The Prachakorn

สงกรานต์: ใบอนุญาตล่วงละเมิดทางเพศ (หรือเปล่า)


ชิษณุพงษ์ สรรพา

10 พฤษภาคม 2567
451



เมื่อ “การล่วงละเมิดทางเพศ” ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาคทางเพศกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของความกังวลในการร่วมเล่นประเพณีสงกรานต์ของคนไทยมากว่า 3 ปี สุดท้ายแล้วสงกรานต์จะกลายเป็นใบอนุญาตล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ แล้วสัญลักษณ์แห่งความดีงามและการเป็นช่วงเวลาในการส่งมอบความปรารถนาดีแก่กันและกันของสงกรานต์หายไปไหน หรือการล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ถูกทำให้ “ปกติ” ไปแล้ว 

“วันนี้วันดีปีใหม่ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ ยิ้มให้กันในวันปีใหม่โกรธเคืองเรื่องใดจงอภัยให้กัน
หมดสิ้นกันทีปีเก่าเรื่องทุกข์เรื่องเศร้าอย่าเขลาคิดมัน ตั้งต้นชีวิตกันใหม่ให้มันสดใสสุกใหม่ทั่วกัน”

(บ้านคนรักสุนทราภรณ์, 2545, ออนไลน์)

เสียงเพลง “รื่นเริงเถลิงศก” บรรเลงเป็นสัญญาณว่า ดวงอาทิตย์ได้โคจรแปรโคจรเข้าสู่ราศีเมษอีกคำรบหนึ่ง บรรดาเสวนาสถานต่างพากันบรรเลงเพลงเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงและกำลังผ่านไปดังเช่นทุกปี พร้อม ๆ กับเพลงนี้ของวงสุนทราภรณ์ บทเพลงซึ่งมาพร้อมกับเทศกาลนี้เสมอ เหมือนเป็นสัญญาณป่าวร้องให้ผู้คนเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมสังสรรค์ระดับชาติอีกครา นอกจากการเฉลิมฉลองเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์แล้ว อีกความพิเศษของปีนี้ คือ เป็นปีแรกแห่งการเฉลิมฉลองในฐานะที่ยูเนสโก UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2567, ออนไลน์)

ในทางกลับกันสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ (2567) ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 จัดทำโดยสวนดุสิตโพล ระบุถึงสาเหตุที่ไม่เล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไม่ต้องการเล่นน้ำเพราะกลัวถูกลวนลามและบางส่วนรู้สึกกลัวเพราะเคยมีประสบการณ์โดนล่วงละเมิดทางเพศถึง ร้อยละ 14.19  นอกจากนี้ เมื่อสอบถามต่อว่าในปี 2567 จะออกไปเล่นสงกรานต์หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 34.13 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ต้องการออกไปเล่นสงกรานต์ เนื่องจากกังวลเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2567, ออนไลน์)

สถิติอันเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ที่ผู้เขียนสามารถค้นคว้าหาได้ในขณะนี้เป็นผลสำรวจจากเครือข่ายหญิงชายก้าวไกล เรื่อง ทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 อายุระหว่าง 10-40 ปี จำนวน 1,793 คน พบว่า ร้อยละ 51.9 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ และถูกรบกวนจากผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ ร้อยละ 14.1 ของกลุ่มตัวอย่างกลับมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ และยอมรับกันได้ น่าตกใจเป็นอย่างมากที่สามารถมองเรื่องราวความรุนแรงเป็นสิ่งปกติได้ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2559, ออนไลน์) ยิ่งไปกว่านั้นผลสำรวจจากนิด้าโพล เรื่อง “เทศกาลสงกรานต์ : การถูกลวนลาม - คุกคามทางเพศ” เมื่อปี 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 8.04 ของกลุ่มตัวอย่างเพศชายเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และ ร้อยละ 11.22 ของกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน (นิด้าโพล, 2566, ออนไลน์) สถิติชุดสุดท้าย คือ ผลสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑลเกี่ยวกับวันสงกรานต์ ในปี 2566 พบว่า ร้อยละ 87.9 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านวาจา อาทิ การแซว หรือการใช้สายตาจ้องมอง ก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดต่อผู้ถูกกระทำ โดยกว่า ร้อยละ 18.2 ของประชาชนที่สำรวจ ไม่อยากให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ (มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, 2566, ออนไลน์)

สถิติจากเทศกาลสงกรานต์เหล่านี้ถือเป็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นการ “ถูกทำให้เป็นปกติ” ในสังคมไทยหรือไม่

