The Prachakorn

วีซ่าระยะยาวของไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์  ใครแจ่ม ใครแจ๋ว? 


สักกรินทร์ นิยมศิลป์

03 ธันวาคม 2564
817



ปัจจุบัน หลายประเทศต่างผลักดันนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะยาว รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) การท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง (shopping tourism) และธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร (hospitality business) โดยให้วีซ่าระยะยาวเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น ผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ (foreign retiree) ผู้ย้ายถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต (lifestyle migrant) นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourist) และชาวต่างชาติที่มีทักษะสูง (foreign talent) เป็นต้น

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคหนึ่งที่เป็นที่นิยมของผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยประเทศเป้าหมายหลักคือ ไทย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ทั้งสามประเทศมีโครงการดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะยาว และมีการทำงานเชิงรุกเพื่อมุ่งดึงดูดกลุ่มเป้าหมายจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้เกษียณอายุจำนวนมาก และมีเงินบำนาญในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเข้าถึงสถานะการเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศทั้งสาม มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้

ฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากชาวเอเชียตะวันออก สหรัฐ และยุโรป โดยในช่วงปี 1985-2016 มีชาวต่างชาติได้รับสถานะผู้พำนักระยะยาวในฟิลิปปินส์รวม 48,071 คน โดยหนึ่งในสามเป็นชาวจีน หนึ่งในห้าเป็นชาวเกาหลีใต้ ตามด้วยไต้หวัน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ตามลำดับ1 โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ อากาศอบอุ่น ชายหาดสวยงาม ค่าครองชีพถูก และมีวีซ่าระยะยาวที่จัดว่าเปิดกว้างที่สุดในอาเซียน โดยเป็นวีซ่าไม่จำกัดระยะเวลา (indefinite) อีกนัยหนึ่งเป็นวีซ่าที่ยาวนานตลอดชีวิต

ฟิลิปปินส์ได้ออกวีซ่าประเภท Special Resident Retiree’s Visa (SRRV) โดยจัดตั้งหน่วยงาน Philippine Retirement Authority ขึ้นผู้สมัครอาจเป็นชาวต่างชาติหรือชาวฟิลิปปินส์ที่ถือสัญชาติอื่น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีบำนาญ ต้องฝากเงินในธนาคารของฟิลิปปินส์จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีเงินบำนาญเดือนละไม่ต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ กลุ่มที่สอง เป็นผู้ที่ไม่มีบำนาญ หากอายุ 35-49 ปี ต้องมีเงินฝาก 50,000 ดอลลาร์ หากอายุ 50 ปีขึ้นไป ต้องมีเงินฝาก 20,000 ดอลลาร์ หากเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่แปลงสัญชาติต้องมีเงินฝาก 15,000 ดอลลาร์ และกลุ่มที่สามเป็นสมาชิกในครอบครัวของ 2 กลุ่มแรก ให้วีซ่าผู้ติดตามจำนวน 2 คน ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ SRRV จะได้รับวีซ่าตลอดชีวิตโดยไม่ต้องต่ออายุแต่อย่างใด แต่ข้อเสียคือชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองที่ดินในฟิลิปปินส์ได้2

ที่มา:https://nomadicfire.com/philippines-srrv-visa

มาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศปลายทางที่สำคัญของผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยอดเยี่ยม ปลอดภัย อากาศอบอุ่น ประชากรพูดได้หลายภาษา และค่าครองชีพถูก ในช่วงปี 2002-2016 มาเลเซียมีผู้พำนักระยะยาวจำนวน 32,737 คน โดยหนึ่งในสี่เป็นชาวจีน ตามด้วยญี่ปุ่น บังกลาเทศ อังกฤษ อิหร่าน สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ปากีสถาน และอินเดียตามลำดับ3 ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นที่นิยมของชาวมุสลิมจากภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก


ที่มา:https://www.penangpropertytalk.com/2020/08/temporary-freeze-of-malaysia-my-second-home-programme/

