The Prachakorn

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น


สักกรินทร์ นิยมศิลป์

09 ธันวาคม 2563
717



ภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา ทำให้บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลกระงับการเดินทางระหว่างประเทศ หรือออกมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคดังกล่าวตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดไปทั่วโลก มีประเทศและดินแดนต่างๆ พากันปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ถึงกว่า 200 ประเทศ/ดินแดน ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้ย้ายถิ่นที่กำลังเดินทางข้ามแดน หรือเดินทางผ่านจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ติดค้างอยู่ในดินแดนต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ในหลายประเทศทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการลงจำนวนมากและยุติการจ้างงาน แต่แรงงานข้ามชาติที่ว่างงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือภูมิลำเนาของตนได้ ทำให้ประสบความยากลำบาก และอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจากโรคระบาด ประเทศไทยเองก็เช่นกันที่มีผู้ย้ายถิ่นหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดประเทศอันเนื่องมาจากการระบาดของโรค COVID-19

ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว

เมื่อการปิดประเทศลากยาวออกไปนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ย้ายถิ่นจำนวนไม่น้อยในไทยมีปัญหาเรื่องเอกสารเดินทาง ตลอดจนใบอนุญาตทำงานและวีซ่าหมดอายุลง โดยนักท่องเที่ยวหลายรายกลายเป็นผู้อยู่เกินวีซ่า (visa overstayers) จนกลายเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ (irregular migrants) กลุ่มคนดังกล่าวต้องประสบปัญหาหลายประการจากมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการระงับการเดินทางข้ามแดน จนนำไปสู่ปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ รายได้ สุขภาพและปัญหาครอบครัวเนื่องจากไม่สามารถกลับประเทศต้นทางของตนเองหรือเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่นได้ หรือหากทำได้ในบางกรณี ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เนื่องจากราคาตั๋วเครื่องบินที่แพงผิดปกติจากการระงับเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกักตัวเมื่อเดินทางข้ามแดน นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงตกระกำลำบากกลายเป็นคนเร่ร่อน ดังเช่นกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ภูเก็ตซึ่งเงินหมดจนต้องไปพักที่เมรุของวัดไม้ขาว ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำใช้ ต้องทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิต1 แต่บางส่วนก็เลือกที่จะลักลอบข้ามพรมแดนเพื่อกลับไปยังภูมิลำเนาของตน โดยหลีกเลี่ยงการกักตัว ดังเช่นชาวไทยในมาเลเซียที่พยายามกลับเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เป็นต้น

ภาพผู้ย้ายถิ่นที่ถูกปิดกั้นมิให้แคลื่อนย้ายข้ามเมือง/พรมแดน


ที่มา: https://www.newindianexpress.com/nation/2020/may/01/systemic-exclusion-to-blame-for-migrants-plight-2137731.html

ผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ

เมื่อไทยประกาศจะล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปิดประเทศ ช่วงเดือนมีนาคม 2563 แรงงานข้ามชาติจำนวนหลายแสนคนได้เดินทางกลับประเทศของตน ประกอบด้วยแรงงานชาวลาวประมาณ 120,000 คนแรงงานพม่า 100,000 คน และแรงงานกัมพูชากว่า 90,000 คน2 แต่หากรวมแรงงานที่ข้ามพรมแดนธรรมชาติโดยไม่ผ่านด่านชายแดนด้วยแล้ว น่าจะมากกว่านี้ไม่น้อย แต่ก็มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ เนื่องจากมีการระงับการเดินทางข้ามจังหวัด 

ทั้งนี้ ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ประเมินว่าจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติในไทยตกงานจำนวนกว่า 700,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว ก่อสร้างและภาคบริการ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ อาทิ ไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกเลิกสัญญาจ้าง และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง3 ยิ่งถ้าเป็นแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น แรงงานตามบ้าน แรงงานภาคเกษตรและแรงงานประมง ก็มักอยู่นอกระบบประกันสังคมและอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาวะด้วย

ผลกระทบต่อผู้ลี้ภัย

สำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัยก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศของรัฐต่างๆ เนื่องจากไม่มีประเทศไหนอยากช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาจเป็นพาหะของโรค COVID-19 โดยหลายประเทศได้เพิ่มการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เช่น มาเลเซียและไทยได้กวดขันจับกุมผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายและผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามิให้ขึ้นฝั่ง เนื่องจากความกังวลต่อโรคระบาด ทำให้ผู้ลี้ภัยทางเรือต้องเดินทางเข้าไปยังน่านน้ำ.อินโดนีเซียและเผชิญชะตากรรมที่ไม่แน่นอนต่อไป แม้ว่ามาตรา 16 ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะให้หลักประกันเรื่องสิทธิในการแสวงหาการพักพิง แต่กลุ่มประเทศอาเซียนเองกลับไม่มีการกำหนดนโยบายร่วมกันในเรื่องผู้แสวงหาการพักพิง โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในทางกลับกัน การปิดประเทศ ทำให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศก็ทำได้ยาก เนื่องจากการจำกัดการเดินทางทั้งในประเทศและการเดินทางข้ามพรมแดน ทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยทางเรือจากเมียนมาและบังกลาเทศ