ผู้เขียนจึงเกิดคำถามว่า “สังคมแบบใดที่อนุญาตให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ” “วัฒนธรรมแบบใดที่อนุญาตให้ที่ยังคงหล่อเลี้ยงให้พฤติกรรมแบบนี้ยังคงอยู่ในสังคมไทย”  และ “สงกรานต์กลายสภาพเป็นใบอนุญาตแห่งการล่วงละเมิดทางเพศไปแล้วหรือไม่”

ในเบื้องแรก ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “การล่วงละเมิดทางเพศ” ก่อน การล่วงละเมิดทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นเจตนาประสงค์ล่วงเกินทางเพศใน 3 ลักษณะ ได้แก่ การล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจา (Verbal Harassment) การล่วงละเมิดทางเพศผ่านการกระทำที่ไม่ถูกเนื้อต้องตัว/กิริยาท่าทาง (Non-Verbal/Gestural Harassment) และ การล่วงละเมิดทางเพศผ่านการกระทำที่ชัดแจ้ง/สัมผัสร่างกาย (Physical Harassment) (ดวงพร เพชรคง, ม.ป.ป., น.1-2)  

การล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นความรุนแรงทางเพศประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีลักษณะเหมือนกันดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นเช่นเดียวกัน ซึ่งหากวิเคราะห์และพิจารณาตามทฤษฎีความรุนแรงของ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) (1996) ซึ่งชี้ให้เห็นความรุนแรง 3 แบบ (ภาพที่ 1) ประกอบด้วย

  1. Cultural Violence (ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม)
  2. Structural Violence (ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง)
  3. Direct Violence (ความรุนแรงทางตรง/ความรุนแรงทางกายภาพ)

ภาพที่ 1 สามเหลี่ยมความรุนแรงของโยฮัล กัลตุง (Galtung, 1996)

โดยผู้เขียนขอเริ่มจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมความรุนแรงและแตกกิ่งก้านสาขาออกมาเป็นความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างในภายหลัง

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม หมายถึง ศาสนาและอุดมการณ์ ภาษาและศิลปะ วิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์และตรรกศาสตร์ ซึ่งมีส่วนในการรับรอง หนุนเสริม ความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง โดยทำให้ความรุนแรงนั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ปกติ ถูกต้องและชอบธรรมแล้ว (Galtung, 1993, p. 37-79 อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2557, น. 71-72)

ความรุนแรงทางวัฒนธรรมในสังคมไทยยังคงดำรงอยู่ เนื่องด้วยเป็นสังคมที่ยังคงไว้ซึ่งค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมบางอย่างอันมีผลลัพธ์ คือ ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ (สุขุมา อรุณจิต, 2562, น. 176) การปรากฏถึงแนวคิดและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในโครงสร้างทางสังคมไทย เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศ แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเข้าสู่ปี 2567 แล้ว แต่สังคมก็ยังติดกับพันธนาการแห่งวัฒนธรรมอำนาจชายเป็นใหญ่ ที่นับวันยิ่งหยั่งรากลึกและเหนี่ยวรั้งผู้คนในสังคมให้ตกอยู่ในวังวนเหล่านี้        

ภาพที่ 2 โครงสร้างความรุนแรง (พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, 2562)

ภาพที่ 2 ได้แสดงโครงสร้างความรุนแรงที่พัฒนา โดย พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ (2562) ได้กล่าวถึงผลการวิเคราะห์การทำงานของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย ผ่านสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ไว้อย่างน่าสนใจและเห็นเป็นรูปธรรม เพราะเมื่อวัฒนธรรมอำนาจชายเป็นใหญ่อยู่ในระดับที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ได้กำลังทำงานผ่านสถาบันทางสังคมอย่างแยบยล ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันสาธารณสุข สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สถาบันศาสนา และสถาบันสื่อ จากนั้นสถาบันเหล่านี้จึงส่งต่อและมอบใบอนุญาตความรุนแรงให้สามารถดำรงอยู่ใช้ชีวิตต่อไปได้ในสังคมโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ผู้เขียนต้องการชี้ว่า สงกรานต์ กำลังทำหน้าที่อนุญาตส่งต่อความรุนแรงทางวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผ่านพฤติกรรมลวนลามและคุกคามทางเพศ แม้ว่าจะมีประชาชนสูงถึงร้อยละ 92.1 ทราบว่าการลวนลามและคุกคามทางเพศมีความผิดทางกฎหมายอาญาก็ตาม (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2567, ออนไลน์) แต่พฤติกรรมการคุกคามทางเพศสามารถพบได้จนแทบจะกลายเป็นความปกติดาษดื่นในสังคม ซ้ำร้ายในบางกรณียังถูกทำเป็นเหตุการณ์ตลกชวนสังคมขำขันกับสิ่งที่เกิดขึ้น มากกว่าจะตระหนักถึงความรุนแรงที่กำลังทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ด้อยค่าลงไป

