The Prachakorn

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?


สุริยาพร จันทร์เจริญ

18 มีนาคม 2565
355



เมื่อประมาณปลายปี 2564 การเดินทางของเชื้อโควิด-19 พาประเทศไทยเข้าสู่ระลอกที่ 5 จนได้ ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก1 ได้ตั้งชื่อไวรัสโคโรน่าของระลอกนี้ว่า โอมิครอน สายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากง่ายต่อการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว หากดูข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม ย้อนหลัง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จะพบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 2,223,435 ราย และผู้เสียชีวิตสะสมจำนวน 21,698 ราย2

“โอมิครอน” ได้ชื่อว่าเป็นเชื้อไวรัสที่เก่งกาจในเรื่องการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็แสดงว่า คนเราจะได้รับเชื้อได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน เชื่อหรือไม่ ? ผู้ที่ได้รับเชื้อโอมิครอนระลอกนี้ แทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองได้รับเชื้อมาแล้ว ที่ผู้เขียนสามารถระบุเช่นนี้ได้ เพราะว่าเกิดจากประสบการณ์ตรงที่ได้เกิดขึ้นกับตนเอง และมิหนำซ้ำก่อนจะทราบผลการตรวจ ATK และ RT-PCR ว่าเป็นบวกเพียงหนึ่งสัปดาห์ ผู้เขียนได้มีการไปรับวัคซีนเข็มที่ 3 มาเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย ขณะนั้นยังคิดอยู่เลยว่าหลังจากฉีดวัคซีนมักจะเป็นเรื่องปกติไหมที่เราต้องอ่อนเพลีย อาการเหมือนจะป่วยแต่ไม่ป่วย และไม่มีไข้ และโดยปกติเป็นภูมิแพ้มีน้ำมูกไหลในช่วงเช้าอยู่แล้ว มีอาการไอนิดหน่อย ซึ่งคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงอากาศเย็นๆ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงหลังปีใหม่ที่บ้านเรามีอากาศเย็นขึ้นกว่าปกติในทุกๆ ปีอยู่แล้ว จึงไม่ได้สงสัยอาการที่เกิดขึ้นกับตนเองแต่อย่างใด จนในที่สุดพี่สาวสังเกตอาการของลูกตนเองมีน้ำมูกไหล ไอ ตัวรุมๆ เล็กน้อย และปวดท้อง ซึ่งตอนนั้นได้แค่เอะใจในช่วงวันแรกๆ แต่พอมีอาการติดต่อกัน 2 – 3 วันจึงเริ่มสงสัยและตัดสินใจลงทะเบียนเพื่อขอรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 เป็นครั้งแรก โดยไปตรวจคัดกรองกันทั้งหมด 4 คน ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันและใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาก หลังจากตรวจ ATK เรียบร้อยแล้วนั่งรอผลประมาณ 30 นาที เจ้าหน้าที่เรียกพบและแจ้งผลว่าเป็นบวก 3 คน ส่วนพี่สาวของผู้เขียนเป็นคนเดียวที่มีผลเป็นลบ แต่ต่อมาพบผลบวกด้วยวิธี RT-PCR หลังจากตรวจรอบแรกหนึ่งสัปดาห์ ตอนนั้นรู้สึกงงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าและมีคำถามว่า เอ๊ะ !!! เราติดได้อย่างไร ในเมื่อวันๆ หนึ่งการใช้ชีวิตประจำวันแทบจะไม่ได้พบเจอใครเลย มีบ้างที่ออกไปห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ๆ มีผู้คนเยอะๆ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อย ถ้านับครั้งได้ในช่วงก่อนติดเชื้อจะไปเพียง 2 ครั้งเท่านั้น และไม่ได้อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ และสวมหน้ากากอนามัยกับพกแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดและฆ่าเชื้อติดตัวไปด้วยตลอด แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่จะต้องมาหาสาเหตุกันให้ยืดยาว เพราะในเมื่อติดแล้วเราต้องรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรมากกว่า จึงไม่รอช้ารีบโทรแจ้งกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่อยู่ใกล้ชิดกับตนเองก่อนหน้านี้ให้ได้ทราบเพื่อไปตรวจคัดกรองด้วย แต่ก็โล่งใจเพราะผลการตรวจของผู้ใกล้ชิดกับเราทุกคนเป็นลบและยังคงปลอดภัยกันดีอยู่

