The Prachakorn

โลกจับตาญี่ปุ่นแก้ปัญหาวิกฤตสูงวัย


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

28 ธันวาคม 2563
344



ญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤตสังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นจึงถูกจับตามองเพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ผู้นำญี่ปุ่นริเริ่ม

ปี 2020 ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากร 126 ล้านคน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด (ร้อยละ 34.3) อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของชายและหญิงชาวญี่ปุ่น คือ 81.9 และ 88.1 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า สหประชาชาติคาดว่าจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มถึงร้อยละ 42.3

การสูงวัยของประชากรจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยจะทำให้ GDP ลดลงด้วยอัตราร้อยละ 1 ในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ด้วยสาเหตุการขาดแคลนแรงงานที่จะมาทดแทนประชากรวัยแรงงานที่ค่อยๆ เกษียณอายุ อันเนื่องมาจากอัตราเกิดต่ำ

ภาพผู้สูงอายุเป็นพนักงานส่งของในโตเกียว

ที่มา: https://www.japantimes.co.jp/opinion/2019/11/19/commentary/japan-commentary/economic-challenge-japans-aging-crisis/

โดยทั่วไปค่าแรงของชาวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ทำงาน แต่เนื่องจากมีแรงงานสูงอายุมากขึ้น จึงกระทบต่อการเลื่อนตำแหน่งซึ่งเป็นแรงจูงใจในการทำงานของคนหนุ่มสาว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ จึงเสนอ Womenomics โดยกดดันให้บริษัทเพิ่มค่าจ้างและตำแหน่งสำคัญในองค์กร เพื่อจูงใจให้ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน

คนญี่ปุ่นส่วนมากมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ที่ต่อต้านแรงงานข้ามชาติ อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะจึงริเริ่มกำหนดประเภทวีซ่าใหม่ เพื่อควบคุมแรงงานในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนักก่อน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศต้นทางที่เป็นเป้าหมายแรงงานที่ต้องการ ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน โดยเฉพาะภาคการดูแลสุขภาพ (Care-giving sector)

สหประชาชาติแนะนำให้ญี่ปุ่นขยายอายุเกษียณเป็น 77 ปี เพื่อรักษาอัตราส่วนของประชากรวัยแรงงานและผู้เกษียณอายุ ประชากรรุ่นใหม่จึงไม่อาจหวังที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างที่ประชากรรุ่นก่อนได้รับหลังเกษียณ พวกเขาต้องทำงานอย่างยาวนานกว่าจะได้หยุดพักหรืออาจเสียชีวิตไปเสียก่อน แถมยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการดูแลประชากรสูงอายุอีกด้วย ท่านอาเบะจึงพยายามจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ การเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate-TFR) จาก 1.43 คน ในปี 2017 เป็น 1.8 คน ในปี 2025 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะปีนี้สตรีชาวญี่ปุ่นมีบุตรโดยเฉลี่ย (TFR) ลดลงเหลือเพียง 1.36 คนเท่านั้น

ประเทศไทยคงต้องจับตาดูวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตสูงวัยของญี่ปุ่น ว่าจะขยายอายุเกษียณ หรือ ปรับมาตรการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ หรือ จะเพิ่มอัตราเกิดซึ่งกระทบกับแรงงานสตรี แนวทางหลังนี้ทำให้ผู้หญิงเป็นความหวังที่จะผ่านวิกฤตไปได้ เพราะนอกจากต้องมีลูกคุณภาพแล้ว ยังต้องทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจด้วย บทความนี้จึงขอส่งกำลังใจให้แก่ผู้หญิงและคุณแม่ทุกคนค่ะ

แหล่งข้อมูล: United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division. 2019. “World Population Prospects 2019”.           

 

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
Long Stay สุขใจในต่างถิ่น

ณัฐณิชา ลอยฟ้า

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th