อย่างที่กล่าวว่าความรุนแรงทางวัฒนธรรมไม่สามารถมองเห็นได้ชัดและมักซ่อนตัวผ่านสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ซ้ำร้ายวัฒนธรรมความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมยังให้ความชอบธรรมแก่ความรุนแรงอีก 2 ประการ คือ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงทางตรง

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มีความแตกต่างกับความรุนแรงทางตรงที่การไม่ผูกขาดตัวบุคคลหรือผู้ที่กระทำความรุนแรงซึ่งกลายสภาพและมีชีวิตอยู่ในรูปแบบของอำนาจที่ส่งผลให้ไม่เสมอกันและทำให้ให้โอกาสของชีวิตแตกต่างกันไปด้วย (Galtung, 1959, p. 170-171 อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2557, น. 59-62) โดยในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ สุขุมา อรุณจิต (2562) ได้เสนอไว้ 3 ประการ ที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างทางสังคมที่หนุนเสริมความไม่เสมอภาคทางเพศ ดังนี้

  1. ประเด็นมาตรฐานเชิงซ้อนในวัฒนธรรมทางเพศ
  2. ประเด็นสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ และ
  3. ประเด็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม

ทั้ง 3 ประเด็น ต่างมีส่วนช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจชายเป็นใหญ่และลดความสำคัญของเพศสภาพอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคม ผ่านการครอบงำทั้งจากสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ให้มนุษย์ในสังคมมีความคิดและความเชื่อคล้อยตามกันไป ซ้ำร้ายกว่านั้นประเด็นเหล่านี้ยังให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงเหล่านี้อันจะเป็นใบอนุญาตให้ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไป

ความรุนแรงประการสุดท้าย คือ ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงชนิดนี้เป็นความรุนแรงที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งผู้กระทำและผลลัพธ์ของผู้กระทำความรุนแรง โดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงผ่านร่างกายของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เช่น การยิง การฆาตกรรม และการระเบิด เป็นต้น (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2557, น.47) นอกจากความรุนแรงเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำแล้วยังมีส่วนส่งผลกระทบต่อทางด้านสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำด้วย อาทิ การข่มขืนสตรีที่นอกจากความรุนแรงประเภทนี้จะส่งผลกระทบทางด้านร่างกายแล้วยังส่งผลอย่างมากต่อทางด้านจิตใจของผู้ถูกกระทำด้วย (พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, 2559, น. 34)

ทั้งนี้เมื่อมองผ่านสถิติการล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ ทั้งที่มาจากผู้เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศและผู้ที่มีความกังวลว่าจะโดนล่วงละเมิดทางเพศตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้เขียนสามารถอนุมานได้ว่า ผลของสถิติเหล่านี้ล้วนมาจากผลกระทบของความรุนแรงทางตรงที่ผู้ถูกกระทำมีประสบการณ์ทางใดทางหนึ่งมา และถึงแม้ว่าจะไม่มีสถิติอธิบายถึงจำนวนของผู้ถูกกระทำจากการล่วงละเมิดทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างชัดเจน แต่สถิติที่นำเสนอในบทความนี้ ก็พอจะเป็นประจักษ์พยานให้เห็นชัดแจ้งอย่างที่สุดแล้วว่า การล่วงละเมิดทางเพศยังคงอยู่ ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย และกลายเป็น “สิ่งปกติ” (หรือไม่) ในสังคมไทย

