The Prachakorn

การวิเคราะห์เปรียบเทียบการออกและดำเนินนโยบายเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล (ปี 2559-2562) ใน 16 ประเทศ


สิรินทร์ยา พูลเกิด

25 มีนาคม 2565
423



บทความนี้เป็นผลการศึกษาของโครงการวิจัยชื่อ “Diffusion of policy innovation for NCD prevention: SSB taxes” ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัยจาก University of Sydney ประเทศ Australia ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในหลายประเทศ เช่น Dickinson College ประเทศสหรัฐอเมริกา, Kebangsaan Malaysia ประเทศ Malaysia, มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย และ King Saud University ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและแบบแผนของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการการออก (adoption) และดำเนิน (implementation) นโยบายเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลและการเรียนรู้นโยบาย (policy learning) ของแต่ละประเทศที่มีนโยบายนี้ เพื่อใช้เป็นบทเรียนสำหรับประเทศที่ต้องการใช้นโยบายทางภาษีนี้ในอนาคต โดยใช้วิธีศึกษาเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลจากเอกสารนโยบายและทางสื่อสาธารณะ รวมถึงเก็บข้อมูลทางสถิติของแต่ละประเทศร่วมด้วย โดยแนวทางการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลถูกพัฒนาขึ้นอิงตามทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation: DOI) และทฤษฎีเกี่ยวกับ policy learning 

ผลการศึกษาพบว่า แนวทางที่ใช้เก็บภาษีในเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในแต่ละประเทศมีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทและมีความหลากหลายแตกต่างกันไป โดยนโยบายนี้มุ่งเป้าสนับสนุนประเด็นทางสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางที่สาธารณะชนให้การสนับสนุน ทั้งเรื่องการช่วยลดโรคอ้วนหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเพิ่มรายได้เข้ารัฐ และการช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ได้มีการคัดค้านการเก็บภาษีฯ โดยยกประเด็นรูปแบบการเก็บที่เป็นลักษณะภาษีถดถอย ที่อาจทำให้เกิดภาระมากขึ้นสำหรับคนที่ยากจนมากกว่าคนรวย ความไม่สอดคล้องของนโยบายนี้กับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจอื่นๆ ของประเทศ และการชี้ให้เห็นว่า การเก็บภาษีฯ มีผลดีต่อสุขภาพอย่างจำกัดและส่งผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมอาหาร 

ผลการศึกษายังพบว่า เครือข่ายการแพร่กระจาย (diffusion networks) ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายนี้ ได้รวมองค์การอนามัยโลก (มีบทบาทสำคัญอย่างมากในประเทศรายได้ปานกลาง) และองค์กรด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ การเรียนรู้นโยบายของแต่ละประเทศ เพื่อการผลักดันนโยบายฯ มาในรูปของการอ้างอิงถึงการใช้มาตรการเก็บภาษีในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์กรด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน และประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่กำลังวางแผนออกนโยบายเก็บภาษีฯ ซึ่งการออกนโยบายนี้ให้สำเร็จได้ ควรดำเนินการผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ นำโดยภาคสุขภาพ และพิจารณาบริบทด้านเศรษฐกิจร่วมด้วย รวมทั้งใช้กรอบการขับเคลื่อนที่มุ่งเป้าไปที่ประเด็นสุขภาพเป็นหลักภายใต้การการสร้างพันธมิตรข้ามภาคส่วนให้ช่วยกันขับเคลื่อน และการพัฒนาระบบติดตามและรายงานผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและเข้มแข็ง 


ที่มา: Mulcahy G, Boelsen-Robinson T, Hart AC, Pesantes MA, Sameeha MJ, Phulkerd S, Alsukait RF, Thow AM. (2022). A Comparative Policy Analysis of the Adoption and Implementation of Sugar-Sweetened Beverage Taxes (2016-2019) in 16 Countries, Health Policy and Planning, czac004, https://doi.org/10.1093/heapol/czac004
 
 
  



CONTRIBUTOR

Related Posts
รางวัลล้อเลียน

วรชัย ทองไทย

กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

นอนกี่ชั่วโมงคือเพียงพอ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th