The Prachakorn

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022


04 มีนาคม 2567
269



หนังสือ “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2022” เขียนโดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์ และเจณิตตา จันทวงษา ของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ได้รับความร่วมมือจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) นำเสนอชุดข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยมุ่งมองนิเวศรอบตัวของเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิกฤตที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญ

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมเสียงของเด็กและเยาวชนผ่านการสำรวจในระดับประเทศ เพื่อจัดทำชุดข้อมูลอันนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะ บนฐานความรู้ โดยยึดสวัสดิภาพของเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเยียวยาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายบนเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) การจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอและทั่วถึงสำหรับการดูแลพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว 2) การเพิ่มทางเลือกบริการสาธารณะด้านสุขภาพให้มีคุณภาพและเข้าถึงได้จริง และ 3) การส่งเสริมสิทธิเด็กและการมีส่วนร่วมของเด็กตลอดกระบวนการดำเนินนโยบาย

“วิกฤตสามด้าน” ที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยต้องเผชิญคืออะไร หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2021-2022 เป็นปีที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยพบกับวิกฤตดังกล่าว ทั้งวิกฤตด้านการระบาดของโควิด-19 (COVID-19) วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตด้านสังคมและการเมืองประกอบกับบริบทโลกที่ผันผวนเกิดความไม่แน่นอน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ส่งผลต่อแนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย 7 ประการ ได้แก่

  • เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดรัฐบาลจึงสั่งปิดสถานศึกษาทุกระดับ ทำให้ภาวการณ์การเรียนรู้ถดถอย เสียโอกาสพัฒนาทักษะใหม่ตามช่วงวัยที่เหมาะสม เด็กบางกลุ่มต้องหยุดเรียนกลางคัน ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลงเมื่อต้องปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนรูปแบบออนไลน์
  • เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จากการทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริการสาธารณสุขจากรัฐบาลที่จัดให้กับประชาชนลดลง ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์
  • เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่ต้องเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดอุปกรณ์ รวมทั้งทักษะความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลที่จำเป็นและเท่าเทียม ซึ่งมีความจำเป็นต่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และอาจส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ
  • เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
  • เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น
  • โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็ก และเปราะบางยิ่งขึ้น
  • ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เยาวชนในครอบครัวข้ามรุ่นมีแนวโน้มทางความคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัว ทั้งเรื่องชีวิตประจำวันความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน คนรัก การศึกษาและการทำงาน

แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยทั้ง 7 ข้อ เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญ ที่มีผลกระทบทั้งในปัจจุบันและมีความรุนแรงมากพอที่จะส่งผลกระทบระยะยาวไปตลอดชีวิต หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง

เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่า จะมีโรคระบาดอุบัติใหม่กลับมาสร้างวิกฤตในประเทศไทยอีกหรือไม่ รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวเล่มนี้ จึงเสนอให้รัฐบาลปรับแนวคิดและวิธีการดำเนินนโยบายในทุกมิติอย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่องบนพื้นฐานของการสร้างสังคมเสมอภาค พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศให้มีคุณภาพและกระจายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ เร่งเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัวเปราะบางจัดให้มีบริการของรัฐอย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือในยามวิกฤต รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

หนังสือ “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2022”

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th