The Prachakorn

แล้วโควิด-19 ก็เข้าเรือนจำ…


กุลภา วจนสาระ

31 พฤษภาคม 2564
652



ตื่นตระหนกกันไปทั้งสังคมเมื่อมีข่าวว่าโควิด-19 เข้าเรือนจำ ทั้ง ๆ ที่เรือนจำเป็นสถานที่ปิด ใช่ว่าคนทั่วไปหรือใคร ๆ จะเดินเข้าไปได้ง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่เรือนจำแต่ละแห่งทั่วประเทศออกมาตรการห้ามเยี่ยม ห้ามคนนอกเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เป็นระยะตามความรุนแรงของสถานการณ์ระบาดนับแต่ปีที่แล้วมา

กลางเดือนพฤษภาคม 2564 ผู้ต้องขังในเรือนจำกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความสนใจและเป็นห่วงจากสังคมอีกครั้งจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ กว่า 1.5 หมื่นคนที่ยังคงอยู่ระหว่างการรักษาอยู่ในเรือนจำ 12 แห่ง1 เรือนจำหลายแห่งที่มีการตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขัง 100% นั้นหลายแห่งมีสัดส่วนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั้งหมดมากกว่าครึ่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ร้อยละ 85.6 เรือนจำพิเศษธนบุรี ร้อยละ 71.8 เรือนจำกลางเชียงใหม่ ร้อยละ 55.2 เป็นต้น2

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ 12 แห่ง ปี 25643
ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชากรทั่วไปในสังคมยังเป็นไปด้วยความหนักหนาสาหัส แล้วเมื่อเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ กลุ่มคนใต้เงาของสังคมอย่างผู้ต้องขังนั้นจะยิ่งตึงมือและหนักหนาสาหัสขนาดไหน

เพราะเป็นผู้ต้องขังจึงแออัด

กว่าทศวรรษแล้วที่ภาพผู้ต้องขังล้นคุกต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างแออัดยัดเยียดกลายเป็นภาพที่สังคมไทยชินชา และเพิกเฉยราวกับเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ต้องขังสมควรจะได้รับการลงโทษให้อยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดเช่นนั้น โดยไม่ทันมองว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำในสภาพเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ต้องขังมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคบางโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป ตัวเลขผู้ต้องขังจากจำนวนสองแสนคนเศษ เมื่อ พ.ศ. 2553 เพียง 4 ปีตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นเป็นกว่าสามแสนคน และสร้างสถิติสู่ยอดสูงเกือบสี่แสนคนในปลาย พ.ศ. 2563 คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยเพิ่มถึงปีละประมาณ 1.6 หมื่นคน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถานไทยว่าการใช้ชีวิตอยู่ในความแออัดนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา และกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงโทษที่ต้องเผชิญ

ความแออัดจากตัวเลขผู้ต้องขังรวมข้างต้นจะยิ่งเห็นภาพได้ชัดขึ้นเมื่อถึงเวลานอน

แม้ว่าพื้นที่นอนของผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากลคือ 7.5 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน สำหรับประเทศไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอนสำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ 2.25 ตารางเมตรต่อคน แต่ทว่าในความเป็นจริง ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เท่า! สถิติเมื่อปี 2542 เฉลี่ยแล้วผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร4 ซึ่งเรือนจำทั้งหมดในประเทศไทยสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 110,667 คนเท่านั้น ผู้ต้องขังกว่าสามแสนคนในเดือนพฤษภาคม 2564 จึงหมายถึงผู้ต้องขังล้นเกินความจุมาตรฐานที่ตั้งไว้ถึงสองแสนคน!! สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขยายพื้นที่เรือนนอน ต่อชั้นลอย และลดมาตรฐานความจุลงเพื่อให้รองรับผู้ต้องขังที่ล้นคุกเหล่านั้นให้ได้

“สภาพความแออัดของจำนวนผู้ต้องขังนั้นส่งผลกระทบทุกด้านต่อการใช้ชีวิตในเรือนจำ ทั้งการอาบน้ำที่ต้องหมุนเวียนเป็นรอบ แข่งกับเวลาและสถานที่อันจำกัด การซักผ้า-ตากผ้า เข้าห้องน้ำขับถ่าย การเข้าถึงยาหรือหาหมอเมื่อเจ็บป่วย...โดยเฉพาะการนอนอย่างแออัดอยู่ในพื้นที่คับแคบกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน บางแห่งต้องนอนแบบสลับฟันปลาหรือไขว้เสียบขาชนกัน ยิ่งจำนวนคนมากก็ยิ่งเสียบขาลึกขึ้น บางแห่งเสียบเข้ามาถึงเข่า บางแห่งมีพื้นที่เพียงนอนตะแคงเท่านั้น ไม่สามารถนอนหงายได้ และต้องเสียบขามาถึงท้องน้อย เป็นต้น”5

ภาพโดย ผู้เขียน และได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่แล้ว

เพราะแออัดจึงเจ็บป่วย

การต้องอยู่ร่วมกันอย่างแออัดในเรือนนอนต่อเนื่อง หายใจด้วยอากาศเดียวกันในห้องนอนคับแคบตลอด 14-15 ชั่วโมงวันแล้ววันเล่านี้เองที่ทำให้โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด แพ้อากาศ เจ็บคอ ไอ ฯลฯ รองลงมาเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ ตามร่างกาย ที่เป็นผลจากการถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่อันจำกัด ไม่ว่าจะเป็นนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในเรือนนอน ฝึกวิชาชีพหรือทำงานด้วยท่าซ้ำ ๆ อยู่ในโรงงาน อาการผื่นคันหรือผื่นแพ้ตามร่างกาย ด้วยเหตุที่ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดสูง รวมทั้งดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้จำกัด6

