โครงการ “การสำรวจนวัตกรรมทางสังคมในชุมชนเพื่อเกื้อหนุนผู้สูงอายุ: กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูด” เป็นโครงการที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกให้ดำเนินการในปี 2560 กรณีศึกษาจากประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับคัดเลือกให้ศึกษาและนำเสนอในการประชุม Consultation on Community-Based Social Innovation (CBSI) for Healthy Ageingin Middle- and High-Income Countries ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษานวัตกรรมทางสังคมในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ว่ามีบทบาทและบริการอย่างไรต่อชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและอยู่ดีมีสุข และเพื่อศึกษากลไกทางสังคม ความช่วยเหลือการสนับสนุนที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ระบบดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ตารางด้านล่างนี้สรุปนวัตกรรมทางสังคมของแต่ละประเทศ เพื่อให้ได้เรียนรู้การเตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในประเทศต่างๆ
การประชุมดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความยั่งยืนของระบบหรือกลไกต่างขึ้นกับงบประมาณ หลายโครงการในต่างประเทศริเริ่มจากหน่วยงาน หรือองค์กรท้องถิ่น หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรแต่เมื่องบประมาณสิ้นสุดลง โครงการเหล่านั้นไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ผู้สูงอายุเย็บหมวกกระจูดด้วยจักรที่บ้าน
ภาพโดย: จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดมีเอกลักษณ์อันเกิดจากภูมิปัญญาของผู้สูงอายุที่สั่งสมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้สูงอายุและคนในชุมชน ปัจจุบันรุ่นหลานซึ่งได้รับการศึกษาขั้นปริญญา ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการหาตลาดนำงานวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น ทนทานมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของวัตถุดิบธรรมชาติวิสาหกิจชุมชนที่มีผู้สูงอายุเป็นกำลังแรงงานฝีมือและคนรุ่นใหม่เป็นคนบริหารจัดการนับเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้นวัตกรรมทางสังคมนี้พัฒนาได้อย่างยั่งยืนวิสาหกิจชุมชนไม่เพียงสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุได้ออกกำลังตามสถานะสุขภาพ และมีส่วนร่วมทางสังคมในเชิงธุรกิจ ทำให้สุขภาพกายและจิตแข็งแรง เมื่อผู้สูงอายุมีครบ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สุขภาพดี การมีส่วนร่วมในสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงเรียกได้ว่าผู้สูงอายุ “อยู่ดีมีสุข” วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดมีความแตกต่างจากโครงการอื่น เพราะเป็นโครงการที่เกิดจากความเชี่ยวชาญและความต้องการของผู้สูงอายุในท้องถิ่นเอง จากกลุ่มแม่บ้านที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อก่อตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่พบมากในภาคใต้ของประเทศไทย อีกทั้งได้รับความอนุเคราะห์เครื่องมือจากส่วนงานต่างๆ เช่น เรือนกระจกเพื่ออบแห้งให้กระจูดไม่ขึ้นรา เตาประหยัดพลังงานเพื่อการย้อมสีธรรมชาติเครื่องรีดเส้นกระจูด และได้พัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ตามกลไกตลาด นั่นคือความต้องการของลูกค้าเป็นตัวกำหนดการผลิต
หัตถกรรมจักสานกระจูด
ภาพโดย ผู้เขียน
ประเทศ | นวัตกรรม |
ชิลี | การส่งเสริมให้ผู้นำชุมชนมีเครื่องมือเพื่อช่วย เหลือผู้สูงอายุด้านสุขภาพระบบเตือนนัดหมายแพทย์และข้อมูลสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ |
จีน | การช่วยเหลือผู้สูงอายุในกิจกรรมประจำวัน |
อิหร่าน | การอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพ ทำกิจกรรมสังสรรค์ ดนตรี กีฬา กิจกรรมระหว่างวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย |
เลบานอน | มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ |
รัสเซีย | โปรแกรมครอบครัวดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ญาติที่บ้านอยู่ใกล้กัน (Foster families) |
เซอร์เบีย | เครือข่ายทางสังคมและช่วยเหลือผู้สูงอายุกันเองในชุมชน ช่วยเตรียมอาหาร ทำความสะอาดซ่อมแซมบ้าน พาไปพบแพทย์ และกิจกรรมทางสังคม |
ศรีลังกา | การอบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลผู้สูงอายุ |
ไทย | วิสาหกิจชุมชนจักสานกระจูดเป็นธุรกิจผลิตเครื่องใช้ด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่น |
ยูเครน | โครงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปรับตัวกับสังคมยุคใหม่ |
เวียดนาม | เครือข่ายอาสาสมัคร ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้สูงอายุ |
ที่มา: จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 38 ฉบับที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2561
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ศุทธิดา ชวนวัน
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
ศุทธิดา ชวนวัน
ศิรดา เขมานิฏฐาไท
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
กาญจนา เทียนลาย
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล