The Prachakorn

ภาษากฎหมาย


วรชัย ทองไทย

02 พฤษภาคม 2566
322



ภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ จึงมีการเจริญเติบโตไปพร้อมกับมนุษย์ เมื่อสังคมมนุษย์ได้พัฒนาจนมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีการแบ่งงานออกเป็นหลายอาชีพ และการทำงานในหลากหลายสาขาวิชาการมากขึ้น จึงทำให้มีการคิดคำศัพท์ต่างๆ ขึ้น เพื่อใช้ในวงการของตนเองคือ ศัพท์เฉพาะวงการ (jargon) รวมทั้งภาษาเฉพาะวงการ

ศัพท์เฉพาะวงการคือ คำที่ใช้ในคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น วัยรุ่น ศิลปิน นักธุรกิจ นักบัญชี นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย ซึ่งคำศัพท์จะมีความหมายแตกต่างไปจากพจนานุกรม หรือคำที่คนทั่วไปใช้กันอยู่

ศัพท์เฉพาะวงการนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา และไม่อ้อมค้อม แต่อาจเกิดจากความต้องการที่จะไม่ให้คนกลุ่มอื่นรู้ก็ได้

เมื่อคนในวงการเริ่มใช้ศัพท์เฉพาะวงการที่แตกต่างไปจากศัพท์ทั่วไป ก็จะเกิดภาษาเฉพาะวงการขึ้น เช่น ภาษากฎหมาย อันเป็นภาษาเฉพาะที่ใช้ในหมู่นักกฎหมาย เช่น นิติกร ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา

การตัดสินข้อพิพาททางกฎหมาย ท้ายที่สุดแล้วจะอยู่ในมือของผู้พิพากษา เมื่อผู้พิพากษาได้ข้อสรุปพร้อมที่จะตัดสินคดีความแล้ว ก็จะอ่านคำพิพากษา เมื่ออ่านจบก็จะใช้ค้อน (ดูรูป) เคาะบนที่วางค้อน เพื่อบอกว่าคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด อันมีผลให้ค้อนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกฎหมาย

รูป ค้อนบนรายงานการประชุมของศาล
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Gavel#/media/File:CourtGavel.JPG
สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2566

กฎหมายคือ ชุดของกฎเกณฑ์ ที่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความสงบและความปลอดภัยของสังคม จึงจำเป็นต้องมีรายละเอียด มีความชัดเจน ครอบคลุม และรัดกุม เพื่อให้สามารถนำไปปฎิบัติตามได้ ภาษากฎหมายจึงได้พัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์นี้

การเขียนทางกฎหมายเป็นเรื่องของการวิเคราะห์แบบแผนข้อเท็จจริง และการนำเสนอข้อโต้แย้ง โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
    1. การเขียนวิเคราะห์โต้แย้งข้อกฎหมาย ทั้งในด้านสนับสนุนและคัดค้าน
    2. การเขียนโน้มน้าวและสนับสนุนจุดยืนทางกฎหมาย
    3. การเขียนเอกสารทางกฎหมาย ได้แก่ สัญญา และพินัยกรรม

การเขียนทางกฎหมายมีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ อำนาจ แบบอย่าง คำศัพท์ และความเป็นทางการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
    - อำนาจ การเขียนทางกฎหมายจะมีการอ้างถึงอำนาจของรัฐ โดยนำข้อความของผู้มีอำนาจมากล่าวสนับสนุน และใชัระบบการอ้างอิงเฉพาะ   
    - แบบอย่าง การเขียนทางกฎหมายให้ความสำคัญกับแบบอย่างพอๆ กับอำนาจ โดยที่แบบอย่างจะหมายถึง สิ่งที่เคยทำมาก่อนแล้วประสบความสำเร็จ ดังเช่น ทนายความที่เคยเขียนสัญญาเป็นประจำ มักจะนำสัญญาเก่ามาดัดแปลงใช้กับสัญญาใหม่ หรือทนายความที่ยื่นคำร้องให้ยกฟ้องสำเร็จ ก็มักจะนำคำร้องนั้นมาเป็นแบบในการเขียนคำร้องใหม่ นอกจากนี้นักกฎหมายส่วนใหญ่จะใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูป ในการเขียนสัญญาและพินัยกรรม  
    - คำศัพท์ การเขียนทางกฎหมายจะใช้คำศัพท์ทางเทคนิค 4 ประเภทคือ
                1. คำและวลีพิเศษเฉพาะทางกฎหมาย เช่น โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ ฎีกา นิติกรรม
                2. คำสามัญที่มีความหมายต่างออกไปในทางกฎหมาย เช่น วรรค ละเมิด ประมาท
                3. คำศัพท์โบราณที่ปัจจุบันจะมีอยู่ใช้อยู่ในการเขียนทางกฎหมายเท่านั้น เช่น ท่านว่า
                4. คำและวลีที่ยืมมาจากภาษาอื่น  
    - ความเป็นทางการ การเขียนทางกฎหมายที่เป็นทางการคือ ประโยคที่ยาว โครงสร้างที่ซับซ้อน ใช้คำศัพท์ทางการที่โบราณ และมุ่งแต่เนื้อหาจนลืมผู้อ่าน

นักกฎหมายอาจเห็นว่า การเขียนทางกฎหมายเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องการให้ครอบคลุมเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในทุกสถานการณ์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ดี ก็ควรที่จะร่างเฉพาะกรณีไม่คาดฝันที่ทราบในปัจจุบัน ที่มีความเป็นไปได้ และคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผลเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น เมื่อต้องการถ่ายทอดเนื้อหาทางกฎหมายไปยังคนทั่วไป สิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลุมเครือ อันเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจของผู้อ่าน

ดังนั้น การใช้ภาษาคนธรรมดาแทนภาษากฎหมายหรือภาษาเฉพาะวงการอื่นๆ จึงควรได้รับการสนับสนุนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจข้อความที่ต้องการสื่อสารได้อย่างถูกต้องตรงกัน

ในสังคมไทยที่ภาษาคนธรรมดาคือภาษาไทย นักวิชาการจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษหรือคำทับศัพท์ (เขียนภาษาต่างประเทศด้วยอักษรไทย) ในการสื่อสารกับคนทั่วไปด้วยเช่นกัน โดยสามารถค้นหาคำแปลได้จาก “ศัพท์บัญญัติสำนักงานราชบัณฑิตสภา” (https://coined-word.orst.go.th/ สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2566) หรือจาก "ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม" (http://www.popterms.mahidol.ac.th/Popterms/index.php สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2566)

ในปี 2565 รางวัลอีกโนเบล สาขาวรรณคดี มอบให้แก่นักวิจัยจากแคนนาดา สหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักร (Eric Martínez, Francis Mollica และ Edward Gibson) ที่ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้เอกสารทางกฎหมายเข้าใจยากโดยไม่จำเป็น

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้หัวเราะก่อนได้คิด


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “ภาษากฏหมาย” ใน ประชากรและการพัฒนา 43(4) เมษายน-พฤษภาคม 2566: 8

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th