ผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความ “อาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ” และ “หมอในเรือนจำ” บทความนี้เป็นบทความที่เขียนถึงการดูแลด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ ด้วยผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์วัณโรคในเรือนจำ ดังนั้นบทความนี้จึงเกี่ยวกับการดูแลและป้องกันวัณโรคในกลุ่มผู้ต้องขัง
วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง (โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, 2564) ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น เชื้อวัณโรคติดต่อได้ โดยการหายใจรับเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอากาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม บ้วนน้ำลาย ขากเสมหะ หรือการพูด เชื้อวัณโรคที่ตกลงสู่พื้นหรือติดอยู่กับผิวสัมผัสของวัตถุอื่นๆ จะถูกทำลายไปได้ง่ายโดยแสงสว่างและอากาศที่ถ่ายเทสะดวก วัณโรคสามารถรักษาได้ด้วยการกินยารักษาวัณโรค โดยผู้ป่วยวัณโรคมีระยะเวลาในการรักษาทั้งหมดประมาณ 6 เดือน โดย 2 เดือนแรกผู้ป่วยต้องรับประทานยา 4 ชนิด หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อครบ 2 เดือนแรก แพทย์จะตรวจเสมหะหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำ หากมีการตอบสนองที่ดีแพทย์จะลดยาเหลือ 2 ชนิด และให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือน ผู้ป่วยวัณโรคหากกินยาครบตามแพทย์สั่งสามารถหายขาดได้
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลในเรือนจำและได้สัมภาษณ์ “น้องซี” นามสมมุติ ผู้ต้องขังหญิงที่เคยมีประสบการณ์อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคภายในเรือนจำ ซึ่งแม้ตนเองจะไม่เคยป่วยเป็นวัณโรค แต่ได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างมั่นใจ
“วัณโรคไม่ได้น่ากลัว ถ้าเรารู้วิธีป้องกันและดูแลตัวเอง” ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำแห่งหนึ่ง
น้องซีเล่าว่า เธอเคยอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ป่วยเป็นวัณโรค หลังจากได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและกลับมาอยู่ในเรือนจำ ผู้ป่วยรายนั้นต้องแยกอยู่ในห้องกักพิเศษเป็นระยะเวลาประมาณกว่า 2 เดือน (ระยะแพร่เชื้อ) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค ในการดูแลด้านสุขอนามัย เช่น ภาชนะที่ใช้รับประทานอาหารจะมีการแยกภาชนะ และมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลการกินยาให้ครบตามจำนวนเม็ดยาโดยอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) มีตรวจเป็นระยะๆ ในช่วง 6-8 เดือน เมื่อครบกำหนดและผลการตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคแล้ว จึงสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้ต้องขังอื่นได้ตามปกติ
แม้การอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรคอาจทำให้หลายคนรู้สึกกลัว แต่น้องซีกล่าวว่า เธอไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวมากนัก เพราะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัณโรค รู้วิธีป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง เช่น การใส่หน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุราและสารเสพติด
“ถึงแม้หนูจะตัวอ้วน แต่หนูออกกำลังกายสม่ำเสมอ หนูดูแลสุขภาพดีค่ะ” ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำแห่งหนึ่ง
น้องซีให้ข้อมูลว่า หลายคนอาจกลัววัณโรคเนื่องจากเป็นโรคติดต่อและอาจเกิดจากการขาดความรู้ รวมถึงมักได้รับรู้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาตั้งแต่เด็ก เช่น การเข้าใจว่าวัณโรคเป็นโรคร้ายแรงที่ไม่มีทางรักษาหาย ตีตราตนเองกลัวเพื่อนรังเกียจ หรือจะต้องถูกรังเกียจและถูกกีดกันทางสังคม หากประเทศไทยมีระบบในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค มีการสื่อสารให้ความรู้ที่ชัดเจน และมีการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน น่าจะช่วยลดความกลัวและการรังเกียจ รวมถึงการถูกกีดกันจากชุมชนได้
