The Prachakorn

ผู้ลี้ภัยในเมือง กับความคุ้มครองในสังคมไทย


สุรีย์พร พันพึ่ง

11 เมษายน 2565
785



“ผู้ลี้ภัย (Refugee)” หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องอพยพไปยังประเทศอื่น มีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ กลุ่มทางสังคม โดยผู้ลี้ภัยส่วนมากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางเนื่องมาจากความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุมหรือการถูกคุกคามต่อชีวิต1 ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือ “ผู้ลี้ภัย” อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวหรือค่ายผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลไทยจัดหาให้ และมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR)2 ดูแลเรื่องการอุปโภค-บริโภค การศึกษาและการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยใน 9 ค่าย ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมา 91,363 คน3 มาจากประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดงและพม่า บางคนเข้ามาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 หลังจากเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัย และไม่สามารถทำงาน

กลุ่มที่สองคือ “ผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban refugee)” เดินทางคนเดียวหรือกับครอบครัว หาที่พักในเขตเมืองด้วยตนเอง ตั้งใจเข้ามาขอสถานะ “ผู้ขอลี้ภัย (Asylum seeker)” เพื่อไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม โดยมี UNHCR ช่วยดำเนินการ ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเมือง จำนวน 5,155 คน จากประมาณ 40 ประเทศ ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองโดยรอบ4

ประเทศไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 อีกทั้งยังไม่มีกรอบกฎหมายระดับชาติสำหรับการคุ้มครองเฉพาะสำหรับ “ผู้ลี้ภัย” ดังนั้นผู้ลี้ภัยจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองเช่นเดียวกับชาวต่างชาติอื่นๆ นอกจากนี้เอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยที่ออกโดย UNHCR นั้นไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐไทยส่งผลให้ผู้ลี้ภัยที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม กักกัน และถูกส่งกลับไปประเทศต้นทาง

รูป: ผู้อพยพในเมือง: แม้เป็นการรอคอยที่ไร้พลังและสิ้นหวังจากซอกหลืบของสังคม ขอเพียงโอกาสในชีวิตอีกครั้ง
ที่มา: จับภาพนิ่ง: มาจาก https://vimeo.com/173200530 สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565

ข้อมูลเบื้องต้นจากการวิจัยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในเมือง5 ทำการสัมภาษณ์ระดับลึกจาก ผู้ลี้ภัยในเมืองที่มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา อาศัยในกรุงเทพฯและเขตเมืองของจังหวัดปริมณฑล พบว่าเกือบทั้งหมดหนีมาจากการถูกจับกุมหรือถูกคุกคามต่อชีวิตโดยรัฐบาลส่วนหนึ่งไม่สามารถนำเอกสารแสดงตนหรือพาสปอร์ตติดตัวมาในขณะที่มีบางส่วนที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายแต่กลายเป็นผิดกฎหมายเพราะอยู่เกินอายุวีซ่าเนื่องจากกระบวนการอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยนั้นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ลี้ภัยในเมืองบางคนรอผลตอบรับจากประเทศที่สาม นานกว่า 10 ปี

ถึงแม้ว่า ผู้ลี้ภัยในเมืองที่ได้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จะได้รับเงินช่วยเหลือด้านที่พัก และทราบว่าไม่มีสิทธิทำงานในประเทศไทย แต่ผู้ลี้ภัยในเมืองก็จำเป็นต้องหางานทำเพราะเงินช่วยเหลือหรือเงินเก็บที่มีนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การศึกษานี้พบว่าผู้ขอลี้ภัยเกือบทุกคนมีประสบการณ์ถูกตำรวจเรียกตรวจหรือถูกจับกุม นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และการศึกษาของเด็กที่มีปัญหาในด้านค่าใช้จ่าย และการสื่อสารในโรงเรียน

ขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ และการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐUNHCR และพันธมิตร ซึ่งคาดว่าผู้ลี้ภัยจะได้การดูแลและคุ้มครอง ที่สอดคล้องกับ “หลักมนุษยธรรมและการดูแลกลุ่มผู้เข้าเมืองอย่างผิดปกติที่หลากหลาย” ตามข้อตกลงโลกว่าด้วย “การโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ” (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration–GCM) เช่น ไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับ และไม่ให้มีการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ


อ้างอิง

  1. https://www.unhcr.org/th/the-1951-refugee-convention สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565
  2. UNHCR มีหน้าที่ ให้ความคุ้มครอง และหาทางออกที่ยั่งยืนแก่ผู้ลี้ภัยมีหลักการ “ไม่ผลักดันกลับ” ไปยังประเทศที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับภัยร้ายแรงต่อชีวิตหรืออิสรภาพ
  3. https://www.unhcr.org/th/wpcontent/uploads/sites/91/2022/03/Thailand_Myanmar_Border_Refugee_Population_Overview_February2022.pdf สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565
  4. https://www.unhcr.org/th/wp-content/uploads/sites/91/2022/01/DRAFT_MCO-Factsheet_31-December-2021-4.pdf สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565
  5. โครงการ “The Transitional Lives of Bangkok’s Urban Refugees” ดำเนินงานโดยนักวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เก็บข้อมูลระหว่าง ตุลาคม-ธันวาคม 2564

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

Long Stay สุขใจในต่างถิ่น

ณัฐณิชา ลอยฟ้า

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th