The Prachakorn

การปกป้องและเคารพสิทธิผู้ให้ข้อมูล เพราะผู้ให้ข้อมูลคือผู้ร่วมสร้างงานวิจัย


สุภรต์ จรัสสิทธิ์

19 สิงหาคม 2567
104



การแสวงหาคำตอบของนักวิจัยในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็เพื่อมุ่งค้นหาความรู้และข้อเท็จจริงเพื่อตอบปัญหาวิจัย ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างนโยบายที่มีประสิทธิภาพอย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของกระบวนการวิจัยมิได้อยู่แค่เพียงการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้ให้ข้อมูล (participants) ผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญที่ให้ข้อมูลมาสนับสนุนในการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ ข้อสงสัยของปัญหาวิจัย จึงนับว่าผู้ให้ข้อมูลคือผู้ร่วมสร้างงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มความถูกต้องและความสมบูรณ์ให้กับงานวิจัย

กระบวนการเก็บข้อมูลวิจัยต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้ข้อมูล โดยนักวิจัยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล และให้ความเคารพผู้ให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตนผู้ให้ข้อมูล ยกเว้นแต่ว่าการให้ข้อมูลนั้น ผู้ให้ข้อมูลยินดีที่จะให้ระบุตัวตนอย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ต้องให้ความระมัดระวังอย่างมากคือ กลุ่มผู้เปราะบาง ดังนั้น ประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการวิจัยจึงเป็นเรื่องที่นักวิจัยจะต้องให้ความสำคัญต่อการพิทักษ์สิทธิ สวัสดิภาพ และความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล ให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมการวิจัยในทางสังคมศาสตร์ที่สอดคล้องกับ The Belmont Report 1979

หลักในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้ให้ข้อมูล ตามหลักจริยธรรมการวิจัยของ The Belmont Report 1979 ประกอบด้วย3 หลักการสำคัญ คือ

1) หลักการเคารพในบุคคล (Respect for persons) ให้ความสำคัญเรื่องการเคารพในการยินยอมให้ข้อมูล ความเป็นส่วนตัว สิทธิส่วนบุคคลของผู้ให้ข้อมูล ปกป้องข้อมูล เก็บรักษาความลับของข้อมูลส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูลอย่างมิดชิด โดยเฉพาะให้ความเคารพในกลุ่มเปราะบาง ที่จะต้องได้รับการยินยอมในการให้ข้อมูล โดยในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเริ่มใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยให้ความสำคัญกับ “ข้อมูลส่วนบุคคล” “ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล” และ “ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว” ซึ่งกระบวนการจัดการข้อมูลจะต้องไม่ให้ระบุตัวตนผู้ให้ข้อมูล โดยสามารถดำเนินการด้วยการปิดบังตัวตนทั้งทางตรงและทางอ้อม

2) หลักการคุณประโยชน์ (Beneficence) ที่ต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจก่ออันตรายต่อร่างกาย จิตใจ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ และอันตรายทางกฎหมาย ที่อาจจะกระทบต่อผู้ให้ข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการที่จะป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องสื่อสารอย่างโปร่งใส อธิบายวัตถุประสงค์ วิธีการ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของงานวิจัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการระมัดระวังการตีตรา ทั้งในระหว่างกระบวนการขอความร่วมมือกับผู้ให้ข้อมูลไปจนถึงการนำเสนอผลการศึกษา ในส่วนของการให้ประโยชน์ เช่น ผู้ให้ข้อมูลได้รับเงินชดเชยจากการสูญเสียเวลาในการปฏิบัติงานในการให้ข้อมูล

3) หลักการยุติธรรม (Justice) คือไม่มีการเลือกปฏิบัติ นักวิจัยควรเคารพในความคิดเห็นของผู้ให้ข้อมูล รับฟังอย่างตั้งใจ เปิดใจต่อมุมมองที่แตกต่าง

ตัวอย่างการเก็บข้อมูลเด็กด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์เด็ก โดยคำนึงถึงหลักการ The Belmont Report 1979 มีดังนี้:

  1. การขอความยินยอม: โดยวิธีการขอใบยินยอมจากเด็กในสถานสงเคราะห์ จะมีเอกสารชี้แจงการเข้าร่วมวิจัย (Participation information sheet) เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ของการวิจัย ความเสี่ยง และประโยชน์ ให้กับผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ (ผู้บริหาร) ผู้ดูแลเด็ก (พี่เลี้ยงประจำตึก) และตัวเด็กเอง โดยในการพูดคุยกับเด็กให้ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ระดับความเข้าใจของเด็ก และเปิดโอกาสให้เด็กได้ถามเมื่อสงสัย หลังจากเด็กสมัครใจและยินยอมให้ข้อมูล จะให้เด็กเซ็นรับทราบในหนังสือแสดงเจตนายินยอม (Informed consent)
  2. การปกป้องข้อมูล: โดยเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของเด็กอย่างปลอดภัย มิดชิด เข้าถึงได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กต่อบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาต และวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบที่ไม่ระบุตัวตนเด็ก เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวเด็ก
  3. การเคารพต่อเด็กด้อยโอกาส: โดยสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และได้รับการเคารพในระหว่างการให้ข้อมูล รับฟังเด็กอย่างตั้งใจ แสดงความสนใจ เคารพในความรู้สึก อารมณ์ และประสบการณ์ของเด็ก

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับผู้ให้ข้อมูลคือการให้เกียรติผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้ร่วมสร้างงานวิจัย การปฏิบัติต่อผู้ให้ข้อมูลด้วยความเคารพ ความจริงใจ และความรับผิดชอบ ควรอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของงานวิจัย


ภาพประกอบ freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th