น้องซีให้ข้อมูลว่า ในเรือนจำมีการให้ความรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านวิดีโอการ์ตูนที่ดูแล้วเข้าใจง่าย เหมาะกับผู้ต้องขังรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษ
“มีคลิปวิดีโอเกี่ยวกับวัณโรค สุขภาพปอด การป้องกัน และการรักษา มาให้ดูเป็นประจำ ทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้น และรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป” ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำแห่งหนึ่ง
สำหรับการคัดกรองวัณโรคในเรือนจำมีความต่อเนื่องมาตลอด เพราะเป็นหนึ่งโรคที่ต้องคัดกรองให้กับผู้ต้องขังใหม่ทุกราย นอกจากวัณโรคจะคัดกรองในผู้ต้องขังใหม่ทุกรายแล้ว ยังมีโครงการคัดกรองทุก 3-6 เดือนด้วย โดยมีรถ X-ray เคลื่อนที่เข้ามาตรวจคัดกรองให้ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมถึงมีการตรวจเสมหะในกรณีที่ผู้ต้องขังมีอาการไอต่อเนื่องด้วย เพื่อต้องการแยกผู้ป่วยวัณโรคออกมารักษาได้ทันท่วงที
บริการด้านส่งเสริมสุขภาพในผู้ต้องขัง จะมีบริการตรวจฟันโดยทันตแพทย์ ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ และการตรวจสุขภาพอื่นๆ จาก “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข” เข้ามาบริการในเรือนจำเป็นประจำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขังภายในเรือนจำ เริ่มมีการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น
“ใครอยากตรวจ ก็เช็คเป็นรายชื่อออกมา กรณีตรวจฟันนะคะ แต่ x-ray ปอด บังคับ ต้องตรวจทุกคนต้องตรวจทุก 3 เดือน 6 เดือน ใครเป็นอะไรก็ส่งต่อไปรักษา มีไอต่อเนื่อง ก็จะมีตรวจตั้งหาก ก็จะตรวจเป็นเสมหะ เป็นน้ำลาย เป็นตั้งหากไปเลย เขาก็จะทำกิจกรรม นอกจากเราสังเกตตัวเองแล้ว เราก็ต้องสังเกตคนข้างๆ ด้วย เพราะบางทีคนแก่เขาไม่รู้เนอะ ว่าทำไมเขาถึงไอ เขาคิดว่าเขาเป็นหวัดอะไรแบบนี้ นอกจากเราสังเกตตัวเอง เราก็สังเกตเขาด้วย เขาก็ช่วยกันไปทั้งหมดค่ะ”
ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำแห่งหนึ่ง
แม้น้องซีจะยังไม่ได้รับบทบาทอย่างเป็นทางการในฐานะ “อสรจ.” หรืออาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ แต่เธอมีความตั้งใจที่จะเป็นแกนนำในการให้ความรู้และถ่ายทอดเรื่องราวด้านสุขภาพให้แก่เพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง และคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ซึ่งเธอสามารถสื่อสารเป็นภาษาชนเผ่า “รีซอ” ได้ จึงช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ต้องขังที่เป็นชนเผ่าหรือชนกลุ่มน้อยได้อีกด้วย
น้องซีทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัณโรคและด้านสุขภาพทั้งหมดในเรือนจำ ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อช่วยดูแลผู้อื่น แต่ยังเป็นการป้องกันตัวเองด้วย โดยเฉพาะวัณโรคสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากเรามีความรู้ ความเข้าใจ และมีการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคได้อย่างปลอดภัย และปราศจากอคติ นอกจากนี้เมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ความรู้ยังคงติดตัวและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลคนในครอบครัวได้อีกด้วย
ทั้ง 3 บทความ คือ “หมอในเรือนจำ” “อาสาสมัครในเรือนจำ” และ “ผู้ต้องขังในเรือนจำ” เป็นบทความที่ผู้เขียนหวังใจว่า จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านได้เปิดมุมต่างๆ ในการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำได้มากขึ้น
กิตติกรรมประกาศ ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ผู้บัญชาการเรือนจำ พยาบาลเรือนจำ ผู้ต้องขัง อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ รวมถึงเจ้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าไปเก็บข้อมูลในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำมา ณ ที่นี้
เอกสารอ้างอิง
โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์. (2564). กินยาให้ครบวัณโรคหายขาด. สืบค้นจาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/475