The Prachakorn

บวชๆ สึกๆ ก็ยังดีกว่า บวชแล้วสึกไม่ได้


เจษฎา บัวบาล

11 มีนาคม 2567
1,316



“บทความนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน มิได้สะท้อนจุดยืนของ The Prachakorn และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม”

ตั้งแต่พุทธกาลจนถึงปัจจุบัน การบวชมีหลายเป้าหมาย ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมเท่านั้น
 

ชาวพุทธมักจินตนาการว่า ในพุทธกาลคนบวชเพื่อนิพพานเท่านั้น จึงตำหนิการบวชระยะสั้นหรือบวชตามประเพณีที่ไม่ได้ผ่านการอบรมแบบนานๆ บทความนี้เสนอว่า (1) ตั้งแต่พุทธกาลจนถึงปัจจุบัน การบวชมีหลายเป้าหมาย ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมเท่านั้น และ (2) การไม่มีวัฒนธรรมบวชระยะสั้นต่างหาก ที่สร้างความลำบากในการสึกของพระ ผู้ถูกคาดหวังว่าหากบวชแล้วต้องบรรลุธรรมหรือบวชตลอดชีวิต ดังกรณีของพระในอินโดนีเซีย

1. การบวชมีหลายเป้าหมาย

ชาวพุทธที่นิยามตนว่าเป็นพุทธเเท้ เลือกศึกษาธรรมะที่มีเหตุผล มักจินตนาการไปด้วยว่า ในสมัยพุทธกาลคนออกบวชเพราะอยากบรรลุธรรมเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันมีการประดิษฐ์พิธีบวชตามประเพณี/ระยะสั้นขึ้น ซึ่งการไม่ถูกอบรมให้ดีได้นำไปสู่พฤติกรรมที่เสื่อมเสียของพระ เช่นในบทสัมภาษณ์ของพระอั๋น (เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา, 2023) เป็นต้น ในความจริงแล้ว แม้ยุคพุทธกาลคนก็เข้ามาบวชเพราะวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย

ฉัพพัคคีย์ เป็นกลุ่มพระที่รวมตัวกัน 6 รูปและบวชเพราะฐานะยากจน ยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อบวชแล้วก็มีพฤติกรรมที่ชาวบ้านติเตียนจนนำไปสู่การบัญญัติวินัยสงฆ์หลายข้อ (แสวง แสนบุตร, 2019) สังคมสงฆ์ในพุทธกาลจึงไม่ได้งดงามจนปราศจากพระไม่ดี และนี่ก็เป็นธรรมชาติของทุกองค์กร หรือหากจะให้มีกฎเกณฑ์ในการรับและอบรมคน ก็ควรให้เป็นนโยบายของกลุ่มชาวพุทธนั้นๆ ออกแบบกันเอง ต้องระวังไม่ให้อำนาจรัฐ/ส่วนกลางควบคุมความหลากหลายของการตีความศาสนา

การห้ามพระไทยบวชให้ผู้หญิงเป็นภิกษุณี โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในปี 2471 (และยังบังคับใช้จนปัจจุบัน) เป็นตัวอย่างของการสร้างระเบียบวินัยของสงฆ์ ที่ผูกขาดอำนาจโดยรัฐและกีดกันผู้หญิงในฐานะภิกษุณีออกไป ขณะที่พระเถรวาทในประเทศอื่นสามารถบวชภิกษุณีให้ผู้หญิงได้ เพราะอ้างอิงจากพระไตรปิฎกโดยตรง ว่าเมื่อบวชมาครบ 10 ปี ก็มีคุณสมบัติเป็นพระอุปัชฌาย์และบวชให้ผู้อื่นได้

องค์กรพุทธยาน (Buddhayana) ของอินโดนีเซีย มีการบวชสามเณรีเถรวาทตั้งแต่ปี 1963 ผู้บวชคือ Jinakumari เป็นสามเณรี/ภิกษุณีรูปแรกที่เป็นคนอินโดนีเซีย โดยหลวงพ่อ Jinarakkhita  เป็นอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านเองบวชพระจากพม่ากับ Mahasi Sayadaw (Silvita, 2015, p. 7) เมื่อพรรษาครบ 10 ท่านก็มีคุณสมบัติเป็นพระอุปัชฌาย์ และไม่สนใจว่าพระเถรวาทในพม่า ไทย หรือศรีลังกาจะมองสามเณรี/ภิกษุณีอย่างไร แต่เขามีอิสระตามธรรมวินัยและช่วยเหลือชาวพุทธในประเทศของเขาเอง

