The Prachakorn

โควิด-19: ผลักเด็กข้ามชาติออกจากโรงเรียน สู่ตลาดแรงงาน ?


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

15 พฤศจิกายน 2564
468



ช่วงที่ผ่านมา แม้ทีมวิจัยจะยังไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเด็กข้ามชาติในพื้นที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้จัดอภิปรายกลุ่มและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้แทนจากภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นข้อกังวลหนึ่งที่สำคัญ เกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ต่อเด็กข้ามชาติ เป็นเรื่องความเสี่ยงของที่เพิ่มขึ้นของเด็กข้ามชาติในการหลุด หรือ ตกหล่นจากระบบการศึกษา (ทั้งระบบโรงเรียนไทย หรือศูนย์การเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติ) เข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือโลกของการทำงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวและตนเอง

รายงานคาดประมาณจำนวนแรงงานเด็ก (child labor) ปี 2563 (เผยแพร่เดือนมิถุนายน 2564 (1)) โดย ILO และ UNICEF ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์แรงงานเด็ก (อายุ 15-17 ปี) ที่ปรับตัวดีขึ้นทั่วโลก ทั้งในด้านจำนวนและสัดส่วนที่ลดลงต่อเนื่องระหว่างปี 2543-2559 จาก 245 ล้านคน ลดลงเป็น 152 ล้านคน (จาก 16%  เป็น 9.6% ของเด็กอายุ 15-17 ปี) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดในปี 2563 คาดการณ์จำนวนแรงงานเด็กทั่วโลก กลับพบว่าเพิ่มสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เป็น 160 ล้านคน ซึ่งเป็นผลกระทบที่สำคัญของสถานการณ์โควิด-19 ต่อเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบาง ในที่นี้รวม เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กข้ามชาติ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน

ปัจจัยที่มีส่วนผลักให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงวัยที่ยังไม่พร้อมที่รายงานฉบับนี้กล่าวถึง มี 2 ประเด็น หนึ่ง จากปัญหาตกงานและการสูญเสียรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของสมาชิกในครอบครัวซึ่งเพิ่มปัญหาความอัตคัดและความยากจนในครอบครัว และ สอง สถานการณ์ที่โรงเรียนปิดและหยุดการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 ซึ่งยิ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้เด็กต้องทำงาน เข้าสู่ตลาดแรงงานหารายได้มาช่วยจุนเจือพ่อแม่และครอบครัว ซึ่งข้อที่น่ากังวลคือ เด็กกลุ่มนี้ เมื่อได้เริ่มเข้ามาทำงานแล้ว การที่จะหยุดหรือเลิกทำงานและกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก รายงานฉบับเดียวกันนี้ คาดการณ์ว่า หากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือหรือจัดการที่เหมาะสม จำนวนแรงงานเด็กทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 8.9 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2565 (เป็น 168.9 ล้านคน จาก 160 ล้านคนในปี 2563)

สำหรับสถานการณ์แรงงานเด็กในประเทศไทย รายงานของ U.S. Department of Labor ปี 2563(2) ยังประเมินการจัดการปัญหานี้ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีความก้าวหน้าปานกลาง (moderate advancement) โดยกลุ่มเด็กข้ามชาติ หรือบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางต่อปัญหาแรงงานเด็กในประเทศ โดยเฉพาะการใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น การหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานในการขายสินค้า ขอทาน หรือทำงานบ้าน การทำงานที่อันตรายหรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น โรงงานการผลิต ภาคการเกษตร ประมงและการแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น

ประเด็นที่นำเสนอข้างต้นทั้งหมดนี้ ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือตัวเลขสถิติใดที่แสดงหรือยืนยันได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในประเทศไทย ส่งผลกระทบให้เด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และถูกผลักเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กหรือไม่ แต่อย่างน้อย เป็นประเด็นข้อกังวล ที่หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ (ด้านการศึกษา การคุ้มครองเด็ก รวมถึงแรงงาน) ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ควรช่วยกันมีบทบาทเฝ้าระวัง และสนับสนุนในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว...

หมายเหตุ *คาดการณ์จำนวนปี 2565 หากไม่มีมาตรการแก้ปัญหา
ที่มา ILO & UNICEF. (2021). Child Labour: Global estimates 2020, trends and the road forward


อ้างอิง

  1. ILO & UNICEF. (2021). Child Labour: Global estimates 2020, trends and the road forward. ILO and UNICEF (online: https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_800090/lang--en/index.htm)
  2. U.S. Department of Labor. (2021). 2020 Findings on the Worst Forms of Child Labor (Thailand: Moderate Advancement). Bureau of International Labor Affairs, U.S. Department of Labor (online: https://www.dol.gov/agencies/ilab/resources/reports/child-labor/thailand)

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

การเลียนแบบ

วรชัย ทองไทย

เวลา

วรชัย ทองไทย

เด็กน้อยเร่งเรียนเขียนอ่าน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ภาษา

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th