The Prachakorn

รางวัลอีกโนเบลกับนักการเมือง


วรชัย ทองไทย

24 ธันวาคม 2563
364



ปรับแก้ล่าสุด 4 มกราคม 2564

รางวัลอีกโนเบลเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อล้อเลียนรางวัลโนเบล โดยที่รางวัลโนเบลจะมอบให้กับผู้มีความเป็นเลิศในสาขาที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี สรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ วรรณคดี สันติภาพ และเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลจะได้รับเหรียญทองคำรางวัลโนเบล (มูลค่าประมาณ 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ) ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล กว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนรางวัลอีกโนเบลจะมอบให้กับนักวิจัยที่มีจินตนาการไม่ธรรมดา โดยมีผลงานที่ทำให้ต้องหัวเราะก่อน แล้วจึงได้คิด อันจะกระตุ้นให้คนหันมาสนใจในวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี สำหรับผู้ได้รับรางวัลอีกโนเบลก็จะได้รับโล่รางวัล (ที่เปลี่ยนไปทุกปี) ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 100 ล้านล้านดอลลาร์ (one hundred trillion dollars:  $100,000,000,000,000) ซิมบับเว

อย่างไรก็ตามรางวัลอีกโนเบลนอกจากจะเป็น "รางวัลล้อเลียน" แล้ว ยังเป็น "รางวัลยัดเยียด" อีกด้วย เพราะนอกจากจะมอบรางวัลให้กับผู้ที่เต็มใจจะมารับรางวัลแล้ว ก็ยังมอบ (หรือยัดเยียด) รางวัลให้กับผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แปลกๆ ที่เข้าข่ายของการทำให้ "หัวเราะก่อน แล้วจึงได้คิด” ซึ่งเขาเหล่านั้น ย่อมไม่ยินดีที่ถูกประกาศว่า เป็นผู้ได้รับรางวัลอีกโนเบล

ส่วนใหญ่ของผู้ได้รับ "รางวัลยัดเยียด" จะเป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองส่วนมากมักจะสนใจแต่นโยบายระยะสั้น ที่เห็นผลลัพธ์โดยเร็วเท่านั้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้เพื่อหาเสียงให้ตนเองได้รับเลือกเข้ามาอีก นโยบายเหล่านี้จึงมักจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เข้าตากรรมการพิจารณารางวัลอีกโนเบล ดังเช่นรางวัลในปีนี้ (2563)

นั่นคือ รางวัลอีกโนเบล สาขาแพทยศาสตร์ศึกษาที่ยัดเยียดให้กับผู้นำของประเทศบราซิล (Jair Bolsonaro) สหราชอาณาจักร (Boris Johnson) อินเดีย (Narendra Modi) เม็กซิโก (Andrés Manuel López Obrador) เบลารุส (Alexander Lukashenko) สหรัฐอเมริกา (Donald Trump) ตุรกี (Recep Tayyip Erdogan) รัสเซีย (Vladimir Putin) และเติร์กเมนิสถาน (Gurbanguly Berdimuhamedow) ที่ได้ใช้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สอนให้คนทั้งโลกรู้ว่า  นักการเมืองสามารถกำหนดความเป็นความตายของผู้คน ได้มากกว่าหมอและนักวิทยาศาสตร์

ดังจะเห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่สนใจคำแนะนำของหมอและนักวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้คนอเมริกันติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลก (กว่า 11.1 ล้านคน) และเสียชีวิตมากที่สุดในโลก (กว่า 2.5 แสนคน) เช่นกัน (ตัวเลขเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2563)

ที่น่าสนใจคือ ทรัมป์มีความไฝ่ฝันที่จะได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เหมือนกับประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อน (Barack Obama) แต่เขากลับได้รับรางวัลอีกโนเบลไปแทน (ดังรูป)


ภาพประกาศนียบัตรรางวัลอีกโนเบล ที่มอบให้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ อันมีลายเซ็นต์ของผู้ได้รับรางวัลโนเบล (จริง) เป็นพยาน
ที่มา: https://www.improbable.com/2020/10/02/ig-nobel-medical-education-prize-winner-continues-his-lesson/ สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2563

สำหรับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลอีกโนเบลมีดังนี้

ปี 2556 สาขาสันติภาพ ยัดเยียดให้ Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเบลารุส ผู้ประกาศให้การตบมือในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และตำรวจที่จับชายแขนเดียวด้วยข้อหาดังกล่าว

ปี 2554 สาขาสันติภาพ มอบให้ Arturas Zuokas นายกเทศมนตรีเมืองวิลนีอุส เมืองหลวงของสาธารณรัฐลิทัวเนีย  ที่ได้สาธิตวิธีแก้ปัญหาการจราจรที่รถหรูชอบจอดในที่ห้ามจอด ด้วยการใช้รถถังวิ่งทับรถหรูเหล่านั้น

ปี 2541 สาขาสันติภาพ ยัดเยียดให้ Shri Atal Bihari Vajpayee นายกรัฐมนตรีอินเดีย และ Nawaz Sharif นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่ขะมักเขม้นกับการทดลองระเบิดปรมาณูอย่างสงบ

ปี 2539 สาขาสันติภาพ ยัดเยียดให้ Jacques Chirac ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ร่วมไว้อาลัยในวันครบรอบ 50 ปี ของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ด้วยการทดลองระเบิดปรมาณูในหมู่เกาะแปซิฟิก

ปี 2538 สาขาสันติภาพ ยัดเยียดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไต้หวันที่สาธิตให้เห็นว่า นักการเมืองจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่า ถ้าจะชกต่อยกันเองในที่ประชุมสภาฯ แทนการอภิปรายเรื่องสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน

ปี 2537 สาขาจิตวิทยา ยัดเยียดให้นายกรัฐมนตรีลี กวน ยู แห่งสิงค์โปร์ ที่ได้ศึกษาทดลองระยะยาว (30 ปี) ในด้านจิตวิทยาแขนงการห้ามที่เข้มข้น โดยศึกษาถึงผลกระทบต่อชาวสิงค์โปร์ 3 ล้านคน เมื่อมีกฎหมายที่ลงโทษการ “ถุยน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือให้อาหารนกพิราบ”

หมายเหตุ:  Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเบลารุส ได้รับรางวัลอีกโนเบล 2 ครั้ง คือ สาขาสันติภาพ (2556) และสาขาแพทยศาสตร์ศึกษา (2563)

ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองวิลนีอุส (Arturas Zuokas) ก็ยินดีมารับรางวัลอีกโนเบล สาขาสันติภาพ (2554) ด้วยตนเอง

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ขบขันแต่ชวนให้คิด

หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “รางวัลอีกโนเบลกับนักการเมือง” ใน ประชากรและการพัฒนา 41(2) ธันวาคม 2563 - มกราคม 2564: 8

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

โลกร้อน

วรชัย ทองไทย

ยกทรง

วรชัย ทองไทย

ปาฐกถา

วรชัย ทองไทย

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

วิทยาศาสตร์

วรชัย ทองไทย

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

แรด

วรชัย ทองไทย

ตบมือหรือปรบมือ

วรชัย ทองไทย

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

นักการเมือง

วรชัย ทองไทย

รางวัลล้อเลียน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th