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อผู้ลี้ภัยยังมาในลักษณะทางอ้อมอีกด้วย โดยแรงงานข้ามชาติในไทยบางส่วนที่ถูกออกจากงานได้ไปปักหลักแถบจังหวัดชายแดน หรือแม้แต่เข้าสู่ค่ายพักพิงชั่วคราวแถบชายแดนตะวันตกของไทย เนื่องจากเคยอาศัยอยู่ที่นั่นมาก่อน ทำให้ทรัพยากรและความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชน (NGOs) ที่จัดสรรให้กับผู้แสวงหาการพักพิงจำนวนราวหนึ่งแสนคนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารกับเวชภัณฑ์ซึ่งมีงบประมาณที่จะจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 40 ของความต้องการเท่านั้น4 

มาตรการของรัฐบาลไทย

ทางการไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นในหลายลักษณะ สำหรับชาวไทยที่ตกค้างในต่างประเทศก็ได้จัดเครื่องบินพาณิชย์พิเศษเพื่อนำชาวไทยจากที่ต่างๆ กลับประเทศ วันละหลายร้อยคน จนถึงกลางเดือนกันยายน 2563 มีสถิติคนไทยเดินทางกลับประเทศจำนวนรวมสะสม 49,696 คน5 โดยผู้ที่เดินทางกลับประเทศต้องผ่านการคัดกรองโรคก่อนกลับและต้องเข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน ด้วย 

สำหรับชาวต่างชาติที่ตกค้างในไทย เช่น นักท่องเที่ยว ได้มีการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาพำนักในประเทศเป็นคราวๆ ไป โดยพิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละราย โดยประเมินว่าภายหลังการประกาศปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติประเภทคนอยู่ชั่วคราวที่ติดค้างอยู่ในไทยจำนวนหลายแสนคน ล่าสุดทางการไทยกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องมายื่นขอต่อวีซ่าเป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 60 วัน โดยต้องยื่นภายใน 31 ตุลาคม 2563 และจะมีผลตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป6 

สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทางการไทยได้ต่ออายุให้กับแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านออกไปเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ แต่สำหรับผู้ที่ถือใบผ่านแดนที่หมดอายุ ให้เดินทางกลับประเทศต้นทาง สำหรับแรงงานประมง ได้มีการลงทะเบียนรอบใหม่ 2 ช่วงคือช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 และช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน 25637 ต่อมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ทางการไทยได้เห็นชอบให้มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากลาว เมียนมา และกัมพูชา 2 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงาน แต่ยังไม่ได้กลับเข้ามา และแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (demand letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว ให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด8 

นอกจากนี้ ได้มีการผ่อนผันให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ โดยต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เช่น นักกีฬาต่างชาติ นักบินและลูกเรือบริษัทการบินไทย ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวประเภทต่างๆ ผู้ขอวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (long stay) ผู้ถือบัตร APEC Card โดยจะเลือกประเทศที่เสี่ยงน้อย เป็นต้น9 และในเดือนตุลาคม 2563 ได้อนุมัติการออกวีซ่านักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) เพื่อเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างที่รอการค้นพบวัคซีน ซึ่งจะทำให้นโยบายการเข้าเมืองของไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต ตามข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่จนต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก


อ้างอิง

  1. ข่าวภูเก็ต 4 เม.ย. 2563
  2. ILO. 2020. COVID-19: Impact on Migrant Workers and Country Response in Thailand. Bangkok: ILO Office for Thailand, Cambodia and Lao PDR
  3. Ibid
  4. S. Nanthini. 2020. In Limbo in ASEAN: Pandemic and Irregular Migration. RSIS Commentary, No. 131-25 June 2020
  5. สืบค้นจาก www.immigration.go.th วันที่ 15 มิ.ย. 2563 
  6. Ibid
  7. ILO, op.cit.
  8. สืบค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2020/26/scoop/10722 วันที่ 15 พ.ย. 2563
  9. ผู้จัดการออนไลน์ 28 ก.ย. 2563
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก

ภูเบศร์ สมุทรจักร

คนไร้บ้าน

อมรา สุนทรธาดา

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th