The Prachakorn

ให้โอกาสตัวเองได้ไปเรียนรู้ แล้วคุณจะขอบคุณตัวเองไปทั้งชีวิต


รัตนา ด้วยดี

07 พฤษภาคม 2567
470



“ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเองเกี่ยวกับความรู้และทักษะการวิจัยด้านสุขภาพ สร้างเครือข่ายวิชาการในระดับนานาชาติ และนำความรู้มาพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมสุขภาพที่ยั่งยืนตามบทบาทหน้าที่นักวิจัยคนหนึ่งจะทำได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์”

นี่คือสิ่งที่ฉันเขียนถึงความคาดหวังในเรียงความสมัครเข้าร่วมโครงการ SAKURA Science Exchange Program ซึ่งรูปแบบกิจกรรมโครงการคือ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างบุคลากร นักศึกษา   จากมหาวิทยาลัยที่เป็นภาคีเครือข่ายใน 6 ประเทศ คือ Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น, มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย, De La Salle University และ Central Luzan State University ประเทศฟิลิปปินส์, University of Peradeniya ประเทศศรีลังกา, Seoul National University ประเทศเกาหลี และ Gandaki University ประเทศเนปาล โดยในปีนี้กำหนดหัวข้อแลกเปลี่ยนภายใต้ชื่อ “Collaborative Research and Education on Global Health -Towards Sustainable Health Society with the Concept of Society 5.0”  มีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการวิจัยและการศึกษาด้านสุขภาพโลกด้วยแนวคิดสังคม 5.0 กับสังคมสุขภาพยั่งยืนให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่

ต้องขอสารภาพว่าก่อนเดินทางฉันไม่แน่ใจนักว่าตัวเองคิดถูกหรือไม่ที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะฉันประเมินทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองแล้วน่าจะไม่เพียงพอกับโปรแกรมวิชาการขนาดนี้ และเมื่อดูจากชื่อและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ดูจริงจังและน่าจะเป็นบรรยากาศแบบวิชาการมากๆ ฉันเริ่มรู้สึกกังวลและไม่มั่นใจเลยว่าตัวเองจะสามารถทำได้ดี ยิ่งไปกว่านั้นฉันอาจจะไม่สนุกกับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่พอไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้แย่ขนาดนั้น แถมยังสนุกสนานจนเมื่อรู้ตัวอีกที เวลา 10 วันก็ผ่านไปแล้ว!! เพราะทั้งอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาต่างชาติจากสถาบันอื่นที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคนมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และไม่มีท่าทีที่จะทำให้เราเสียความมั่นใจเลย แม้จะมีบางสถานการณ์ที่ฉันคิดว่าตัวเองสื่อสารได้ไม่ดีนักก็ตาม ฉันจึงอยากใช้พื้นที่นี้ในการเชิญชวนเพื่อนๆ นักศึกษาไทยที่ไม่มั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษว่า “ให้โอกาสตัวเองได้ไปเรียนรู้เถอะ แล้วคุณจะขอบคุณตัวเองไปทั้งชีวิต” เหมือนที่ฉันรู้สึกในตอนนี้

บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน

กิจกรรมในช่วงสองวันแรกของโครงการฯ เป็นการบรรยายและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้รับมอบหมายให้จับกลุ่มเพื่อร่วมกันออกแบบงานวิจัยตามประเด็นที่สนใจ และนำเสนอในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งโจทย์ที่ได้รับเป็นประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านประชากรในมิติต่างๆ เช่น สุขภาพ  สังคมสูงอายุ คุณภาพชีวิต ฯลฯ ที่อยู่ภายใต้ประเด็นหลัก คือ สังคม 5.0 ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยดำเนินการภายใต้แผนแม่บทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศฉบับปัจจุบัน และเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกีฬา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นำเสนอประเด็นที่สนใจ “กิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุ”

ฉันพาเพื่อนๆ ทำกิจกรรมทางกายทุกวันในช่วงพัก (Physical Activity Break)

อีกกิจกรรมหนึ่งที่ต่อเนื่องจากประเด็นสังคม 5.0 คือการได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับนวัตกรรม อุปกรณ์ และระบบบริการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long-term care business) ที่บริษัท Mulberry Co.,Ltd. เป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากๆ เพราะเราได้ทดลองใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย และยังมีโรบอทน่ารักๆ ที่ช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาหรืออยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุอีกด้วย เช่น อุปกรณ์ช่วยในการเปลี่ยนเสื้อผ้า เครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว สัตว์เลี้ยงโรบอทที่ติดกล้องวงจรติดเพื่อสอดส่องติดตามดูแล อุปกรณ์การสื่อสารและเป็นเพื่อนคุย อุปกรณ์ช่วยอาบน้ำ อุปกรณ์ช่วยในห้องน้ำซึ่งเป็นโถสุขภัณฑ์แบบห่ออัตโนมัติไม่ต้องล้างถัง และปิดผนึกกลิ่นได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