ในสังคมไทย แม้จะเปิดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศบ้าง เช่น ให้กะเทยมาบวช แต่ต้องขอให้ปกปิดพฤติกรรมการเเสดงออก พุทธศาสนามีคำว่า “วาสนา” หรือ “พฤติกรรม” ที่มักใช้อธิบายพระอรหันต์ที่ไม่ค่อยสำรวมแบบที่คนคาดหวัง เช่น พระสารีบุตรชอบกระโดดเพราะเคยเกิดเป็นลิง (เสฐียรพงษ์ วรรณปก, 2562) พระปิลินทวัจฉะชอบพูดคำหยาบ (ธรรมะพีเดีย, 2024) บ้างก็โยงถึงการนั่งแบบหลวงพ่อคูณ หรือพูดไม่เพราะแบบหลวงปู่เจี๊ยะ ว่าเป็นวาสนาหรือพฤติกรรมที่ไม่มีผลต่อคุณธรรม/การบรรลุธรรม เเต่เมื่อเป็นกะเทย เช่นจีบนิ้วหรือเดินส่ายก้น กลับถูกขอให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ซึ่งสมคิด แสงจันทร์ (2560) มองว่า คำประกาศของมหาเถรสมาคมที่ไม่ให้พระภิกษุแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตน สะท้อนความไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายของเพศสภาพ และสรุปไปเองว่าพวกที่ดูไม่เหมือนชายแท้ตามที่คุ้นเคยกันจะต้องเป็นผู้เบี่ยงเบนทางเพศหรือเป็นบัณเฑาะก์

ภาพ งานมาฆบูชา ปี 2023 ณ บรมพุทโธ ถ่ายโดยผู้เขียน

พระที่บวชระยะสั้น ไม่สนใจศึกษา/ปฏิบัติ เอาแต่ทำพิธีกรรม/หาเงิน ก็มีในสมัยพุทธกาล พระจิตตหัตถ์ก็บวชๆ สึกๆ ถึง 7 ครั้ง เราควรเรียนรู้ที่จะรับกับความหลากหลายนี้ แบบที่เราอธิบายพฤติกรรมพระสารีบุตรหรือหลวงพ่อคูณ ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีปัญหา แค่ขยายไปสู่คนชายขอบหรือคนชั้นล่างให้ได้รับโอกาสเช่นนั้นบ้าง และมองว่าการบวชระยะสั้นหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย แก้ไขได้ด้วยกลุ่มสมาชิกด้วยกันเอง ในข้อถัดไปจะชี้ให้เห็นว่า การบวชแล้วไม่มีโอกาสสึกต่างหากที่ทำร้ายชีวิตคนมากกว่า

การไม่มีวัฒนธรรมบวชระยะสั้นต่างหาก ที่สร้างความลำบากในการสึกของพระ
ผู้ถูกคาดหวังว่าหากบวชแล้วต้องบรรลุธรรมหรือบวชตลอดชีวิต ดังกรณีของพระในอินโดนีเซีย
 

2. การบวชและสึกในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมการบวชระยะสั้น

ในอินโดนีเซีย ชาวพุทธเป็นคนกลุ่มน้อยและมักมีอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง/ชัดเจน นั่นหมายความว่า เมื่อบวชเป็นพระ หากสึกออกไปจะถูกตำหนิว่า “เเพ้ต่อกิเลส เป็นคนล้มเหลว คงทำตัวแย่จนคณะสงฆ์ต้องขับออก ฯลฯ” คือการบวชพระในอินโดนีเซียจะต้องผ่านความเป็นเณร เเละแม้จะอายุมากแล้ว หากยังไม่แน่ใจว่าจะบวชตลอดชีวิต หรือสงฆ์เห็นว่าพฤติกรรมยังไม่ดีพอ ก็จะให้เป็นเณรต่อไปแม้จะเป็น 10 ปี ดังนั้นการบวชพระจึงสื่อว่า เขาพร้อมที่จะเป็นพระที่ดีและอยู่ไปจนมรณภาพ

แต่การสึกก็ยังมีอยู่เสมอ กรณีหลวงพี่ Kamalo จากชวากลาง สึกราวปี 2020 ก็หายไปจากหมู่บ้านเลย เพราะเขาจะถูกชาวบ้านตำหนิแบบที่ว่ามา คนเหล่านี้จึงมักเลือกที่จะย้ายไปทำงาน/ตั้งรกรากใหม่ในต่างเมือง เเน่นอนว่า บางชุมชนอาจรับได้มากกว่านี้ เช่นถ้าเพื่อนบ้านรอบข้างเป็นมุสลิม พวกเขาอาจไม่เเคร์ว่าใครจะบวชหรือจะสึก