ในอดีต มาเลเซียได้จัดทำโครงการ Silver Hair Program (SHP) เมื่อปี 1987 แต่ในช่วงแรกประสบความสำเร็จไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น ผู้สมัครต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไปและห้ามทำงาน4 แต่ในปี 2002 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมาเลเซียได้ปรับ SHP เป็น Malaysia My Second Home Program (MM2H) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้เกษียณอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถทำงานได้สัปดาห์ละไม่เกิน 20 ชั่วโมง แต่ต้องมีเงินฝากในมาเลเซีย 40,000 ดอลลาร์ มีรายได้เดือนละ 3,000 ดอลลาร์ขึ้นไป กลุ่มที่สอง ช่วงอายุ 18-49 ปี เป็นคนหนุ่มสาวที่ยังทำงาน ต้องมีเงินฝาก 40,000 ดอลลาร์ มีรายได้เดือนละ 10,000 ดอลลาร์ขึ้นไป โดยผู้เข้าร่วมโครงการ MM2H จะได้วีซ่าอายุ 10 ปี ต่ออายุได้อีก 10 ปี5 สมาชิกสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินในมาเลเซียได้ นับว่าโครงการ MM2H ประสบความสำเร็จ โดยกว่าร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเลเซียได้ปรับโครงการ MM2H ใหม่ เพื่อมุ่งกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเป็นหลัก โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนเป็น 40,000 ริงกิต เพิ่มเงินฝากในธนาคารเป็น 1 ล้านริงกิต และเพิ่มอายุผู้สมัครกลุ่มที่สองจาก 18-49 ปี เป็น 35-49 ปี นอกจากนี้ ได้ลดอายุวีซ่า จาก 10 ปี เป็น 5 ปี เท่านั้น แต่สามารถต่ออายุได้อีก 5 ปี โดยเริ่มบังคับใช้ระเบียบใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2021 เป็นต้นมา6

ประเทศไทย

ประเทศไทยได้เริ่มโครงการส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพระยะยาว (Long-stay and Health Care Project) ขึ้นตั้งแต่ปี 1998 ต่อมาได้ออกวีซ่าเกษียณอายุขึ้น โดยมีระยะเวลา 1 ปี (O-A) สามารถต่ออายุได้คราวละ 1 ปี โดยผู้สมัครต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีบัญชีเงินฝากในไทย 800,000 บาท เงินเกษียณอายุ/รายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 65,000 บาท ต่อมา ไทยได้ออกวีซ่าระยะเวลา 5 ปี ต่ออายุได้อีก 5 ปี รวมเป็นเวลา 10 ปี (O-X) แต่สงวนให้กับผู้เกษียณอายุ 50 ปีขึ้นไปจากบางประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เท่านั้น โดยผู้สมัครต้องมีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีรายได้ต่อปี 1.2 ล้านบาทขึ้นไป ที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จพอสมควรในการดึงดูดผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ โดยในปี 2018 มีชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าเกษียณอายุของไทยจำนวน 72,969 คน7 

นอกจากวีซ่าเกษียณอายุแล้ว ไทยยังมีวีซ่าประเภทอื่นๆ สำหรับผู้พำนักระยะยาวด้วย ที่สำคัญคือ Thailand Elite Visa ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2003 โดยจับกลุ่มผู้มีรายได้สูง วีซ่ามีอายุ 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี มีหลากหลายโปรแกรมให้เลือก โดยมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 600,000-2,000,000 บาท8 ซึ่งปัจจุบัน มีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 10,000 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นชาวจีน ญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐฯ 

ที่มา:https://www.thailandelitevisas.com/thailand-elite-vs-regular-retirement-visa/

ในอนาคต ไทยมีแผนที่จะออกวีซ่าระยะยาวประเภทใหม่ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุ กลุ่มที่ต้องการทำงานในประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ทั้งสี่กลุ่มนี้จะได้รับอนุญาตให้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินในไทยได้ โดยจะจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเรียกว่าศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR Service Center) ขึ้นเพื่อดูแลโครงการนี้ โดยตั้งเป้าดึงดูดผู้ย้ายถิ่นจำนวน 1 ล้านคนในช่วงปี 2022-20269 

สรุป

ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทย เป็นเป้าหมายของผู้เกษียณอายุต่างชาติ และผู้พำนักระยะยาวกลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนประเทศไทยจะมีแต้มต่อ เนื่องจากมีวีซ่าระยะยาวหลายประเภทให้เลือก และกำลังจะขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มคนวัยทำงาน รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ด้วย


อ้างอิง

  1. สืบค้นจาก https://tieza.gov.ph/wp-content/uploads/2020/08/5.-PRA-Presentation.pdf วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564
  2. สืบค้นจาก https://kabayanremit.com/blog/lifestyle/retire-in-the-philippines/ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
  3. Teh, B. C. G. (2018). Retirement migration: The Malaysia My Second Home (MM2H) program and the Japanese retirees in Penang. International Journal of Asia Pacific Studies 14 (1): 79–106
  4. อ้างแล้ว
  5. สืบค้นจาก https://www.escapeartist.com/blog/residency-options-in-malaysia/ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
  6. สืบค้นจาก https://www.mondaq.com/general-immigration/1115376/malaysia-my-second-home-programme-relaunched เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
  7. Thailand Migration Report 2019, Table 1.1
  8. สืบค้นจาก https://www.siam-legal.com/thailand-visa/thai-elite-visa.php วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
  9. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/property/news-763114 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564


CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th