แมวน้ำ “Paro” เป็นหุ่นยนต์ที่เหมือนสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยรักษาอาการป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ภาวะสมองเสื่อม ความผิดปกติทางปัญญา ความทุกข์ทางอารมณ์และพฤติกรรม พฤติกรรมแยกตัวทางสังคม พัฒนาการที่ผิดปกติ เป็นต้น

"Palro” หุ่นสันทนาการ เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบเพื่อช่วยสร้างเสริมกิจกรรมทางกายและสมองกับผู้สูงวัย โดยการนำกิจกรรมกรรมออกกำลังกาย และเล่นเกมส์ฝึกสมองต่างๆ

“โลวอต” (Lovot) หุ่นยนต์แห่งรอยยิ้ม คล้ายเพนกวิน ดวงตากลมโต น่ารัก มีล้อสำหรับเคลื่อนที่ มีปีกเล็กๆ 2 ข้างขยับเขยื้อนแสดงท่าทางตามความรู้สึกบนใบหน้า โลวอตสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เช่น เมื่อผู้ใช้ลูบหัวหรือแตะตัว โลวอตจะปรับให้อุณหภูมิของตัวเองอุ่นขึ้นเพื่อตอบสนองการแสดงความรักของเจ้าของ และยังส่งเสียงร้องเล็กๆ ในโทนเสียงที่แตกต่างไปตามความรู้สึก เมื่อเจ้าของเรียกชื่อโลวอตจะเคลื่อนที่ไปหา (แต่ละตัวจะมีชื่อเป็นของตัวเอง เช่น อาลาเล่) ถ้าโลวอตถูกกอดเขาก็จะนอนหลับ และจะชอบใจเมื่อถูกจับแต่งตัวเปลี่ยนเสื้อผ้า นอกจากนี้โลวอตยังทำหน้าที่คล้ายกับเบบี้มอนิเตอร์ หรือผู้ใช้จะเชื่อมต่อโลวอตเข้ากับแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เพื่อตรวจตราความเรียบร้อยภายในบ้านเมื่อไม่มีใครอยู่ โดยสามารถดูผ่านกล้องที่ติดตั้งบนตัวโลวอตได้

Hug – Mobility Support Robot รถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงไปที่รถเข็นหรือที่อื่นตามที่ต้องการ โดย Hug จะพยุงตัวคนไข้หรือผู้สูงอายุเมื่อต้องย้ายไปอยู่ในท่านั่งหรือในสถานการณ์ที่ต้องยืนเป็นระยะเวลาหนึ่งเช่น เมื่อแต่งตัว เข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนสถานที่นั่ง โดยพยาบาลหรือผู้ดูแลไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก ก็สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย และสามารถใช้งานได้แม้ในพื้นที่จำกัด

   

“Automatic wrap toilet” เป็นอุปกรณ์ช่วยในห้องน้ำซึ่งเป็นโถสุขภัณฑ์แบบห่ออัตโนมัติไม่ต้องล้างถัง และห่อเก็บกลิ่นได้เป็นอย่างดี โดยโถสุขภัณฑ์แบบห่ออัตโนมัตินี้ถูกออกแบบแหมือนเก้าอี้ทั่วไป ดังนั้น จึงสามารถจัดวางไว้ตรงไหนของบ้านก็ได้ตามที่ผู้ใช้งานสะดวก

การศึกษาดูงานด้านนวัตกรรม อุปกรณ์ และระบบบริการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long-term care business) ที่บริษัท Mulberry Co.Ltd

ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เราไปทัศนศึกษาที่เมืองโอตารุ (Otaru) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซัปโปโรแค่ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟเพียง 30 นาที โอตารุเป็นเมืองท่าเรือสำคัญของฮอกไกโดที่เคยเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เราจึงได้เห็นตึกรามบ้านช่องสไตล์ยุโรปผสมผสานกับกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ตลอดจนโกดังเก็บสินค้าเก่า ในเมืองนี้ที่ยังคงถูกอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมไว้เป็นอย่างดี บวกกับการเดินทางที่สะดวกสบายในปัจจุบันจึงทำให้โอตารุไม่ได้เป็นเพียงเมืองท่าเรือเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมไปโดยปริยาย ซึ่งหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่โด่งดังมากๆ ในปี 2016 อย่างเรื่อง One Day (แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว) ก็ได้มาถ่ายทำที่นี่ นอกจากนี้ยังมีร้านขนมและร้านซูชิชื่อดังจากเมืองนี้หลายร้านได้ไปเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เมืองโอตารุจึงเป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับคนไทยและเป็นจุดหมายปลายทางของหลายๆ คนที่มาเที่ยวญี่ปุ่น และอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นจุดเด่นของโอตารุก็คืออาหารทะเลสดๆ แต่น่าเสียดาย...ที่ฉันไม่ได้ชิม เพราะคนเยอะเหลือเกิน แต่ละร้านมีลูกค้าเต็มทุกร้านและคิวยาวมากเนื่องจากมีเวลาจำกัดจึงได้เพียงเดินชมบรรยากาศและกลืนน้ำลายไปกับสีสันของเมนูอาหารทะเลที่ติดโฆษณาอยู่หน้าร้าน

คลองโอตารุ (Otaru Canal)

บรรยากาศย่านขายของที่ระลึกในโอตารุ

ในที่สุด วันนำเสนองานวิจัยก็มาถึง “11th Sakura Science Symposium -Towards Sustainable Healthy Society with the Concept of Society 5.0” คือธีมการนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ ของโครงการดำเนินไปจนเกือบวันสุดท้ายของโครงการแล้ว แต่ฉันก็ยังตื่นเต้นและไม่มั่นใจกับการนำเสนอด้วยภาษาอังกฤษที่ตัวเองไม่ถนัด แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี แล้วปิดท้ายด้วยการที่พวกเราเหล่านักศึกษาพาอาจารย์ทุกท่านร้องรำทำเพลงด้วยดนตรีของแต่ละประเทศจนถึงวินาทีสุดท้ายของกำหนดการ

นำเสนอ “การเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัยด้วยกิจกรรมทางกาย”

นำเสนอ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุในประเทศไทย”

สิ่งที่ฉันได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ SAKURA Science Exchange Program มากเกินกว่าที่คาดหวังไว้ตอนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่มีหิมะโปรยปรายเกือบทุกวัน กิจกรรมในห้องอบรมที่น่าสนใจและมีประโยชน์มากๆ ผู้คนที่น่ารัก โดยเฉพาะอาจารย์โยชิ และลูกศิษย์ (ฮีนะ และมิโฮ นักศึกษาคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโดที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้) ที่ดูแลผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนอย่างทั่วถึงและอบอุ่นมากๆ รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่นที่เต็มที่กับทุกกิจกรรม ฉันในฐานะผู้ที่ทำงานด้านกิจกรรมทางกายจึงอาสาพาผู้เข้าร่วมโปรแกรมทำกิจกรรมทางกายทุกวันในช่วงพัก (Physical activity break) นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เบ่งบานไม่แพ้ผลลัพธ์ของการเข้าร่วมโครงการนี้คือ “มิตรภาพภายในทีม IPSR” ที่ร่วมเดินทางด้วยกันในครั้งนี้ ซึ่งได้แก่ ฉัน เพื่อนนักศึกษาต่างชาติ 2 คน คือ Abubakar Yakubu Abbani ชาวไนจีเรีย, Pema Yangchan ชาวภูฏาน และรองศาสตราจารย์ ดร. สุรีย์พร พันพึ่ง ซึ่งก่อนเดินทางพวกเราทั้งสี่คนแทบจะไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเพราะเรียนกันคนละรุ่น คนละหลักสูตร แต่ในระหว่างการเดินทางนี้พวกเราได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันไปโดยปริยาย และเพิ่งได้รู้ว่า “อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม 2 สมัย” ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักมากๆ และไม่ถือตัวเลย เพราะนอกจากการเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการแล้ว ท่านยังดูแลพวกเราทั้งสามคนเหมือนลูกและอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการเป็นช่างภาพถ่ายรูปและวีดิโอให้ลูกศิษย์ที่ตื่นเต้นกับหิมะทุกวัน

เพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกว่าฮอกไกโดเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพที่สวยงามในทุกฤดู หวังว่าฉันจะได้มาเยือนที่นี่อีกครั้ง แล้วพบกันใหม่ในฤดูกาลอื่นๆ ณ ฮอกไกโด

เพื่อนๆ ร่วมทริปโอตารุ


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th