The Prachakorn

ตบมือหรือปรบมือ


วรชัย ทองไทย

08 ตุลาคม 2564
2,425



ตบมือหรือปรบมือ (clap) คือ การนำฝ่ามือสองข้างมากระทบกัน เพื่อให้เกิดเสียงดัง ความดังของเสียงขึ้นอยู่กับความแรงของการตบมือ ถ้าตบมือแรงขึ้นเสียงก็จะดังขึ้น แต่ถ้าตบมือค่อยลง เสียงก็จะเบาลง ลักษณะของฝ่ามือสองข้างที่กระทบกัน ย่อมส่งผลให้เสียงตบมือแตกต่างกันไปด้วย

การตบมืออย่างเร็วและซ้ำๆ กัน เป็นแสดงความยินดี ความชื่นชม การยอมรับหรือขอบคุณ ซึ่งเราเรียกว่า “ปรบมือให้” (applaud) ส่วนการตบมือเป็นจังหวะจะใช้ในการเล่นดนตรี เต้นรำ สวด และการละเล่น สำหรับดนตรีที่ใช้การตบมือเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ เพลงพระกิตติคุณ (gospel music) อันเป็นเพลงสวดในศาสนาคริสต์ ดนตรีฟลาเมงโก (flamenco) อันเป็นดนตรีเต้นรำพื้นเมืองของสเปน

นอกจากมนุษย์แล้ว ลิงอุรังอุตัง กอริลล่า และชิมแปนซี ก็รู้จักตบมือเช่นกัน โดยมันจะตบมือเมื่อเกิดความกลัว หรือเพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น เมื่อพบอาหาร อย่างไรก็ตามมีแต่มนุษย์เท่านั้น ที่รู้จักตบมือเพื่อแสดงความสุขหรือปรบมือให้

การปรบมือให้เป็นพฤติกรรมที่ต้องเรียนรู้ (พฤติกรรมเลียนแบบ) ซึ่งมักจะได้รับการสอนจากพ่อแม่โดยตรงหรืออ้อม โดยทั่วไปเด็กทารกจะรู้จักตบมือตั้งแต่อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ อันเป็นการตบมือที่ทำให้เกิดเสียงเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อใช้มือสองข้างตีกัน แต่ถ้าไม่ได้รับการสอนต่อจากพ่อแม่แล้ว เด็กก็จะลืมเลือนไป และจะไม่รู้จักการตบมือให้เพื่อแสดงความชื่นชม

มีผู้รู้กล่าวว่า "การปรบมือให้" เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยมนุษย์รู้จักการเข้าสังคม เมื่อมนุษย์นั่งล้อมกองไฟเพื่อฟังการเล่านิทาน หรือในงานเฉลิมฉลอง อันเป็นจุดกำเนิดของการตีกลอง การกระทืบเท้า รวมทั้งการปรบมือให้ (ดังภาพ)

ภาพวาด Relief of Clapping Women บนหินปูนสมัย 2051-2000 ปีก่อนคริสตกาล
ที่มา: https://www.metmuseum.org/art/collection/search/591291 สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2564

ผู้ชมจะปรบมือให้ในขณะที่ชมการแสดงต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา ฟังปาฐกถา ชมการแสดงละครหรืออุปรากร (opera) ผู้เข้าชมการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตมักจะปรบมือให้ เพื่อแสดงการต้อนรับเมื่อนักดนตรีขึ้นเวที และจะปรบมือให้อีกครั้ง เพื่อแสดงความชื่นชมเมื่อจบรายการ

ในการปรบมือให้นั้น จำนวนครั้งที่แต่ละคนปรบมือจะอยู่ระหว่าง 2.5 ถึง 5 ครั้ง ต่อ 1 วินาที ส่วนความยาวของการปรบมือให้จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในการแสดง ถ้าผู้ชมชอบการแสดงมากก็อาจส่งเสียงตะโกนว่า "บราโว” (bravo) พร้อมกันไปด้วย หรือถ้าผู้ชมปรบมือให้ด้วยเสียงอันดังและยาวนาน รวมทั้งยืนขึ้นด้วย เราเรียกว่า โอเวชั่น (ovation)