รูป ผลตรวจ COVID-19 จากห้องปฏิบัติการงานวินิจฉัยระดับโมเลกุลและการตรวจเฉพาะทาง

ผู้เขียนได้เข้ารับการรักษาตัวที่ Hospitel 10 วัน และอย่างที่ได้ระบุไว้แล้วว่าอาการติดเชื้อโควิดระลอกนี้แทบจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย ขณะนั้นอาการหลักๆ คือมีน้ำมูกไหล มีเสมหะ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ไม่มีไข้ ความดันโลหิตปกติ ออกซิเจนปลายนิ้วปกติ ผลการเอ็กซ์เรย์ปอดปกติ ลักษณะอาการคล้ายโรคภูมิแพ้ ส่วนอาการที่คิดว่าน่าจะแปลกออกไปจากคนส่วนใหญ่คือมีผื่นแดงขึ้นบริเวณต้นขา แขน มือ และแผ่นหลัง แต่อาการที่มีผื่นแดงขึ้นเป็นอยู่เพียง 2 วันหลังจากทราบผลเป็นบวก หลังจากนั้นก็หายเป็นปกติ ส่วนอาการอื่นๆ ยังคงมีอยู่ปกติ ระหว่างที่รับการรักษาตัวอยู่ได้รับประทานยาตามแพทย์สั่งจนครบ 10 วัน จากนั้นกลับไปกักตัวต่อที่บ้านอีก 1 สัปดาห์เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อจะไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ และในระหว่างนี้ผู้เขียนได้สังเกตอาการตัวเองตั้งแต่ออกมาจาก Hospitel จนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมๆ เกือบ 2 เดือนแล้ว ยังพบว่ามีอาการที่ร่างกายยังคงอ่อนเพลียอยู่ รู้สึกหายใจไม่เต็มอิ่ม หากได้ใช้เสียงพูดนานๆ ติดต่อกัน 30 นาทีขึ้นไปจะเริ่มรู้สึกเหนื่อย นอกจากนี้ ในการออกกำลังกาย ช่วงก่อนติดเชื้อจะสามารถออกกำลังกายได้เป็นเวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น แต่หลังจากได้รับเชื้อ รู้สึกว่าประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง รู้สึกเหนื่อยง่าย และต้องค่อยๆ ใช้แรงเพื่อออกกำลังกายน้อยลงกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ผู้เขียนได้มีการพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือคนรู้จักที่มีประวัติการติดเชื้อโควิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับผู้เขียนว่าอาการก่อนและหลังติดเชื้อโควิดเป็นอย่างไรบ้างหรือมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง คำตอบที่ได้จะคล้ายคลึงกันคือหลักๆ จะรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งในกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักที่ได้พูดคุยกันทั้งหมด 11 คน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจจะเป็นอาการของ Long COVID คืออาการที่ยังคงหลงเหลือหลังจากการรักษาหายแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข3 ที่พบว่าใน 1-3 เดือนแรก ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาโดยเฉพาะกลุ่มป่วยรุนแรงยังคงมีอาการไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า หรือแม้แต่เดินขึ้นบันไดประมาณ 10 ขั้นก็จะรู้สึกหอบหรือเหนื่อยกว่าปกติ จึงต้องค่อยๆ ปรับการเดินให้ช้าลง หรือแม้แต่เรื่องการออกกำลังกายเช่นกันจะพบอาการคล้ายๆ กันคือมีประสิทธิภาพการออกกำลังกายลดลงจากเดิม แต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เพียงแต่ต้องหาอาหารมาบำรุงร่างกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ 

โควิด-19 ในปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์หรือความเก่งในการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญไม่ปรากฏอาการให้เห็นได้อย่างชัดเจน ผู้ติดเชื้อมารู้ตัวอีกทีก็อาจจะพบว่าเชื้อโควิดที่ได้รับนั้นเหลือน้อยแล้วหรือใกล้จะหายแล้ว ในช่วงระยะเวลานี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวมากที่สุดเพราะการได้รับเชื้อแล้วแต่ไม่ได้รับการรักษา นั่นหมายความว่าคุณสามารถที่จะแพร่เชื้อโรคนี้ไปสู่ผู้อื่นได้ และถ้าผู้ที่ได้รับเชื้อต่อจากเราซึ่งอาจจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งร่างกายจะอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากได้รับเชื้อโควิดเข้าไปอีกอาจจะส่งผลต่อชีวิตของผู้อื่นได้ด้วย ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ และยึดถืออย่างเคร่งครัด4 คือ 1) การรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 – 2 เมตร 2) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน 3) แยกรับประทานอาหาร 4) ทำความสะอาดที่พักอาศัย และสิ่งของที่สัมผัสบ่อย 5) หมั่นล้างทำความสะอาดมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่ได้รับเชื้อโควิดมาแล้วต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของตนเองด้วย หรือหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาเปรียบเทียบกับอาการของตนเองว่ายังอยู่ในระดับที่ปกติอยู่หรือไม่ เพราะทุกคนสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก และหากพบว่ามีความผิดปกติ อาจจะต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวหรือรับการรักษาอาการอย่างอื่นต่อไป

ที่มา https://www.shopat24.com/blog/trending/protect-yourself-from-the-covid-19-virus-and-reduce-the-risk-of-further-infection/


อ้างอิง

  1. องค์การอนามัยโลก. ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 8 มีนาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.who.int/thailand/news/detail/29-11-2021-Update-on-Omicron 
  2. กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 อัพเดทรายวัน [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 8 มีนาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก : https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/
  3. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. หายป่วยแล้ว ทำไมยังเหมือนมีอาการโรคโควิด 19 [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 8 มีนาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=20647&deptcode=brc
  4. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. How to ดูแลชีวิตอยู่กับ COVID อย่างมีความหวัง. กรุงเทพฯ : บริษัท ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป จำกัด ; 2564.


CONTRIBUTOR

Related Posts
อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th