หนึ่งในประเด็นที่น่าติดตามของผู้คนในสังคมในช่วงเวลาที่เทศกาลปีใหม่เพิ่งผ่านไปไม่นาน คือเรื่อง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงเคยได้ยิน ได้เห็นข่าวสารในกรณีผู้สูงอายุหลายคนถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพมาบ้างแล้ว วันนี้จึงอยากจะเชิญชวนท่านมาร่วมกันติดตามและขบคิดประเด็นนี้ไปด้วยกัน ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้รู้จัก ได้รับรู้ หรือได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากนโยบายนี้โดยตรง
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการของรัฐขั้นพื้นฐานที่เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในประเทศไทย นโยบายนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2535 ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่เป็นผู้สำรวจประชากรสูงอายุภายในหมู่บ้าน ภายใต้โครงการ “เบี้ยยังชีพคนชรา” ซึ่งดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี 2536 กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน (เบี้ยยังชีพ) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เงินช่วยเหลือแก่ ผู้สูงอายุที่ยากจน เดือนละ 200 บาท และต่อมาในช่วงปี 2544-45 ภารกิจเรื่องนี้จึงถูกถ่ายโอนไปยังความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย1
พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ระบุไว้ในมาตรา 11 (11) ว่า “ผู้สูงอายุมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุน การสงเคราะห์เบี้ยยังชีพตามความจำเป็นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”2 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตราข้างต้น ในปี 2549 รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นที่ 500 บาท ต่อคนต่อเดือน3 ซึ่งคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 มีดังนี้
หากว่าผู้สูงอายุมีคุณสมบัติข้างต้นเหมือนกัน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกว่าหรือผู้ที่มีปัญหาซ้ำซ้อนหรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารยากต่อการเข้าถึงบริการของรัฐจะเป็นผู้ที่ได้รับการพิจารณาก่อน4
ต่อมาในปี 2553 ได้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ในมาตรา 11 (11) เป็น “ให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”5 ส่งผลให้ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่มีหลักประกันรายได้อื่นจากภาครัฐ มี “สิทธิ” ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือนอย่างถ้วนหน้า3 ภายใต้คุณสมบัติที่เป็นไปตามผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ดังนี้
หลักเกณฑ์ 4 ข้อข้างต้นนี้ยังถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของนโยบายนี้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ เป็น “แบบขั้นบันได” ตามช่วงอายุ ดังนี้
จากการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยฉบับล่าสุดปี 2562 ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในปี 2562 นี้ มีผู้สูงอายุราว 9.09 ล้านคน จากผู้สูงอายุในประเทศไทยทั้งหมด 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 78.36% ของผู้สูงอายุไทยทั้งหมด ที่ได้รับเบี้ยยังชีพโดยคิดเป็นเงินงบประมาณที่อุดหนุนทั้งสิ้นราว 71,900 ล้านบาท7
งบประมาณและจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2555-2562
ที่มา : กรมกิจการผู้สูงอายุ. 2563. รายงานการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2555-25628
จากแผนภาพแสดงงบประมาณและจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2555-2562 ข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุภายใต้นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มาพร้อมกับตัวเลขภาระค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนเบี้ยดังกล่าวที่สูงขึ้นในแต่ละปี จากแนวโน้มอีก 20 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20 ล้านคน หมายความว่าในอนาคต เงินงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องใช้เพื่อรองรับสำหรับจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็จะสูงขึ้นตามกันไปด้วย เนื่องจากจำนวนของผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพจากภาครัฐนั้นมีจำนวนมากขึ้นทุกปี
คุณยายบวน จังหวัดบุรีรัมย์ - กรมบัญชีกลางเรียกเก็บเบี้ยผู้สูงอายุคืนย้อนหลัง 10 ปี จากยายบวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี อาศัยอยู่ที่ ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษเดือนละ 5,000 บาท จากการเสียชีวิตของลูกชาย ซึ่งเป็นทหารสังกัด มทบ.21 นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 จากเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่โคราช ต่อมาภาครัฐได้เพิ่มวงเงินบำนาญกรณีพิเศษในส่วนนี้เป็น 10,000 บาท แต่ยายบวนไม่เคยทราบว่ามีการเพิ่มเงินบำนาญในส่วนนี้ เมื่อถึงเวลาเบิกเงินลูกหลานจะเป็นผู้ไปเบิกให้ ขณะที่ในแต่ละเดือนยายบวนได้รับเบี้ยคนพิการอีกเดือนละ 800 บาท ด้วยเช่นกัน
เบี้ยผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนดังกล่าวนั้นรวมเป็นจำนวนเงิน 84,400 บาท ภายใต้เงื่อนไขระเบียบที่กำหนดไว้ว่าหากผ่อนชำระภายใน 1 ปี ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่หากเกิน 1 ปี ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งหมายความว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี ยายบวนต้องจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุคืนถึงเดือนละ 7,030 บาท ถึงจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม
ทั้งนี้ ด้วยความที่ฐานะยากจนและภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงไม่มีเงินก้อนที่จะไปจ่ายคืน ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงเสนอให้คุณยายนำเงินจากบำนาญพิเศษที่ได้รับจากการเสียชีวิตของลูกชายไปผ่อนชำระเพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม9 ยายบวนกล่าวว่ายินดีคืนเงินให้ แต่ขอยืดระยะเวลาการจ่ายโดยไม่เสียดอกเบี้ยเป็น 20 เดือน10
จากกรณีของยายบวน ผู้สูงอายุวัย 89 ปี ที่จังหวัดบุรีรัมย์นี้ นับเป็นคลื่นระลอกเล็กลูกแรกๆ ที่กระทบทั้งฝั่งภาคประชาชนและภาครัฐ เมื่อถูกแรงกระเพื่อมจากแหล่งข่าวต่างๆ ก็ยิ่งเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังมากขึ้นในสังคม จนกระทั่งเกิดคลื่นระลอกเล็กอีกหลายๆ ลูกที่พากันขยายตัวพัดมากระทบฝั่งอีกหลายครั้ง
ผู้สูงอายุจังหวัดลพบุรี - จังหวัดลพบุรีพบผู้สูงอายุ 10 ราย ที่ถูกกรมบัญชีกลางเรียกคืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นการรับซ้ำซ้อนจากกรณีบุตร หรือสามี ที่รับราชการแล้วเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งยอดที่ต้องจ่ายคืนของแต่ละรายก็ต่างกันไป ตั้งแต่รายละประมาณ 40,000 บาท ถึง 90,000 บาท รวมไปถึงผู้ที่ไม่สามารถจ่ายคืนเบี้ยดังกล่าวได้และรอให้ศาลสั่งฟ้องอีก 2 ราย อาทิ คุณยายลำไย บุญยัง อายุ 79 ปี ถูกเรียกคืนเงินย้อนหลัง 19 ปี โดยได้จ่ายคืนให้ทั้งหมดแล้วรวม 72,200 บาท และ คุณยายแสง สุขคุ้ม อายุ 98 ปี ที่ได้รับหมายศาลเรียกเงินคืน 96,321.73 บาท เป็นต้น14
ผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ - ด้วยกระแสข่าวที่โหมพัดในสังคมมากขึ้นทุกวัน ทำให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดกระบี่ เร่งสำรวจ พบว่ามีผู้สูงอายุถึง 109 ราย ที่เข้าข่ายต้องคืนเบี้ยยังชีพย้อนหลัง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งกรณีที่จ่ายคืนทั้งหมดแล้ว กรณีอยู่ระหว่างทยอยผ่อนจ่าย ไปจนถึงกรณีที่อยู่ระหว่างการเจรจากับทางภาครัฐ เนื่องจากบางรายมีความยากลำบาก ในส่วนการให้การช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปบางคนรับเงินเดือนละแค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่รับมานานมากจนเป็นเงินก้อนรวมกันถึง 5-6 หมื่นบาททีเดียว15
ผู้สูงอายุชาวโคราช – ในช่วงแรกพบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพียง 13 ราย ถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้อนหลัง ตามคำสั่งของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เนื่องจากรับเงินซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ โดยมีผู้จ่ายคืน 9 ราย ขณะที่ 4 ราย ทางเทศบาลตำบลจอหอ ต้องส่งเรื่องฟ้องไปยังศาลแขวงนครราชสีมา เพื่อพิจารณาคดีทางแพ่ง เนื่องจากไม่มีเงินมาจ่ายคืนได้ หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอ ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่า นอกจาก 13 รายข้างต้นแล้วยังพบอีก 610 ราย ที่จะต้องคืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุย้อนหลังให้ทางภาครัฐ16
เมื่อมีคลื่นระลอกเล็กกระทบชายฝั่งมาเรื่อยๆ ภาครัฐจึงเร่งตรวจสอบผู้สูงอายุที่เข้าข่ายต้องชดใช้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พบว่า มีผู้สูงอายุอย่างน้อย 15,000 คนทั่วประเทศ ที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินบำนาญซ้ำซ้อนกัน ทำให้กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาวิธีเยียวยา17
จากข่าวข้างต้นที่ได้หยิบยกขึ้นมานั้น เสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสวัสดิการของรัฐขั้นพื้นฐานที่เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และเป็นความหวังของผู้สูงอายุหลายๆ ท่าน ทั้งที่เป็นผู้สูงวัยในปัจจุบันและที่กำลังจะเป็นในอนาคต การพบช่องโหว่ที่เป็นผลมาจากการตรวจสอบและเชื่อมต่อฐานข้อมูลประชาชนในระยะยาว รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลภายในภาครัฐด้วยกันเอง นับเป็นปัญหาเชิงระบบด้านการเชื่อมโยงระหว่างระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้เป้าที่ถูกชี้ผิดและต้องชดใช้กลับเป็นภาคประชาชนเพียงฝ่ายเดียว
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกวันภายในไม่ถึงสัปดาห์จาก 1 ราย กลายเป็นร่วม 15,000 ราย และที่ยังไม่ปรากฎตัวเลขนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องต่อการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจระหว่างผู้ดำเนินนโยบายและประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
เมื่อปรากฎการณ์ดังกล่าวแพร่ขยายภายในสังคมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเห็นและความพยายามในการร่วมหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นมุมมองจากนักวิชาการ นักกฎหมาย ภาครัฐ ภาคสังคม หรือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
การออกแบบและการตีความระเบียบกระทรวง รวมไปถึงการตรวจสอบการจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งผู้เขียนได้ดึงความคิดเห็นของนักวิชาการในบางประเด็นที่น่าสนใจจากเนื้อหาในคอลัมภ์รายงานหน้า 2 ของมติชนออนไลน์ วันที่ 28 มกราคม 256418 มา อาทิ
เพื่อไม่ให้ตัวอักษรสุดท้ายจบลงแค่ในบทความนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านค่อยๆ หลับตาลง แล้วจินตนาการถึงภาพชายฝั่งที่ถูกคลื่นเล็กคลื่นน้อยกระทบกัดเซาะเข้าทุกวันๆ ท่านเห็นภาพชายฝั่งแห่งนี้เป็นอย่างไร...? เมื่อคลื่นระลอกเล็กกระทบฝั่งใหญ่ ผู้สูงวัยในอนาคตจะเป็นอย่างไรหากการเรียกคืนเงินไม่ได้หยุดอยู่แค่ปี 2564 และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ท่านมีความเห็นว่าควรเป็นอย่างไร?
ภาพประกอบโดย Nattanan Kanchanaprat จาก Pixabay
อ้างอิง
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์