ผู้แสดงในสมัยกรีกและโรมันต้องการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสดง จึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้แสดงความรู้สึกออกมาอย่างเสรี ดังเช่น ผู้ชมชาวกรีกจะแสดงความพอใจด้วยการส่งเสียง กระทืบเท้า รวมทั้งปรบมือให้ ส่วนผู้ชมชาวโรมัน นอกจากจะปรบมือให้แล้ว ยังใช้การดีดมือ โบกผ้า หรือโบกนิ้วหัวแม่มือด้วย ในทางตรงกันข้าม ผู้ชมชาวกรีกจะปาก้อนหินหรืออาหารถ้าไม่ชอบการแสดง ส่วนผู้ชมชาวโรมันจะส่งเสียงเย้ยหยันหรือปาสิ่งของ  

การสนับสนุนให้ผู้ชมแสดงความรู้สึกออกได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดมี ”หน้าม้าคอยเชียร์” (claque) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เข้าชมที่รับจ้างปรบมือให้ หรือโห่ฮาป่าในโรงละครอุปรากร เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ชมอื่นๆ ทำตาม อันจะส่งผลให้การแสดงอุปรากรประสพผลสำเร็จหรือล้มเหลวได้

อย่างไรก็ตาม หน้าม้าคอยเชียร์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยที่มีการแสดงละครอุปรากร (ปลายคริสตวรรษที่ 16) เท่านั้น แต่ได้มีมาแต่สมัยโรมัน (กว่า 700 ปีก่อนคริสตกาล) ตัวอย่างเช่น จักรพรรดิเนโร (Emperor Nero) ผู้ต้องการได้รับเสียงปรบมือให้จากผู้ชม จะสั่งให้ทหารกระจายอยู่ในกลุ่มผู้ชม เพื่อคอยส่งเสียงเชียร์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

การสนับสนุนให้ผู้ชมปรบมือให้กับการแสดง เริ่มลดลงเมื่อปลายคริสศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบันผู้แสดงดนตรีคอนเสิร์ต บัลเลต์ หรืออุปรากร ต้องการความเงียบ ทำให้ผู้ชมต้องเรียนรู้ว่า ควรปรบมือให้ในช่วงไหนได้บ้าง ไม่เช่นนั้นจะถูกผู้เข้าชมด้วยกันมองเอาได้

สิ่งตรงกันข้ามกับการปรบมือให้ คือ โห่ (boo) ซึ่งเป็นการส่งเสียงแสดงความไม่พอใจต่อผู้แสดงดนตรี อุปรากร ละคร หรือผู้เล่นกีฬา รวมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้แสดงปาฐกถา ปัจจุบันเรามักจะไม่ค่อยเห็นการโห่ ยกเว้นในกรณีการแข่งขันกีฬา เพราะถือกันว่าไม่สุภาพ โดยผู้ชมที่ไม่ชอบการแสดงจะงดตบมือ หรือไม่ก็ตบมืออย่างช้าๆ แทน  

การตบมือได้ถูกนำมาใช้ทางการเมืองในสาธารณรัฐเบลารุส (Republic of Belarus) เพื่อแสดงการประท้วงแบบอหิงสาต่อประธานาธิบดี Alexander Lukashenko ที่เป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นวันประกาศอิสรภาพ ได้มีกลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 3,000 คน รวมตัวกันที่จตุรัสหลักในเมืองหลวง และทำการประท้วงด้วยการตบมืออย่างพร้อมเพียงกัน แทนการตระโกนคำขวัญโฆษณา (slogan) หรือชูป้ายโฆษณา อันมีผลให้ถูกตำรวจจับตัวไปหลายราย
ดังนั้น ใน พ.ศ. 2556 รางวัลอีกโนเบล สาขาสันติภาพ จึงถูกมอบ (ยัดเยียด) ให้กับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเบลารุส ผู้ประกาศให้การตบมือในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และตำรวจที่จับชายแขนเดียวด้วยข้อหาดังกล่าว

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย "ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด"


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “ตบมือหรือปรบมือ” ใน ประชากรและการพัฒนา 37(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2559: 8

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th