“การเว้นระยะห่างที่ปลอดภัย” จึงไม่มีทางเป็นไปได้ในเรือนจำ แม้จะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจแบบโควิด-19 ที่พบว่าสามารถติดต่อกันได้ทางอากาศ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีความแออัด หรือถ่ายเทอากาศได้ไม่ดี

อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ สำหรับผู้ต้องขังแล้วเป็นของหายากและขาดแคลนที่แม้จะมีเงินก็ไม่อาจหามาครอบครองได้ หากไม่มีจำหน่ายหรือแจกจ่ายอย่างทั่วถึงและพอเพียงสำหรับทุกคน พื้นที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม ฯลฯ ในเรือนจำ ก็ใช่ว่าจะตั้งได้ตามใจนึก ด้วยโครงสร้างทางกายภาพที่จำกัด ไม่ได้มีแพทย์พยาบาลในเรือนจำที่จะรองรับผู้ต้องขังติดเชื้อได้มากมายขนาดนั้น คงมีแต่เพียงเพื่อนผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือดูแล ปฐมภูมิในเรือนจำให้บริการได้เท่าที่ศักยภาพจะทำได้ การเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังจึงยังเป็นประเด็นท้าทายสูงสุดเมื่อเกิดวิกฤติด้านโรคระบาดเช่นครั้งนี้

มาตรการรับมือโควิด-19 ในเรือนจำ

3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ นอกเหนือจากการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ได้แก่ การลดจำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำต้องควบคุมดูแล ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้หลังการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว การให้ประกันตัว “ผู้ต้องขังระหว่าง” อันหมายถึงผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการตัดสินคดี ไม่ว่าจะระหว่างการไต่สวน สอบสวน หรือระหว่างอุทธรณ์และฎีกา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60,000 คน และการจัดให้ผู้ต้องขังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

“ความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 สัมพันธ์อย่างยิ่งกับประเด็นเรื่องเศรษฐานะ ยิ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้เงาของสังคม กลุ่มคนที่ไม่อยู่ในสายตาของสังคม กลุ่มคนที่สังคมทำเป็นมองไม่เห็นจนกระทั่งลืมไปแล้วจริง ๆ ว่ามีกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ แรงงานข้ามชาติ หรือคนที่อยู่ในชุมชนแออัดต่าง ๆ อย่างที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ของการติดเชื้ออยู่ตอนนี้ กลุ่มคนชายขอบที่อยู่ใต้เงาของสังคมเหล่านี้แหละที่รัฐต้องจัดให้มีบริการสาธารณสุขเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยให้พวกเขาได้เข้าถึงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางที่สุด ขณะนี้เรากำลังดีลกับโรคระบาดระดับโลก ที่หน้างานรับมืออยู่ คนติดเชื้อรายใหม่วันละ 2,000 กว่าคน สถานการณ์ก็ตึงมือมากแล้ว ไหนจะผู้ป่วยโรคอื่น ๆ อีก คุณไม่มีทางจะหยุดความรุนแรงของการระบาดได้เลยถ้าไม่จัดบริการวัคซีนและการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มคนใต้เงาสังคมเหล่านี้ก่อน และก็ไม่มีทางเลยที่มันจะไม่เข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตเราในที่สุด”7 


  1. เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ‘เรือนจำ’ ยอดสะสม 15,153 ราย. (22 พฤษภาคม 2564). กรุงเทพธุรกิจ. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939525
  2. รายงานสถานการณ์ Covid-19 กรมราชทัณฑ์. (21 พฤษภาคม 2564). PR-กรมราชทัณฑ์. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://twitter.com/PRDOC/status/1395683923267493893/photo/2
  3. ประมวลจาก เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ‘เรือนจำ’ ยอดสะสม 15,153 ราย. (22 พฤษภาคม 2564). กรุงเทพธุรกิจ. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939525; ราชทัณฑ์อัพเดต ยอดผู้ต้องขังติดเชื้อ ‘โควิด’ เพิ่ม 499 ราย ใน 12 เรือนจำ รักษาหาย 54 ราย รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,787 ราย. (23 พฤษภาคม 2564). ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6414172; ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ยังหนัก! เสียชีวิตอีก 30 ราย ติดเพิ่ม 2,713 ราย. (24 พฤษภาคม 2564). กรุงเทพธุรกิจ. ค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939697
  4. Administrator. (27 มีนาคม 2560). วิธีนอนให้สบายในคุก. ค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564, จาก ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ https://www.hosdoc.com/index.php?option=com_content&view=article&id=40:how-comfortable-to-sleep-in-prison&catid=2:guide-prison&Itemid=14
  5. กฤตยา อาชวนิจกุล และกุลภา วจนสาระ. (2558). ผู้ต้องขังหญิง: สถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบาย. นครปฐม: สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. กุลภา วจนสาระ และกฤตยา อาชวนิจกุล. (2564). ก้าวแรกของปฐมภูมิในเรือนจำกับชีวิตต้องขังที่กำหนดสุขภาพ. นครปฐม: สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ความเห็นของแพทย์ท่านหนึ่งในการพูดคุยผ่าน Club House. (21 พฤษภาคม 2564).

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คนไร้บ้าน

อมรา สุนทรธาดา

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เด็กไทย อ้วนแค่ไหน

กาญจนา เทียนลาย

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th