Kemanando สึกช่วงปี 2017 เขาบวชมานานมากและจบ ป.โท จากมหามกุฏฯ ของไทยด้วย ก่อนสึกได้ปรึกษากับสมาชิกของวัด ชาวบ้านจำนวนมากรับไม่ได้ที่เจ้าอาวาสจะสึก ท่านเลยเดินทางมาเข้าปริวาสที่ไทยและตั้งใจจะสึกที่นี่ สึกเเล้วเดินทางกลับไปอินโด ลุงของท่านเช่าโรงเเรมให้อยู่หนึ่งอาทิตย์ เเล้วใช้เวลาปรึกษาหารือ/คิดเหตุผลที่จะไปอธิบายกับชาวพุทธ สุดท้ายก็พากันไปที่วัดแล้วเรียกประชุมสมาชิก ท่านเล่าให้ผมฟังว่า

“ชาวพุทธบางคนร้องไห้ที่เห็นท่านเป็นฆราวาส บางคนเดินออกไปจากศาลาเลย แต่ท่านก็อธิบายว่า พ่อแม่ของท่านป่วยหนักและท่านอยากดูแลพ่อแม่ให้เต็มที่ มีเวลาว่างก็จะศึกษา/ปฏิบัติและสอนธรรมะต่อไป ความโชคดีของอินโดคือ เมื่อพระมีน้อย ฆราวาสที่เก่งธรรมะก็รับหน้าที่ทำพิธีกรรมและเทศน์สอนได้ด้วย ท่านเป็นหนึ่งในไม่กี่คน ที่บวชมานานและเมื่อสึกแล้วก็ยังทำหน้าที่บรรยายธรรมตามวัดต่างๆ ต่อ แต่นั่นสำเร็จเพราะความกล้าที่จะต่อรอง (แม้ใช้เวลาทำใจ/คิดวิธีในโรงเเรมเป็นอาทิตย์)”

ผมเคยติดตามพระเถระรูปหนึ่งในการทำวิจัยอยู่ 5 เดือนและถามท่านว่า “หลวงพ่ออยากสึกบ้างไหมครับ” ท่านตอบว่า “อย่าถามว่าอยากสึกไหม ควรถามว่า สึกได้หรือเปล่า? เพราะถ้าสึกไปก็จะอยู่ในชุมชนยาก ยิ่งเป็นพระเถระที่คนรู้จัก หนีจากชุมชนนี้ ก็มีคนรู้จักในชุมชนอื่น คงต้องทนกับคำนินทา/วิพากษ์วิจารณ์เยอะ ซึ่งผมยังไม่อยากเจอเหตุการณ์นั้น”

ทางออกของอินโดนีเซียคือ พยายามจัดพิธีบวชให้บ่อยขึ้น เช่น โครงการบวชเณรภาคฤดูร้อน อันนี้มีจัดกันเกือบทุกองค์กร (ไม่ใช่เฉพาะธรรมกาย) วัดธรรมยุตใหญ่ๆ เช่น วิปัสสนาคราหะ (เมืองบันดุง) วัดของนิกายพุทธยานก็จัดทุกปีและมีการบวชทั้งเถรวาทและมหายาน เป็นต้น และพระที่มีพรรษา 10 ของนิกายนี้ก็มักบวชให้คนอื่นๆ อยู่เสมอโดยไม่ต้องถูกแต่งตั้งจากไทย เพราะเขายึดพระไตรปิฎก ไม่ได้ยึดกฎที่ออกโดยมหาเถรสมาคมแบบไทย

เจ้าคณะจังหวัดชวากลางขององค์กรพุทธยาน คือหลวงพ่อ Jatiko (ตำแหน่งนี้ก็เเต่งตั้งกันเองเพื่อบริหารองค์กร ไม่มีอำนาจและเงินเดือนจากรัฐ และปกครองคณะสงฆ์อื่นไม่ได้) เล่าว่า ท่านพยายามจัดกิจกรรมนี้ให้บ่อย และไม่ใช่แค่สามเณร แต่ให้คนมาบวชพระกันด้วย เชื่อว่า อีก 5-10 ปี คนอินโดนีเซียจะชินกับการบวชแล้วสึก พ่อตายก็มาบวช 5 วันได้ ตกงานก็มาบวชสั้นๆ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่อไปพระรูปไหนจะสึกก็จะได้ไม่มีคนตราหน้าว่า “ล้มเหลวในชีวิต เป็นพระชั่วจนคณะสงฆ์ต้องไล่ออก หรือเพราะสู้กิเลสไม่ได้แม้บวชมานาน” แต่เปลี่ยนเป็นแบบไทยคือ “เขาเรียนธรรมะมาแล้ว สามารถใช้ชีวิตให้มีความสุข มีสติสมาธิในการใช้ชีวิตแบบฆราวาสมากขึ้น” แล้วยินดีต้อนรับกลับสู่ชุมชน

