The Prachakorn

สมมุติฐาน


วรชัย ทองไทย

14 กุมภาพันธ์ 2563
758



ปรับปรุงล่าสุด 8 สิงหาคม 2563

สมมุติฐาน (hypothesis) คือ ข้อความหรือคำกล่าวที่ตั้งไว้เพื่อพิสูจน์ ซึ่งจะแตกต่างจากข้อสมมุติ (assumption) ที่เป็นข้อความหรือคำกล่าวที่ยอมรับไว้ก่อน โดยไม่ต้องพิสูจน์

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ จึงเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมุติฐานขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงทำการทดลองวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้ โดยทำการวิเคราะห์ทดลองในห้องทดลอง ที่สามารถควบคุมให้มีเฉพาะตัวแปรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องจะถูกกำจัดออกไปหมด

ถ้าพิสูจน์แล้วยอมรับสมมุติฐานก็สรุปได้ว่า ข้อความหรือคำกล่าวนั้นเป็นความจริง และได้องค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา แต่ถ้าไม่ยอมรับสมมุติฐานก็ไม่สามารถสรุปได้ว่า ข้อความหรือคำกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เพียงแต่กล่าวได้ว่า ยังไม่รู้ว่าสมมุติฐานเป็นจริงหรือไม่เท่านั้น

สมมุติฐานนี้เมื่อถูกพิสูจน์ซ้ำหลายๆ ครั้งก็จะกลายเป็นทฤษฎี (theory) ไป ซึ่งทฤษฎีก็คือ ข้อความหรือคำกล่าวที่ได้พิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นความจริง แต่ทฤษฎีก็เป็นความจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงที่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเมื่อฐานความคิดหรือโลกทัศน์เปลี่ยนไป ทฤษฎีก็เปลี่ยนตามไปด้วย

ส่วนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ เป็นการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ จึงไม่สามารถทำการวิจัยในห้องทดลองที่มีแต่ตัวแปรที่เกี่ยวข้องเท่านั้นได้ ยิ่งกว่านั้นตัวปัญหาที่ต้องการแก้ไขก็ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ปัญหาบางอย่างก็อาจคลี่คลายไปเองโดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะความคิดที่เปลี่ยนแปรไปทำให้การมองปัญหาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามการวิจัยทางสังคมศาสตร์มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ ปัญหา สาเหตุของปัญหา หนทางที่จะแก้ไขปัญหา และผลลัพธ์เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว โดยอย่างสุดท้ายจะเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของการวิจัย ที่ยังไปไม่ถึงจนกว่าจะได้ทำตามข้อเสนอแนะแล้ว

สำหรับสามอย่างแรก "ปัญหา" เป็นเพียงจุดประกายเริ่มต้น โดยมี "สาเหตุของปัญหา" หรือ "หนทางที่จะแก้ไขปัญหา" เป็นวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่อาจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ แต่ถ้าการวิจัยทางสังคมศาสตร์ทำเพื่อค้นหาองค์ความรู้ ไม่ได้ทำเพื่อแก้ไขปัญหา วัตถุประสงค์ก็อาจเป็นตัวปัญหาก็ได้ คือทำวิจัยเพื่อให้รู้ว่าอะไรคือปัญหา

วัตถุประสงค์จะกำหนดขอบเขตของการวิจัยให้ชัดเจน เพราะปัญหาทางสังคมมีหลายมิติและมุมมอง วิธีการวิเคราะห์และวิธีแก้ไขปัญหาก็มีหลากหลายเช่นกัน เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ได้แล้ว จึงตามด้วยการทบทวนองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบแนวความคิดต่อไป

กรอบแนวความคิดในการวิจัยคือ รายละเอียดของการทำวิจัย เพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อันประกอบด้วยคำนิยามของตัวแปร ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร วิธีการเก็บข้อมูล และวิธีวิเคราะห์ข้อมูล กรอบแนวความคิดนี้จะใช้เป็นฐานในการตั้งสมมุติฐาน ดังนั้นการทบทวนองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์

ผลการวิจัยที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อใช้แก้ไขปัญหานั้น ต้องมาจากการพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้เท่านั้น แต่ถ้าผลวิจัยไม่ยอมรับสมมุติฐาน ข้อความหรือคำกล่าวที่ต้องการพิสูจน์ ก็จะไม่สามารถนำมาสู่ข้อเสนอแนะได้ เพราะไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุน

จะเห็นได้ว่า สมมุติฐานมีความสำคัญในการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ อย่างไรก็ตามการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถขาดสมมุติฐานได้ เพราะสมมุติฐานเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัย ซึ่งแตกต่างจากการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่จุดเริ่มต้นอยู่ที่วัตถุประสงค์

