The Prachakorn

การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ทางโทรทัศน์ดิจิทัลและยูทูบ


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

31 พฤษภาคม 2566
630



จุดประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อสำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ทางโทรทัศน์และยูทูบของประเทศไทย

การโฆษณาเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายอย่างหนึ่งที่องค์กรต่างๆ ใช้ในการสื่อสารสินค้าของตนไปยังลูกค้าเป้าหมาย การโฆษณาช่วยให้มั่นใจได้ถึงการพบเห็นสินค้า เพิ่มยอดขาย สร้างการรับรู้ ปรับปรุงทัศนคติของลูกค้าที่มีต่อสินค้าของบริษัท กระตุ้นความต้องการสินค้า และเพิ่มฐานลูกค้า1 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2565 บริษัทอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยลงทุนโฆษณาสินค้าของตนเองผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์และสื่ออินเทอร์เน็ตสูงมากถึง 18,550 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโฆษณาสูงมากกว่าบริษัทสินค้าอื่นๆ2 การลงทุนโฆษณาด้วยงบประมาณมหาศาลจึงเป็นการเพิ่มการพบเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มของลูกค้า1

อนามัยโลกได้เสนอประสิทธิผลของการสื่อสารการตลาดอาหารซึ่งรวมถึงการโฆษณาไว้ว่า ประสิทธิผลของการสื่อสารการตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยการพบเห็นการสื่อสารการตลาดและปัจจัยอำนาจ (หมายถึง เนื้อหา เช่น การใช้ข้อความ และรูปแบบที่ดึงดูดใจ เช่น ผู้แสดงแบบที่มีผู้มีชื่อเสียง) โดยทั้งสองปัจจัยส่งผลให้เกิดความชอบ ความต้องการหรือร้องขอให้ซื้อ และการบริโภคอาหารของเด็ก3 ข้อมูลจากโครงการการติดตามการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านสื่อโทรทัศน์และยูทูบ ได้บันทึกรายการโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีเรตติ้งสูงสุด จำนวน 2 ช่อง เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 5-11 พฤษภาคม พ.ศ.2565 สำหรับยูทูบนั้น คัดเลือกช่องยูทูบเบอร์ที่มีผู้ติดตามสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศไทย และบันทึกคลิปวีดีโอยอดนิยมที่มีการเข้าชมมากที่สุด 3 คลิป ที่มีความยาวมากกว่า 20 นาทีต่อคลิป ของแต่ละช่องยูทูบเบอร์ ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม -17 เมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งวิเคราะห์โฆษณาตรงเฉพาะโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง4 ตามหลักเกณฑ์การจำแนก โดยแบ่งออกเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์สารอาหารที่ร่างกายได้รับต่อวัน5

ผลการศึกษาพบว่า โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มของ 2 สถานี มีโฆษณาทั้งหมด 4,152 ชิ้น พบว่า ร้อยละ 73 ของโฆษณาเป็นโฆษณาที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่ ร้อยละ 27 เป็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ในโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด ร้อยละ 95 เป็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ซึ่งมากกว่าโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่ำ (คิดเป็นร้อยละ 5) ในส่วนของช่องยูทูบเบอร์ 3 ช่อง ใน 9 คลิปวีดีโอ มีโฆษณาทั้งหมด 124 ชิ้น ร้อยละ 88 ของโฆษณาเป็นโฆษณาที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม และร้อยละ 12 เป็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม โดยโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดนั้นมีมากถึงร้อยละ 67 ที่เป็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ในขณะที่โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่ำ มีเพียงร้อยละ 33

ที่มา www.freepik.com

เมื่อจำแนกประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง พบว่า ร้อยละ 44.9 ของโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิทัลเป็นการโฆษณาในกลุ่มเครื่องดื่มพร้อมดื่มมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนม (ร้อยละ 17.9) และกลุ่มอาหารเสริม (เช่น ซุปไก่สกัด) (ร้อยละ 8.7) ซึ่งโฆษณามีความยาวประมาณ 15 วินาที และพบโฆษณาดังกล่าวในช่วงเวลา 16.01-18.00 น. มากที่สุด ซึ่งเป็นเวลารายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว6 รองลงมาคือ ช่วงเวลา 20.30-22.30 น. ในส่วนของช่องยูทูบเบอร์ ร้อยละ 40 ของโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง เป็นโฆษณากลุ่มอาหารขบเคี้ยวและกลุ่มอาหารสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งใช้รูปแบบการโฆษณาวิดีโอแบบข้ามได้ ความยาว 15 วินาที และโฆษณา video discovery ความยาว 6 วินาที

โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ทางโทรทัศน์ดิจิทัลและยูทูบ มีการแสดงเนื้อหาแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ (1) การบริโภคสินค้าในขณะทำกิจกรรมสันทนาการ (2) การบริโภคสินค้าทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่ดี (3) การบริโภคสินค้าสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนสำคัญของผู้บริโภคและผู้บริโภค (4) ตัวสินค้ามีวัตถุดิบและสารอาหารที่ดีเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและความสวยความงาม (5) การบริโภคสินค้าในขณะทำกิจกรรมสันทนาการ และ (6) การบริโภคสินค้าช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ

ที่มา: โครงการการติดตามการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านสื่อโทรทัศน์และยูทูบ

โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มทั้งทางโทรทัศน์ดิจิทัลและยูทูบเป็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง มากกว่าอาหารและเครื่องดื่มที่ที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่ำ โฆษณาอาหารเครื่องดื่มเหล่านี้ปรากฏในช่วงเวลาที่เป็นรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว6 และยังเป็นช่วงเวลาที่มีเด็กชมโทรทัศน์และยูทูบมากที่สุด คือ ในช่วงเวลา 18.01 – 21.00 น.7,8 อีกทั้ง โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ยังมีเนื้อหาที่โน้มน้าวใจและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเพิ่มความชอบ การซื้อและการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของเด็ก9-12 ถึงแม้ประเทศไทยมีกฎหมายการควบคุมการโฆษณาอาหาร13,14 แต่กฎหมายเหล่านี้ยังควบคุมได้ไม่ครอบคลุมความถี่และเนื้อหาโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการควบคุมโฆษณาอหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ รวมทั้ง ควรรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็ก เช่น การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูงร่วมด้วย


ที่มา:

Jindarattanaporn N. Unhealthy Food and Beverage Advertising on Digital Television and YouTube in Thailand Thai Health Promotion Journal, 1(4) October - December: 396-410.

เอกสารอ้างอิง

  1. Kehinde O, Ogunnaike O, Akinbode M, Aka D. Effective Advertising: Tool For Achieving Client-Customer Relationships. Researchjournali’s Journal of Media Studies 2016; 2: 1-18.
  2. Nielsen Thailand. Advertising information service: total advertising expenditure includes all industries. Bangkok: Nielsen Thailand; 2022.
  3. World  Health Organization. Set of recommendations on the marketing of foods and non-alcoholic beverages to children. Geneva: World Health Organization; 2010.
  4. Jindarattanaporn. N. Advertising of Food and Beverage Products on Digital Television and YouTube: Inappropriate Advertising to Promote Good Health. Thai Health Promotion Journal 2022; 1(4): 369-410.
  5. สำนักโภชนกาาร, กรมอนามัย. คู่มือการจำาแนกอาหาร ขนม นม และ เครื่องดื่มตามมาตรฐานโภชนาการสำหรับเด็กอายุ 3-15 ปี (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2560.
  6. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทําผังรายการสําหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์. กรุงเทพฯ: ราชกิจจานถเบกษา; 2556. p. 22-7.
  7. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การมีอุปกรณ์รับชมรายการโทรทัศน์ในครัวเรือน พ.ศ. 2562. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562.
  8. Beeyond Channel. ลงคลิปตอนไหน ได้ยอดวิวเยอะ. กรุงเทพ: YouTube; 2021. p. https://www.youtube.com/watch?v=86xjMG1HQt4.
  9. Chandon P, Wansink B. Does food marketing need to make us fat? A review and solutions. Nutr Rev 2012; 70(10): 571-93.
  10. Seiders K, Petty RD. Obesity and the Role of Food Marketing: A Policy Analysis of Issues and Remedies. Journal of Public Policy & Marketing 2004; 23(2): 153-69.
  11. Smith R, Kelly B, Yeatman H, Boyland E. Food Marketing Influences Children's Attitudes, Preferences and Consumption: A Systematic Critical Review. Nutrients 2019; 11(4).
  12. Sadeghirad B, Duhaney T, Motaghipisheh S, Campbell NRC, Johnston BC. Influence of unhealthy food and beverage marketing on children's dietary intake and preference: a systematic review and meta-analysis of randomized trials. Obesity Reviews 2016; 17(10): 945-59.
  13. The Public Health Ministerial Notification B.E. 2561 (2018) regarding GDA labeling of nutrition and energy dense, sugar, fat and sodium. .
  14. The Food and Drug Administration Notification regarding Rules on Advertising Foods B.E. 2564 (2021).


CONTRIBUTOR

Related Posts
ความเจ็บปวด

วรชัย ทองไทย

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

Kidfluencer | EP. 2

รีนา ต๊ะดี

ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

ตบมือหรือปรบมือ

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th