ปัญหาของอินโดนีเซียดูจะหนักหนา แต่มันกำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขผ่านการบวชระยะสั้น และคนก็เริ่มจะรับการสึกได้มากขึ้นเรื่อยๆ แบบที่ศรีลังกาทำสำเร็จมาแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนการสึกในศรีลังกาถือเป็นเรื่องเลวร้ายเช่นกัน ต่อมาพระศรีลังกาใน Toronto จัดบวชระยะสั้นขึ้นและมีคนสนใจมาก ประเพณีนี้เติบโตและกลับเข้าไปในศรีลังกาเอง ช่วยเปลี่ยนโลกทัศน์คนไม่ให้ตีตราคนที่บวชแล้วสึก (Mitra, 2011) นี่คือข้อดีของการบวชระยะสั้น บวชตามประเพณีหรือบวชแก้บน แม้พฤติกรรมจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยอมรับว่าคนศึกษาเรียนรู้กันได้

เหตุที่ปัญหาของอินโดนีเซียเเก้ง่ายเพราะสู้กับความเชื่อ/จินตนาการคนเท่านั้น ประเทศที่ไม่มีตัวแทนศาสนากุมอำนาจรัฐก็แก้กันเองตามแบบเอกชน แต่ปัญหาคณะสงฆ์ไทยแก้ยากกว่าเพราะโยงกับอำนาจรัฐที่สั่งห้ามได้ทั้งประเทศ แม้จะมีการตีความที่หลากหลายเช่น การบวชภิกษุณีเถรวาทเป็นสิ่งที่ทำได้ตามทัศนะของหลวงแม่ธัมมนันทา (National Geographic, 2021) หรือกะเทยบวชได้ตามทัศนะของหลวงพี่ชาย วรธัมโม (Feminista Talk, 2564) แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็ถูกมหาเถรสมาคมออกประกาศห้าม พระรูปไหนอยากช่วยก็ต้องแอบไปช่วยกันลับๆ เอาเข้าจริงปัญหาเราหนักกว่าอินโดนีเซียมากและยังไม่เห็นทางออกครับ


อ้างอิง

  • Feminista Talk EP5 : คุยกับพระชาย วรธัมโม เรื่อง LGBT กับศาสนาที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่. เข้าถึงจาก https://www.feminista.in.th/post/feminista-talk-ep5-lgbt-religion-patriarchy.
  • Mitra, D. (2011). Temporary ordination for character transformation: A diasporic practice with transnational connections. Journal of Global Buddhism, 12(1), 51-68
  • National Geographic ฉบับภาษาไทย. (2021). ภิกษุณีธัมมนันทา: นักบวชหญิงผู้สืบสานพระศาสนา แม้ไม่ถูกยอมรับเป็นนักบวชตามกฏหมายไทย. เข้าถึงจาก https://ngthai.com/cultures/34056/bhikkhuni-sangha/.
  • Silvita, M. (2015). Jinakumari: Indonesia’s First Nun. In Tsomo, L. (Ed.) Compassion & Social Justice: 14th Sakyadhita International Conference on Buddhist Women" (pp.7-13). Accessed from https://core.ac.uk/download/pdf/232849155.pdf.
  • ธรรมะพีเดีย. (2024). ประวัติพระปิลินทวัจฉะ. เข้าถึงจาก https://www.thammapedia.com/sankha/maha_pilinda-vaccha.php.
  • เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา. (2023). ‘บวชระยะสั้น’ และอื่นๆ ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ในโลกของพระพุทธศาสนาที่มาจาก ‘สังคมไทยไทย’ : คุยกับพระอั๋น – พระเอกวีร์ มหาญาโณ. เข้าถึงจาก https://mutualfinding.co/phra-aun/.
  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (2562). รื่นร่ม รมเยศ : เรื่องของวาสนา เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/article/news_1830159.
  • สมคิด แสงจันทร์ (2560). เพศวิถี (ที่รอการ) ศึกษาในพุทธศาสนา: ประกายความคิดเรื่องเพศวิถีในพุทธศาสนากับตัวอย่างพระอรหันต์เพศวิถี. เข้าถึงจาก https://www.tcijthai.com/news/2017/11/article/7544.
  • แสวง แสนบุตร. (2019). วิเคราะห์บทบาทของพระฉัพพัคคีย์ ต่อการบัญญัติวินัยของพระพุทธเจ้า. วารสารปณิธาน, 15(1), 57-72.  

“บทความนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน มิได้สะท้อนจุดยืนของ The Prachakorn และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม”

ภาพปก freepik.com (premium license)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th