จากข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมมานี้ สะท้อนให้เห็นว่า สถิติการล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เฉย  ๆ แต่ล้วนมีเหตุและปัจจัยทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอำนาจชายเป็นใหญ่ ที่หลบซ้อนเร้นในคราบของสังคม และสะท้อนออกมาให้เห็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ทำงานสอดประสานกันอย่างดียิ่ง เพื่อส่งต่อวัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงดำรงอยู่ได้ในสังคมต่อไป วิธีประการหนึ่งในฐานะประชากรธรรมดาในการตัดรากเร้นลึกนี้ออกไปด้วยวิธีง่าย ๆ คือการนิยามความรุนแรงเหล่านั้นให้ได้ ให้ความหมายความรุนแรงเหล่านั้นให้ได้ และรับรู้ต่อความรุนแรงเหล่านั้นให้ได้ พร้อมทั้งไม่วางเฉยต่อสถานการณ์อันจะนำมาซึ่งใบอนุญาตให้ผู้กระทำยังคงกระทำความรุนแรงต่อไปได้ และเผยแพร่ขยายพันธุ์ให้ความรุนแรงนี้ยังคงอยู่ในสังคมต่อไป    

สุดท้ายนี้ “การล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัด เพศ อายุ ชนชั้นทางสังคม และสถานที่ ดังนั้นในฐานะประชาชนผู้หนึ่งในสังคม เราจำเป็นต้องมีทักษะในการรู้เท่าทัน นิยามได้ รู้สึกได้ และจำแนกได้ รวมทั้งต้องไม่วางเฉยต่อความรุนแรงดังกล่าวเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการตัดรากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อันหยั่งลึกในสังคมไทยให้ขาดหายไป เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ดีมีความเป็นธรรมต่อมนุษย์ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกเพียงเครื่องเพศหรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันหากแต่เคารพกันในความเป็นมนุษย์ที่เสมอกันก็เพียงพอ

“ขอให้สุขสันต์ ทั่วกัน เอย เอ๋ย นอย ทิงนองนอย
น้อยหน่อยนอยน้อย หน่อยทิงนองนอย”

(บ้านคนรักสุนทราภรณ์, 2545, ออนไลน์)

 


เอกสารอ้างอิง

  • Johan Galtung. (1996). Peace by Peaceful Means. Wiltshire: Redwood Books.
  • Kalpalata Dutta. Violence Triangle of Johan Galtung in Context of Conflict Theory [Image]. Retrieved from https://www.aihrhre.org/understanding-violence-triangle-johan-galtung-conflict-theory/
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2567, 13 เมษายน). สงกรานต์ 2567 อันตรายซ่อนเร้น ที่อาจมองข้าม. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1122104
  • ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2557). ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • ดวงพร เพชรคง. (ม.ป.ป.). การล่วงละเมิดทางเพศ. สืบค้นจาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw _parcy/download/article/article_20180220093930.pdf
  • บ้านคนรักสุนทราภรณ์. (2545). รื่นเริงเถลิงศก. สืบค้นจาก  http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/lyric/postlyric.asp?GID=584
  • พิมพ์ชนก โรจนันท์. (2567). ทำไมสงกรานต์จึงกลายเป็นเทศกาลแห่งการคุกคามทางเพศ. สืบค้นจาก https://themomentum.co/gender-songkran-sexual-harassment/
  • ภักดี มะนะเวศ. (บรรณาธิการ). (2564). มาตรฐานการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งตามแนวทางการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: อิมเพรส.
  • นิด้าโพล. (2566). เทศกาลสงกรานต์ : การถูกลวนลาม - คุกคามทางเพศ. สืบค้นจาก https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=246
  • มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล. (2566). กิจกรรมรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย สาดสุข เคารพสิทธิ" เนื่องในวันสงกรานต์ ปี 2566. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/3dPDl
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2559). สถิติผู้หญิงกว่า 50% ถูกคนเมาลวนลามช่วงสงกรานต์. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/oUD0C
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2567). “สงกรานต์นี้ ทุกคนต้องปลอดภัย” ลดความสูญเสียจากความเมาไม่ได้สติ. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/9cK6o
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2566). สงกรานต์ปลอดภัย สาดสุข เคารพสิทธิ. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/zGWsp
  • สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2567). นายกฯ ยินดี UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/75748
  • สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2567). รัฐบาล ขอความร่วมมือ ปชช. ร่วมรณรงค์เล่นสงกรานต์ปลอดภัยสังคมไทยเคารพสิทธิ ให้เกียรติ หยุดฉวยโอกาส คุกคามทางเพศ ลดความรุนแรงทุกรูปแบบตลอดเทศกาลสงกรานต์ 2567. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/81629
  • สุขุมา อรุณจิต. (2562). รายงานผลสืบเนื่องการสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสการสถาปนาคณะสังคมศาสตร์ มธ. ปีที่ 65 (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์.

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th