The Prachakorn

สันติภาพเริ่มต้นจากครอบครัว


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

21 สิงหาคม 2563
311



เมื่อ “เสรีภาพ สันติภาพ และภราดรภาพ” เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องจากสังคมในยุคนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปว่า แล้วในครอบครัว พวกเขาได้รับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ พวกเขาได้รับการเลี้ยงดูและฝึกระเบียบวินัยจากครอบครัวอย่างไร  

โครงการ “ยุวชนนิเวศน์ของประชากรรุ่นซี-แอลฟาในประเทศไทย (Child Ecology of Thai Z-alpha Generation)”  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเก็บข้อมูลใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และ สุราษฎร์ธานี จากกลุ่มตัวอย่างเด็กซี-แอลฟา อายุ 6-14 ปี หรือ เด็กที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2533-2547 และ ผู้ดูแลเด็ก จำนวน 957 ครัวเรือน 

ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า เด็กส่วนมากมีประสบการณ์ถูกปฏิบัติ หรือถูกกระทำต่อร่างกายจากสมาชิกในครอบครัว 

หากสังคมมีบรรทัดฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง และถือว่าการกระทำทางร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติแล้ว “เด็ก” ในฐานะประชากรคนหนึ่ง จึงไม่สมควรได้รับการปฏิบัติแบบนั้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า 3 ใน 4 ของเด็กที่มีอายุ 6-14 ปี (74%) เคยโดนตีจากสมาชิกในครอบครัว ตัวเลขนี้อาจไม่ได้สร้างความประหลาดใจนัก เพราะสังคมไทยถือคติว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ดังนั้น การตีเด็กเพื่ออบรมสั่งสอนเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในสังคมไทย 

การปฏิบัตินี้สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่า ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กส่วนมาก (71%) จะอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมพฤติกรรมที่เด็กทำจึงไม่ถูกต้องเวลาที่เด็กประพฤติตัวไม่ดี ในทางกลับกัน มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง (29%) ที่มักไม่ได้อธิบายเหตุผลให้แก่เด็ก นอกจากนี้ยังพบการตีเด็กซ้ำ ๆ อย่างรุนแรงในหลาย ๆ ครอบครัว

ภาพ: ปรับจาก https://www.canva.com/

1 ใน 3 ของเด็กที่มีอายุ 6-14 ปี (33%) เคยถูกตีซ้ำ ๆ อย่างรุนแรง ในจำนวนนี้พบว่า ผู้ดูแลส่วนมาก (68%) มักตะโกนหรือแผดเสียงใส่เด็ก เวลาที่เด็กทำผิด ฉะนั้นการลงโทษอย่างรุนแรงกับเด็กและการตีซ้ำ ๆ มักเป็นการกระทำที่ใช้อารมณ์มาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่น่าจะเป็นการลงโทษที่พึงกระทำต่อเด็ก เพราะเป็นการสร้างรอยแผลในใจเด็กให้บอบช้ำ และสร้างประสบการณ์การตอบสนอง หรือการแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งเด็กเรียนรู้และจดจำวิธีการกระทำของผู้ใหญ่ และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในชีวิตของพวกเขาเองในอนาคต ดังนั้นทัศนคติที่ยอมรับการใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้บุคคลรอบข้างจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล  

เด็กที่มีอายุ 6-14 ปี ส่วนมาก (60%) คิดว่า การตีเป็นการลงโทษที่เหมาะสม การยอมรับการลงโทษด้วยการตีสะท้อนความคิดของพวกเขาว่า การใช้ความรุนแรงของผู้ใหญ่หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถใช้โต้ตอบหรือแก้ปัญหาได้ 

... เราจะยอมรับทัศนคตินี้ได้หรือไม่ ? ... 

การเลี้ยงดูเด็กและการฝึกระเบียบวินัยให้แก่พวกเขาเกิดขึ้นในหน่วยทางสังคมที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “ครอบครัว” ประสบการณ์วัยเด็กที่เรียนรู้จากบ้าน จะถูกสะสมไว้ และนำออกมาใช้เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น 

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องเปลี่ยน ... การเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนอย่างสร้างสรรค์ เอาใจใส่ และรับฟังพวกเขามากขึ้น โดยสร้างโอกาสให้พวกเขาได้คิดอย่างมีเหตุมีผล และโต้ตอบอย่างเป็นมิตร ย่อมมีส่วนสำคัญในการสรรสร้างสังคมให้แข็งแรง       

เด็กสมควรได้รับสิทธิและการปฏิบัติเช่นเดียวกับมนุษย์คนหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เด็กควรได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ และมองพวกเขาเป็นบุคคลสำคัญ ที่จะนำพาอนาคตชาติ การลงโทษด้วยการกระทำต่อร่างกายอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวดและเกรงกลัวต่อการทำผิด แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเด็กรู้สึกละอายต่อการทำผิดเพราะเข้าใจว่า สิ่งนั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไร การไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพื่อโต้ตอบเด็กจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบตัว 
ติดตามอ่านงานวิจัยเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ เปิดบ้านซี-แอลฟา ได้ที่ 

Download
 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th