ยาปฏิชีวนะ หรือ แอนตี้ไบโอติก (Antibiotic) คือ ยาฆ่าเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและมักจะใช้กันอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในประชากรของประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ถูกวิธีนี้ อาจนำไปสู่อาการ “ดื้อยา” ซึ่งโดยทั่วไปทำให้ประชากรต้องใช้ยาที่แพงขึ้น หรืออันตรายมากขึ้นและสุดท้ายยาอะไรก็รักษาโรคไม่หาย รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นการศึกษานี้จึงได้เปรียบเทียบการเข้าถึงและการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อที่จะหาแนวทางพัฒนาให้การใช้ยาปฏิชีวนะมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ที่มา: https://www.freepik.com/
การศึกษานี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสานใน 6 ประเทศ ในทวีปแอฟริกา 3 ประเทศ คือ ประเทศกานา (Gana) โมซัมบิก (Mozambique) และแอฟริกาใต้ (South Africa) ในทวีปเอเชีย 3 ประเทศคือ ประเทศบังกลาเทศ (Bangladesh) ไทย (Thailand) และ เวียดนาม (Vietnam) โดยทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นประเทศที่ทำโครงการระบบเฝ้าระวังด้านประชากรและสุขภาพ (Health and Demographic Surveillance System) ได้รวบรวมข้อมูล ด้วยการทำแผนที่และสัมภาษณ์เชิงลึกจากหน่วยงาน/ร้านค้าที่จำหน่ายยาปฏิชีวนะ (antibiotic suppliers) ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน ร้านขายยา และร้านขายของชำ ครอบคลุมทุกระดับของการให้บริการสุขภาพในประเทศ ในส่วนของผู้ใช้ยานั้น ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจในระดับครัวเรือน และสัมภาษณ์ผู้ซื้อยาปฏิชีวนะ (customers interview) ในสถานที่จำหน่ายยาของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ได้มี สัมภาษณ์ระดับลึกและสนทนากลุ่มกับสมาชิกในชุมชนกลุ่มที่คาดว่าเป็นผู้ใช้ยาปฏิชีวนะหลัก รวมทั้งมารดาที่มีบุตรวัยไม่เกินห้าขวบด้วย มีการควบคุมคุณภาพของข้อมูล ด้วยวิธีการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า (data triangulation) คือทั้งข้อมูลจากผู้จำหน่ายและผู้ซื้อ/ใช้ยาปฏิชีวนะ ที่รวบรวมโดยวิธีการเชิงปริมาณและคุณภาพ โครงการนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2559 ถึงปลายปี 2561
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ชุมชนส่วนมากไม่มีปัญหาในการเข้าถึงหรือหาซื้อยาปฏิชีวนะ โดยมีการใช้ยาปฏิชีวนะในเอเชียมากกว่าแอฟริกา ประเทศเวียดนาม (65%) และ บังกลาเทศ (52%) มีสัดส่วนของสถานที่จำหน่ายยาที่ไม่มีใบอนุญาตสูงที่สุด แต่ประเทศไทยและแอฟริกาใต้นั้น ทุกสถานที่จำหน่ายยามีใบอนุญาตจากรัฐ นอกจากนี้ประเทศในแอฟริกายังมีความเข้มงวดเรื่องใบสั่งยาคือจะสามารถซื้อยาปฏิชีวนะด้วยตนเองได้เมื่อมีใบสั่งยาเท่านั้น ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศในเอเชีย
สอดคล้องกับผลจากสำรวจผู้ซื้อยาปฏิชีวนะ ที่พบว่า ร้อยละ 35.0 ของตัวอย่างในทั้ง 6 ประเทศ ซื้อยาปฏิชีวนะได้โดยไม่มีใบสั่งยา โดยมีสัดส่วนของผู้ซื้อยาปฏิชีวนะในประเทศเวียดนาม (55.2%) สูงที่สุด รองลงมาคือ บังกลาเทศ (45.7%) และกานา (36.1%) ส่วนประเทศโมซัมบิก (8.0%) ไทย (3.9%)1 และแอฟริกาใต้ (1.2%) มีสัดส่วนไม่สูงนัก ซึ่งความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะและข้อจำกัดของการหาซื้อยาปฏิชีวนะ อาจส่งผลให้ชุมชนแสวงหาบริการสุขภาพจากภาคเอกชน เช่น ประเทศในเอเชีย ร้านขายยาเป็นสถานที่เข้าถึงง่าย ไม่แพง และสามารถได้รับยาปฏิชีวนะในเวลาอันรวดเร็ว แต่ประเทศในแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ที่มีความเข้มงวดเรื่องใบสั่งยาหรือราคาของยาปฏิชีวนะที่ค่อนข้างสูง ในประเทศโมซัมบิก สิ่งเหล่านี้มีผลให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในอัตราที่แตกต่างกันในการศึกษานี้
https://www.freepik.com/
นอกจากนี้การสำรวจครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 37.0 ของครัวเรือน ในทั้ง 6 ประเทศ รายงานว่าใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ สำหรับตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติแพร่หลายในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยมีเหตุผลจากเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรุนแรงของโรค ราคา และความสะดวกในการเข้าถึงสถานที่จำหน่ายยา ในภาพรวมการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยกำหนดการแสวงหาการรักษานั้น เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสุขภาพที่เหมาะสม ความไว้วางใจ/หรือเชื่อใจในผู้จำหน่ายและตัวยา และระดับความรุนแรงของโรคที่เป็น
การเข้าถึงและการใช้ยาปฏิชีวนะของชุมชน ใน 6 ประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง: วิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Community-based antibiotic access and use in six low-income and middle-income countries: a mixed-method approach)
บทความนี้ ตีพิมพ์ ใน Lancet Global Health 2021 (www.thelancet.co/lancetgh)
Published online on March 10, 2021; https://doi.org/10.1016/S2214-109X(21)00024-3
จากงานวิจัย Community Level Antibiotics Access and Use in LMICs(ABACUS) ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
หมายเหตุ:
วรชัย ทองไทย
เพ็ญพิมล คงมนต์
กุลภา วจนสาระ
จีรวรรณ หงษ์ทอง
กัญญา อภิพรชัยสกุล