharsanan, N. (2018). The demography of aging in low-and middle-income countries: Chronological versus functional perspectives. In M. K. Majmundar & M. D. Hayward (Eds.), Future directions for the demography of aging: Proceedings of a workshop (pp. 309-338). Washington (DC): National Academies Press (US). https://doi.org/10.17226/25064

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th