ความจริงหรือสัจจะมี 2 ชนิดคือ สมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ สมมุติสัจจะเป็นความจริงโดยสมมุติ เป็นความจริงที่ขึ้นด้วยการยอมรับของมนุษย์ด้วยกัน เป็นความจริงที่นิยามกันไว้ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ โต๊ะ เก้าอี้ เงินตรา ส่วนปรมัตถสัจจะนั้นเป็นความจริงโดยปรมัตถ์คือ เป็นความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นความจริงที่ไม่ขึ้นต่อการยอมรับของมนุษย์ เป็นความจริงตามความหมายขั้นสุดท้าย ที่แท้จริง ตรงตามสภาวะ และเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่น รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก สัญญา สังขาร วิญญาณ
สำหรับความจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นความจริงแท้หรือไม่ หลายคนคิดว่าใช่ เพราะความจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นความจริงที่ได้ผ่านการทดลองพิสูจน์เชิงประจักษ์มาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเชื่อว่าใช่ ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปนี้
ความจริงทางวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีนั้น ตั้งต้นด้วยนิยามหรือข้อสมมุติเบื้องต้น (สิ่งที่ยอมรับโดยไม่ต้องพิสูจน์) ก่อน ต่อจากนั้นจึงตั้งสมมุติฐาน เพื่อพิสูจน์ด้วยการทดลองด้วยหลักของตรรกะหรือหลักของความเป็นเหตุผล ถ้าพิสูจน์แล้วยอมรับสมมุติฐานก็เท่ากับยอมรับว่าทฤษฎีถูกต้อง
ความจริงหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ จะต้องทดลองและพิสูจน์ซ้ำอยู่เสมอ เพื่อให้คงความเป็นจริงนี้ไว้ และเมื่อใดก็ตามที่สามารถทดลองพิสูจน์ได้ว่า ทฤษฎีที่ตั้งไว้ผิด ทฤษฎีนั้นก็จะยกเลิกไปคือ ไม่นับว่าเป็นความจริงอีกต่อไป ดังตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ความจริงทางวิทยาศาสตร์ข้อหนึ่งได้กลายเป็นความไม่จริงไป นั่นคือ ความจริงที่ว่า ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (solar system) เพราะในวันนั้นความจริงคือ ดาวพลูโตไม่เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเสียแล้ว
ก่อนวันดังกล่าว ระบบสุริยะมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีบริวารเป็นดาวเคราะห์ล้อมรอบอยู่ 9 ดวง เรียงตามลำดับจากดวงอาทิตย์ออกมาคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และดาวพลูโต ในสมัยแรกๆ ดาวเคราะห์มีเพียง 5 ดวงแรก (ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส) ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ และได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นๆ ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จนในปี 2473 จึงพบดาวพลูโต หลังจากนั้นก็ได้พบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายดาวพลูโตอีกมากมายหลายแสนดวง
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้องพิจารณารับดาวเคราะห์ที่ค้นพบใหม่ ให้เข้ามาอยู่ในระบบสุริยะอยู่เรื่อยๆ ที่ประชุมองค์การดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union: IAU) จึงมีมติเปลี่ยนคำนิยามของดาวเคราะห์ (planet) เสียใหม่ นิยามใหม่นี้ได้เปลี่ยนสถานะของดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet)
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ความจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นความจริงแท้ แต่เป็นความจริงที่สมมุติขึ้น เพราะเมื่อนิยามเปลี่ยน ความจริงก็กลายเป็นความไม่จริง
เมื่อปี 2540 รางวัลอีกโนเบล ก็เคยมอบรางวัลให้กับผลงานที่ยอมรับกันว่าถูกต้องในช่วงแรก แต่ไม่ถูกต้องในเวลาต่อมา (ก่อนการประกาศผล) ถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลอีกโนเบล สาขาดาราศาสตร์ ที่มอบให้กับ Richard Hoagland แห่งรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขียนหนังสือกล่าวถึงสิ่งก่อสร้างรูปหน้าคนบนดาวอังคาร และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สูงกว่า 10 ไมล์ บนดวงจันทร์ด้านที่หันออกจากโลก
อีกรางวัลหนึ่งคือ รางวัลอีกโนเบล สาขาวรรณกรรม ที่มอบให้แก่ Donron Witztum, Eliyahu Rips และ Yoav Rosenberg จากประเทศอิสราเอล กับ Michael Drosnin จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตผลงานวิจัยและเขียนหนังสือที่กล่าวว่า ในคัมภีร์ไบเบิลมีรหัสลับซ่อนอยู่
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ให้กับงานวิจัย ที่ทำให้หัวเราะเสียก่อน ก่อนแล้วจึงคิด
ที่มา: วรชัย ทองไทย. 2549 “ความจริงทางวิทยาศาตร์” ใน ประชากรและการพัฒนา 27(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2549: 6
มนสิการ กาญจนะจิตรา
วรชัย ทองไทย
สุชาดา ทวีสิทธิ์
จีรวรรณ หงษ์ทอง
วรชัย ทองไทย
รีนา ต๊ะดี
รีนา ต๊ะดี
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
สุชาดา ทวีสิทธิ์
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย