มาจูละห์แพ็คเกจ (Majulah Package) เป็นโบนัสที่นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง มอบให้แก่ชาวสิงคโปร์ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทุกคน ในวันชาติสิงค์โปร์ ประกาศเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566
คำว่า “มาจูละห์” มาจากคำว่า “มาจูละห์ ซีงาปูรา (Majulah Singapura)” เป็นภาษามลายู ซึ่งเป็นชื่อเพลงชาติของสิงคโปร์ แปลว่า “สิงคโปร์จงรุดหน้า” ชาวสิงคโปร์ได้เฉลิมฉลองวันชาติด้วยของขวัญที่รัฐบาลมอบให้แก่ประชากรที่เกิดตั้งแต่ปี 1973 และก่อนหน้า แพ็คเกจนี้ออกแบบและจัดสรรมาเพื่อเป็นสวัสดิการที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในวัยชรา
สิงคโปร์จัดสวัสดิการแรกเพื่อผู้สูงอายุที่เรียกว่า แพ็คเกจรุ่นบุกเบิก (Pioneer Generation Package) เมื่อปี 2013 ให้แก่คนที่เกิดปี 1949 และก่อนหน้า ต่อมาปี 2018 ประกาศแพ็คเกจรุ่นเมอร์เดก้า (Merdeka Generation Package) สำหรับคนที่เกิดช่วงปี 1950s และล่าสุดปี 2023 นี้ รัฐบาลประกาศมาจูละห์แพ็คเกจ (Majulah Package)
มาจูละห์แพ็คเกจมอบให้แก่ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้เตรียมตัวในการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ทั้งเกษียณอายุจากการทำงานและมีเงินบำนาญเพื่อค่ารักษาพยาบาล นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงเรียกประชากรกลุ่มนี้ว่า “ผู้อาวุโสวัยเยาว์ (young senior)” ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ระหว่างคนสองรุ่นที่เป็นภาระ ภาระด้านการเงินที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงอายุและดูแลลูกที่ยังเรียนอยู่หรือยังไม่ได้ทำงาน
รูป 1 ผู้อาวุโสวัยเยาว์ (young senior) ที่ดูแลพ่อแม่สูงอายุและลูก
ที่มา: CNA, 2023
กลุ่มผู้อาวุโสวัยเยาว์ในช่วงอายุ 50 ปี ไปจนถึงอายุก่อน 70 ปี เป็นคนรุ่นวัยที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าและสุขภาพดีกว่ารุ่นวัยก่อนหน้าที่อายุเดียวกัน พวกเขาจึงสามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากกว่ายุคที่ผ่านมา ประชากรรุ่นนี้เริ่มทำงานและทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจนผ่านช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (1997-1998) มาจูละห์แพ็คเกจนี้จึงเป็นเสมือนของขวัญที่รัฐบาลแสดงความตระหนักถึงความสำคัญของประชากรสูงอายุที่ร่วมกันทำงานเพื่อสิงคโปร์และรวมถึงผู้ที่เสียสละออกจากงานมาเพื่อดูแลครอบครัว
ปัจจุบัน ผู้อาวุโสวัยเยาว์กำลังเผชิญปัญหาการจ้างงานอันเนื่องมาจากสถานการณ์ผันผวนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประชากรในวัยนี้อาจไม่สามารถปรับตัวที่จะเรียนรู้เพื่อการทำงานให้ยาวนานขึ้นได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังคงสนับสนุนนโยบายที่จะให้ผู้อาวุโสวัยเยาว์ทำงานต่อไปให้นานที่สุด
จำนวนเงินที่แต่ละคนจะได้รับจากมาจูละห์แพ็คเกจอาจต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับรายได้และการออมในบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund-CPF) ชาวสิงคโปร์ทุกคนจะมีบัญชีเมื่อเริ่มเข้าสู่การทำงานในระบบเพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการออม โดยการสะสมเงินในบัญชีนี้ เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลและเงินออมเมื่อเกษียณอายุ มาจูละห์แพ็คเกจจะให้เงินโบนัสใน 3 แผน โดยได้รับผ่านบัญชี CPF คือ (1) โบนัสรายได้และเงินออม (Earn and save bonus S$400-1,000) จะได้รับรายปี (2) โบนัสเงินออมเกษียณอายุ (Retirement saving bonus S$1,000-1,500) และ (3) เงินออมค่ารักษาพยาบาล (Medisave bonus S$500-1,000) ได้รับเพียงครั้งเดียว
รูป 2 อัตราโบนัสของมาจูละห์แพ็คเกจ
ที่มา: CNA, 2023
คณะรัฐมนตรีของสิงคโปร์ทำงานใกล้ชิดกับนักวิชาการเพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ในการออกแบบรัฐสวัสดิการให้ตอบสนองต่อความต้องการและทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก สิงคโปร์จึงเป็นตัวอย่างประเทศที่เป็นสังคมสูงอายุซึ่งพยายามรับมือกับข้อท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ เราจึงต้องจับตามองเพื่อนบ้านผู้มีประสบการณ์เพื่อเรียนรู้แนวทางการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มประชากรสูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนและสัดส่วนมากขึ้นในประเทศไทย
ปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 19 ซึ่งเป็นอัตราผู้สูงอายุที่สูงเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ (ร้อยละ 23) นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ที่สะท้อนความก้าวหน้าของการพัฒนานโยบายเพื่อผู้สูงอายุไทยกำลังถูกลดทอน สวนกระแสแนวทางการเพิ่มสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุในสิงคโปร์ เงินสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน นอกจากจะช่วยด้านความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุแล้ว ยังบรรเทาภาระที่ประชากรวัยแรงงานต้องแบกรับในการดูแลพ่อแม่ อาจจะทำให้พวกเขาสามารถสร้างครอบครัวใหม่ที่มั่นคงและตัดสินใจมีลูก พ่อแม่เพิ่มเวลาในการดูแลลูก เพราะไม่ต้องทำงานมากขึ้นเพื่อหาเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีความสามารถทางการเงินเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมพัฒนาการและคุณภาพเด็ก ดังนั้นการพัฒนานโยบายประชากรจึงต้องมองให้รอบด้านในหลากหลายมิติ เพื่อจัดสวัสดิการที่เหมาะสมและยั่งยืนให้แก่ประชาชน
นโยบายเพื่อการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุไม่อาจรอจนประชากรเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ดังเช่น การออมในบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง ที่สร้างความตระหนักให้แก่ชาวสิงคโปร์ในการเก็บเงินในบัญชีของตนเอง และรัฐสนับสนุนเพิ่มเติมให้ตามอัตราเงินที่ออมในบัญชี ยิ่งออมมาก ยิ่งได้มาก ถึงแม้จะมีคนที่ไม่สามารถออมได้เพราะไม่ได้ทำงานในระบบ พวกเขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงประกาศนโยบายชัดเจนว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และพร้อมปรับสวัสดิการตามปรากฏการณ์ของโลกและพลวัตทางสังคม
เอกสารค้นคว้า
อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์
ศุทธิดา ชวนวัน
โยธิน แสวงดี
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
กาญจนา เทียนลาย
ทิฆัมพร สิงโตมาศ
ศุทธิดา ชวนวัน
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
สิรินทร์ยา พูลเกิด
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์