The Prachakorn

“อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” และ “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ในมุมมองของเด็ก เป็นอย่างไร?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

29 กุมภาพันธ์ 2567
184



พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กไทย

จากการสำรวจพฤติกรรมบริโภคของเด็กไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กไทยมีพฤติกรรมบริโภค “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงจากร้อยละ 93.7 ในปี 2556 เพิ่มขั้นขึ้นเป็นร้อยละ 94.6 ในปี 2564 เครื่องดื่มรสหวานจากร้อยละ 41.4 เป็นร้อยละ 64.3 และอาหารจานด่วน จากร้อยละ 44.5 เป็นร้อยละ 64.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน1,2

เด็กไทยเข้าใจ “ความหมาย” คำว่า  “อาหาร” คืออะไร

จากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการจัดสนทนากลุ่มเด็กไทยชายและหญิงชั้นประถมศึกษาอายุระหว่าง 10-12 ปี จำนวน 6 คน5 พบว่า เด็กไทยให้ความหมายของคำว่า “อาหาร” หมายความถึง อาหารมื้อหลัก ได้แก่ อาหารมื้อเช้า กลางวัน และเย็น ซึ่งหากเป็นภาษาอังกฤษความหมายของคำว่าอาหารของเด็กไทยตรงกับคำว่า meal หรือ breakfast, lunch and dinner meal  ส่วน “ขนม” ในความหมายของเด็กไทย หมายถึง ขนมหวานหรือของขบเคี้ยว และ  “เครื่องดื่ม” โดนเฉพาะอย่างยิ่ง “นม”  ในความหมายของเด็กไทย ไม่ไช่ “อาหาร” สรุปความเข้าใจ คำว่า “อาหาร” ของเด็กไทย มีความหมายเฉพาะ “อาหารมื้อหลัก” ขณะที่ “ขนมและเครื่องดื่ม” รวมถึง”นม” ไม่ใช่ความหมายของ “อาหาร”

สรุป ความหมาย “อาหาร” ของเด็กไทย จึงแตกต่างจากความหมายตามกฎหมาย และภาษาอังกฤษโดยสิ้นเชิง  คำว่า “อาหาร” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมายความถึง ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต ได้แก่ (1) วัตถุทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี และ (2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร รวมถึงวัตถุ เจือปนอาหาร สี และเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส3 โดยนัยนี้อาหารในมิติของกฎหมายจึงหมายรวมถึงเครื่องดื่มด้วย


Source of picture: https://www.sketchbubble.com/en/presentation-healthy-vs-unhealthy-food.html

“อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ในมุมมองของเด็กไทย เป็นอย่างไร?

เด็กไทย มีมุมมองว่า “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” หมายถึง อาหารที่กินแล้วดีต่อร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยอาหารที่มีผักและปลาเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ไม่มีน้ำมันหรือถ้ามีต้องไม่มากเกินไป เป็นอาหารปรุงโดยวิธีการต้ม เช่น ก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก แกงจืด ต้มยำ แกงส้ม และสุกี้ยากี้ อย่างไรก็ตาม เด็กไทยไม่ได้กล่าวถึงผลไม้ว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพเลย ซึ่งไปเสริม ความเข้าใจของเด็กไทย ว่า “อาหาร” คืออาหารมื้อหลัก ที่ไม่รวม “ขนมและเครื่องดื่ม” “นม”  แล้วยังรวมไปถึง “ผลไม้” อีกด้วย สำหรับแหล่งความรู้ความเข้าใจ “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ”  ของเด็กไทย มาจากผู้ปกครอง ครู เพื่อน และสื่อโฆษณา  เมื่อเปรียบเทียบแหล่งที่มาความหมาย “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ของเด็กชายไทย ที่เชื่อว่า โฆษณาอาหารเสริมแคลเซียม เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะช่วยสร้างและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกและร่างกายได้จริง ขณะที่ มุมมองของเด็กอายุ 10-12 ปี ในประเทศนิวซีแลนด์ กลับพบว่า ข้อความเกี่ยวกับอาหารในสื่อมวลชนครอบงำและสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเด็กๆ เข้าใจว่า ช็อกโกแลตเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ6

“อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ในมุมมองของเด็กไทย เป็นอย่างไร?

เด็กไทยมีมุมมองว่า “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” เป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ อาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ อาหารที่มีไขมันมาก อาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาล อาหารที่มีรสหวาน และอาหารปรุงโดยใช้วิธีการทอดหรือใช้น้ำมันปริมาณมาก เช่น ไก่ทอด เฟรนฟรายส์ ความเข้าใจความหมายของ “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ของเด็กเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความหมาย “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ขององค์การอนามัยโลกที่ หมายถึง อาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพและโภชนาการที่ดี ช่วยปกป้องผู้บริโภคจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง และยกตัวอย่างอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว และเมล็ดธัญพืช (เช่น ข้าวโพดที่ยังไม่แปรรูป ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี และข้าวกล้อง) ขณะที่ “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” หมายถึง อาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว โซเดียมสูง4 รวมทั้งอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก พิซซ่า มันฝรั่งทอด ไก่ทอด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มรสหวาน สำหรับแหล่งที่มาของความเข้าใจความหมายของ “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ของเด็กไทย ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน และสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม เด็กไทยยอมรับว่า ถึงรู้ว่าไก่ทอดเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ภาพโฆษณายืนยันว่า ไก่ทอดอร่อย จึงทำให้อยากกินและชอบกินไก่ทอด ขณะที่ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า เด็กผู้หญิงอายุ 10-12 ปี ที่อ่านนิตยสารผู้หญิงมีความเชื่อว่า ผลไม้เป็น “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” เพราะมีน้ำตาลสูง6

ปัจจัยสำคัญในการสื่อสารการสร้างเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพเด็ก

ความเข้าใจความหมายของคำว่า “อาหาร” “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” และ “อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ” ของเด็กแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยของแหล่งความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการที่เด็กๆ ได้รับ โดยเฉพาะแหล่งความรู้หรือข้อมูลฯ จากผู้ปกครอง ครู เพื่อน และสื่อโฆษณา ที่ส่งผลทั้งบวกและลบต่อความเข้าใจความหมายของสามคำดังกล่าว ปัจจัยในการสร้างความเข้าใจความหมายของคำสามคำนี้ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพและด้านการสื่อสารในการพัฒนานโยบายและการดำเนินการเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจความหมายของสามคำดังกล่าว อันนำไปสู่การส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดการบริโภคอาหารที่มีดีต่อสุขภาพในกลุ่มเด็กไทยให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ. 2556. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ; 2557.
  2. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ; 2564.
  3. สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522. กรุงเทพฯ: ราชกิจจานุเบกษา 2522. หน้า 1.
  4. World Health Organization. Healthy diet. 2024. https://www.who.int/initiatives/behealthy/healthy-diet (accessed 2 February 2024).
  5. นงนุช จินดารัตนาภรณ์, สิรินทร์ยา พูลเกิด, สาลินี เทพสุวรรณ์, ณัฐจีรา ทองเจริญพงศ์. การวิเคราะห์ภูมิทัศน์สื่อ พฤติกรรมการบริโภคสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อทางสุขภาพสำหรับเด็กไทยอายุ 10-14 ปี. กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563.
  6. Dorey E, McCool J. The role of the media in influencing children's nutritional perceptions. Qual Health Res 2009; 19(5): 645-54.

ภาพปก freepik.com (premium license)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th