The Prachakorn

แรงงานเด็ก … โลกด้านมืด


อมรา สุนทรธาดา

27 ตุลาคม 2563
1,387



จากการสำรวจสถานการณ์ทั่วโลกดำเนินการโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ปี 2017 คาดประมาณว่ามีแรงงานเด็กอายุระหว่าง 5-17 ปี จำนวน 152 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานเด็กหญิง 64 ล้านคน แรงงานเด็กชาย 88 ล้านคน 1 ใน 5 ของแรงงานเด็กอยู่ในทวีปแอฟริกา อันดับรองคือ ทวีปเอเชีย ในจำนวนแรงงานเด็กดังกล่าว ประมาณ 73 ล้านคน ทำงานที่เสี่ยงอันตรายสูงสุด แรงงานเด็กร้อยละ 71 หรือ ประมาณ 108 ล้านคน ทำงานภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะในไร่ยาสูบ เพื่อผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยาสูบ นอกจากนี้ยังมีแรงงานเด็กที่ต้องทำงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น งานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี ความร้อนกัมมันตภาพรังสี การทำงานในสถานที่มีเสียงดังเกินมาตรฐานชั่วโมงการทำงานต่อวัน/สัปดาห์เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งงานเสี่ยงภัยอื่น ๆ เช่น ประมงน้ำลึก เด็กบางคนเป็นเหยื่อของการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมอื่น ๆ งานที่ขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรม เช่น การบริการทางเพศ

แรงงานเด็กตามคำนิยามของยูนิเซฟ1 หมายถึง:

  • แรงงานเด็กอายุ 5-11 ปี ทำงานในภาคเศรษฐกิจอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรืองานในครัวเรือน 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยไม่มีค่าจ้าง 
  • แรงงานเด็กอายุ 12-14 ปี ทำงานในภาคเศรษฐกิจอย่างน้อย14 ชั่วโมงหรืองานในครัวเรือน 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยไม่มีค่าจ้าง 
  • แรงงานเด็กอายุ 15-17 ปี ทำงานในภาคเศรษฐกิจอย่างน้อย 43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นอกจากนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ2 ยังได้กำหนดคำนิยามรูปแบบการจ้างแรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด (Worst forms of child labour) ให้หมายถึง: 

  • แรงงานทาสในภาคเกษตรกรรม เช่น ทำงานเพื่อล้างหนี้ของครอบครัวหรือแรงงานเด็กที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ถูกบังคับให้ทำงานในเงื่อนไขต่าง ๆ 
  • ทหารเด็กที่ถูกเกณฑ์เพื่อประจำการสำหรับกองกำลังติดอาวุธในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองหรือการแบ่งแยกดินแดน 
  • การบริการทางเพศ
  • แรงงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย เช่น เหยื่อของวงจรการค้ายาเสพติด 
  • แรงงานสำหรับงานเสี่ยงอันตรายลักษณะอื่น ๆ 

ปัญหาแรงงานเด็กเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายสาเหตุ เช่น ความยากจน การคุ้มครองด้านกฎหมายไร้ประสิทธิภาพ ขาดโอกาสด้านการศึกษา (เด็กอายุ 5-14 ปี ประมาณ 36 ล้านคนหรือร้อยละ 32 ของประชากรในกลุ่มอายุดังกล่าวจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนด เพื่อทำงานที่ไม่เหมาะสมกับวัย) ขาดโอกาสสำหรับการจ้างงานที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น งานที่เด็กสามารถปฏิบัติโดยไม่กระทบโอกาสหรือเวลาด้านการศึกษา ซึ่งงานลักษณะดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้สำหรับครอบครัวที่มีฐานะยากจน 

จากรายงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปี 2018 จัดอันดับ 10 ประเทศทั่วโลกที่ใช้แรงงานเด็ก สำหรับเอเชียติดอันดับ 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย เมียนมา และปากีสถาน ส่วนอันดับอื่น ๆ เป็นประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ชาด คองโก เอธิโอเปีย ไลบีเรีย ไนจีเรีย และโซมาเลีย

ประเทศ 10 อันดับแรกของโลกที่มีการจ้างแรงงานเด็ก3 และลักษณะงาน

  1. บังคลาเทศ การผลิตเสื้อผ้า เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ
  2. ชาด เกษตรกรรม ทหารเด็กรับจ้าง
  3. คองโก เหมืองแร่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ทหารเด็กรับจ้าง
  4. เอธิโอเปีย เหมืองแร่ การเชื่อมโลหะ รับจ้างขัดรองเท้าข้างถนน
  5. อินเดีย เหมืองแร่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ
  6. ไลบีเรีย เกษตรกรรมที่เสี่ยงต่อสารเคมีต่าง ๆ
  7. เมียนมา เกษตรกรรม แรงงานก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็ก
  8. ไนจีเรีย เกษตรกรรม เหมืองแร่ ขอทาน แรงงานก่อสร้าง
  9. ปากีสถาน เกษตรกรรม เก็บขยะเพื่อขาย โรงงานทอพรม เหมืองแร่ ทำอิฐ
  10. โซมาเลีย ประมง แรงงานก่อสร้าง นวดข้าว ขายของเร่บนถนน ขอทาน

ที่มา: ILO 2018. Ending child labour by 2025: A review of programmes and policies4

สถานการณ์แรงงานเด็กทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ ส่งผลให้องค์กรระหว่างประเทศเพิ่มมาตรการเพื่อขอความร่วมมือทุกประเทศที่ลงนามในข้อตกลงขจัดแรงงานเด็กให้เพิ่มการเฝ้าระวังในขอบเขตที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ รวมทั้งให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยองค์กร มูลนิธิเพื่อสังคมที่ไม่หวังผลประโยชน์ เพื่อสร้างโอกาสด้านการศึกษา การฝึกอาชีพ และการสร้างงานที่เหมาะสมกับอายุ สุขภาพและไม่เสี่ยงอันตราย เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบภายในปี 2025 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Alliance 8.7)

การลดจำนวนแรงงานเด็กยังไม่มีสัญญาณที่ดีเพื่อการบรรลุเป้าหมาย คาดประมาณว่าจะยังมีการใช้แรงงานเด็กราว 121 ล้านคนในปี 2025

แหล่งข้อมูล

1 https://data.unicef.org/topic/child-protection/child-labour/
2 http://www.ilo.org/ipec/facts/lang--en/index.htm
3 https://www.ilo.org/ipec/Informationresources/WCMS_653987/lang--en/index.htm
4 https://www.ilo.org/ipec/Informationresources/WCMS_653987/lang--en/index.htm


 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th