ดังนั้น การวิจัยทางสังคมศาสตร์อาจไม่มีสมมุติฐานก็ได้ ถ้าไม่ต้องการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการทำวิจัยเพียงเพื่อต้องการอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยที่ยังไม่ต้องการรู้ถึงสาเหตุหรือผลกระทบของปรากฏการณ์นั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม การวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็อาจใช้สมมุติฐานเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยได้เช่นกัน ถ้าเป็นการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ หรือพิสูจน์ความรู้ที่มีอยู่เดิม (คือ พิสูจน์สมมุติฐานหรือทฤษฎี) ในกรณีนี้ การทบทวนองค์ความรู้ก็ลดความสำคัญลงไป โดยความสำคัญจะไปอยู่ที่ข้อมูลและวิธีวิเคราะห์แทน เพราะต้องการที่จะให้ผลวิจัยได้สะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคม

ตัวอย่างที่ดีที่อาจนำมาใช้เป็นสมมุติฐานในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ คือ หลักธรรมในพระไตรปิฎก ได้แก่

  • โภควิภาค 4 คือ การแบ่งทรัพย์เป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เพื่อเลี้ยงตนเอง ครอบครัวและทำประโยชน์แก่สังคม อีก 2 ส่วนเพื่อใช้ลงทุนประกอบการงาน และที่เหลือ 1 ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น
  • สังคหวัตถุ 4 คือ หลักการประสานสามัคคี ประกอบด้วย 1. ทาน คือ การให้ 2. ปิยวาจา คือ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน 3. อัตถจริยา คือ ขนขวายช่วยเหลือกิจการ และ 4. สมานัตตตา คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย
  • คิหิสุข คือ ความสุขของผู้ครองเรือน ประกอบด้วย 1. สุขเกิดจากความมีทรัพย์ 2. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ 3. สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ และ 4. สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ
  • อบายมุข 6 คือ ช่องทางเสื่อมทรัพย์ ประกอบด้วย 1. ติดสุราและของมึนเมา 2. ชอบเที่ยวกลางคืน 3. ชอบเที่ยวดูการละเล่น 4. ติดการพนัน 5. คบคนชั่ว และ 6. เกียจคร้านการงาน
     

เพราะคำสอนเหล่านี้มีกว่า 2,500 ปี ซึ่งมีมาก่อนวิทยาศาสตร์เสียอีก และได้ผ่านการทดสอบมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นความจริง จึงน่าจะนำมาพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ด้วยข้อมูลปัจจุบัน

นอกจากนี้ สมมุติฐานยังอาจได้มาจากความคิดกระฉูด ตำนาน นิทาน สุภาษิต หรือคำกล่าวแปลก ๆ ก็ได้ ซึ่งงานวิจัยเช่นนี้ก็ได้รับรางวัลอีกโนเบลไปตามระเบียบ ได้แก่

  • ปี 2539 สาขาฟิสิกส์ มอบให้กับ Robert Matthews นักวิจัยอังกฤษที่ศึกษากฏของเมอร์ฟี (Murphy's Law) ที่กล่าวว่า "ในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ายังมีความเป็นไปได้ที่จะทำผิด โอกาสที่จะมีคนทำผิดย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" โดยได้สาธิตให้เห็นว่า ถ้าขนมปังทาเนยเกิดอุบัติเหตุตกถึงพื้น ด้านที่อยู่ข้างล่างมักจะเป็นด้านที่ทาเนยเสมอ
  • ปี 2541 สาขาสถิติ มอบให้กับนักวิจัยคานาดา 2 คน คือ Jerald Bain และ Kerry Siminoski ในผลงานที่ต้องวัดด้วยความละเอียดละออ เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างความสูง ความยาวของจู๋ และขนาดของเท้า”
  • ปี 2547 สาขาสาธารณสุข ได้มอบให้กับ Jillian Clarke นักเรียนมัธยมปลายอเมริกัน ที่ต้องการพิสูจน์ว่า อาหารที่ตกลงพื้นไม่เกิน 5 วินาที สามารถหยิบกินได้อย่างปลอดภัย
  • ปี 2549 สาขาฟิสิกส์ มอบให้กับนักวิจัยฝรั่งเศส 2 คน คือ Basile Audoly และ Sebastien Neukirch กับผลงานวิจัยที่ต้องการรู้ว่า ทำไมเมื่อหักเส้นสปาเกตตี้แห้ง จะได้เส้นสปาเกตตี้มากกว่าสองท่อนเสมอ (ดังรูป)   


ที่มา: http://themashupmission.blogspot.com/2012/08/breaking-is-bad.html
สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563
 

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่กระตุ้น “ตุ่มหัวเราะ” ก่อน “ตุ่มความคิด”

หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “สมมุติฐาน” ใน ประชากรและการพัฒนา 31(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2553:8



CONTRIBUTOR

Related Posts
สมมุติฐาน

วรชัย ทองไทย

หาว

วรชัย ทองไทย

สร้างรักแท้ด้วยทฤษฎีเกม

ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์

ต้นทุนของการมีลูก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

หลุมดำ

วรชัย ทองไทย

ขั้นตอนวิธี (algorithm)

วรชัย ทองไทย

คณิตศาสตร์

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th