The Prachakorn

มาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง กับความคิดเห็นของคนไทย


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

08 มีนาคม 2567
197



การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่คุ้มค่าสำหรับรัฐบาลในการจัดการปัญหาโรคอ้วน การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของประเทศไทยคาดการณ์ว่า หากรัฐบาลไทยดำเนินมาตรการควบคุมการโฆษณาอาหารฯ ทางโทรทัศน์ จะช่วยลดความชุกของเด็กไทยที่มีน้ำหนักเกินและอ้วนได้ถึง 121,000 คน1  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พยายามปรับปรุงการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของเด็ก ล่าสุดในปี 2564 สำนักโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกร่างกฎหมายเพื่อควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก ร่างกฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการพบเห็นการตลาดอาหารฯ ของเด็ก แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการบังคับใช้2

การประเมินความคิดเห็นของคนไทยที่มีต่อมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารฯ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะข้อมูลจากการประเมินความคิดเห็นของประชาชนสามารถช่วยให้สำนักโภชนาการทราบข้อกังวล ความต้องการ และความคาดหวัง รวมทั้งการสนับสนุนหรือไม่ต่อมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารฯ3 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสามารถช่วยการขับเคลื่อนมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารฯ ต่อไปได้ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของคนไทยที่มีต่อมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารฯ และลักษณะทางประชากรของคนไทยที่มีผลต่อมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารฯ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรไทย พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และวิเคราะห์ข้อมูลคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 86,094 คน4

ผลการศึกษาพบว่า คนไทยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 63) ไม่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ (รูปด้านล่าง) ซึ่งแตกต่างจากคนในประเทศยุโรป โดยประชาชนในประเทศสเปนเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ มากถึงร้อยละ 85 รองลงมาคือ อิตาลี (ร้อยละ 70.8) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 67.1) และเบลเยียม (ร้อยละ 66.1) นอกจากนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ มากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงในประเทศออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และสเปน สนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับรูปร่าง คุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่พวกเขาบริโภค กลุ่มผู้หญิงต้องการปฏิบัติตามพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดี รักษารูปร่าง และมีวิถีการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดี ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ เพราะพวกเธอเชื่อว่า มาตรการดังกล่าว น่าจะมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและลดโรคอ้วนลงได้

คนไทยที่มีอายุระหว่าง 25-59 และ 60 ปีขึ้นไป เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ มากกว่ากลุ่มที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับสื่อโฆษณาของคนไทยที่พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของคนไทยอายุระหว่าง 15--30 ปี พบเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง แต่เด็กกลุ่มนี้อาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาหารและเครื่องดื่มฯ ว่า มีผลต่อสุขภาพอย่างไร นอกจากนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศยังเผยให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารจะใช้คนดังที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มเด็กเป็นพรีเซ็นเตอร์โปรโมตสินค้า เพื่อจูงใจให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มฯ ของตน ซึ่งเด็กในช่วงอายุนี้ก็มักจะชื่นชอบคนดังที่ทำการตลาดอาหารฯ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มฯ มักสร้างมายาคติให้เด็กเข้าใจว่า อาหารและเครื่องดื่มฯ อร่อยและมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งที่ความเป็นจริงอาหารและเครื่องดื่มนั้นมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ดังนั้น เด็กไทยในช่วงอายุดังกล่าวอาจไม่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ

คนไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ มากกว่าคนไทยที่ไม่รู้หนังสือหรือไม่ได้เรียนหนังสือ และคนไทยที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ มากกว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย คนออสเตรเลียที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ โดยเฉพาะมาตรการการจำกัดโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ทางโทรทัศน์ และการให้ทุนสนับสนุนด้านกีฬาและโรงเรียน เพราะคนออสเตรเลียเชื่อว่า การทำการตลาดดังกล่าวอาจส่งผลต่อความชื่นชอบและการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มฯ ของเด็ก

คนไทยมากกว่าครึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุ 15-24 ปี ไม่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ ข้อค้นพบนี้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนของสำนักโภชนาการในการสำรวจความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ ของคนไทยต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลและวิธีที่จะทำให้เกิดการสนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ ของคนไทย เช่น การประชาสัมพันธ์มาตรการการตลาดอาหารฯ การสื่อสารข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวกับปัญหาโรคอ้วนและเรื่องเล่าที่เน้นสาเหตุของการตลาดอาหารฯ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอ้วน และเสนอแนะมาตรการควบคุมการตลาดอาหารฯ ซึ่งเป็นวิธีทางแก้ไขที่ดีวิธีการหนึ่งสำหรับการลดโรคอ้วน


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

Jindarattanaporn N, Phulkerd S, Chamratrithirong A, Gray RS, Pattaravanich U, Loyfah N, et al. How an agreement with restriction of unhealthy food marketing and sodium taxation influenced high fat, salt or sugar (HFSS) food consumption. BMC public health. 2024; 24, 586. https://doi.org/10.1186/s12889-024-18069-w


เอกสารอ้างอิง

  1. Phulkerd S, Hunchangsith P, Sujaritpong S, Jindarattanaporn N et al. Childhood Overweight and Obesity (COO) Policy Research Project. Nakon Pathom: Institue for Population and Social research, Mahidol University; 2020.
  2. Bureau of Nutrition, Department of Health. Draft Food and Beverage Marketing Control Act Affecting Children's Health B.E. …. In: Department of Health, editor. Nonthaburi: Bureau of Nutrition; 2022.
  3. Pérez-Cuevas R, Guanais FC, Doubova SV, Pinzón L, Tejerina L, Pinto Masis D, et al. Understanding public perception of the need for major change in Latin American healthcare systems. Health Policy and Planning. 2017;32(6):816-24.
  4. Jindarattanaporn N, Phulkerd S, Chamratrithirong A, Gray RS, Pattaravanich U, Loyfah N, et al. How an agreement with restriction of unhealthy food marketing and sodium taxation influenced high fat, salt or sugar (HFSS) food consumption. BMC public health. 2024; 24, 586. https://doi.org/10.1186/s12889-024-18069-w.

รูปภาพประกอบ
 
Source of picture: https://compolcorp.com/por-que-twitter-manda-en-la-opinion-publica/

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th