หากให้นึกถึงผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะการดูแลผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือเป็นผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ บุคคลแรกที่เรานึกถึงน่าจะเป็น “แม่” คนต่อไปมักจะเป็น “พ่อ” แล้วลำดับถัดไปคงไม่พ้น ปู่-ย่า-ตา-ยาย หรือญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นคนในครอบครัว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมผลักดันให้คนต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวเองได้ เราจึงไม่สามารถมองข้ามผู้ดูแลที่เป็นคนนอกครอบครัวได้เลย
ผู้ที่ต้องการการดูแล มีอยู่ทุกวัย ตั้งแต่ทารก เด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ (ทั้งที่ยังช่วยตนเองได้ หรือเจ็บป่วย ติดเตียง) รวมถึงผู้พิการ (ทางร่างกาย สมอง) และผู้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่ต้องการผู้ดูแล ซึ่งแต่ละวัย แต่ละกลุ่มมีความต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน
การดูแลผู้อื่นเป็นภาระที่หนักหน่วง สามารถส่งผลกระทบต่อผู้ดูแลทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจของแต่ละคน รวมถึงภาระหน้าที่อื่นของผู้ดูแลด้วย บ่อยครั้งที่เราให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับการดูแล จนลืมคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลไป
หากมองถึงผลกระทบต่อผู้ได้รับการดูแล ผู้ดูแลที่มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีทักษะความรู้ย่อมส่งผลให้เกิดการดูแลที่ดี ในทางกลับกันผู้ดูแลที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดีจะส่งมอบการดูแลที่ดีได้อย่างไร คุณภาพของการดูแล จึงขึ้นอยู่กับตัวผู้ดูแลเป็นสำคัญ มีงานวิจัยที่พบความสัมพันธ์ของผู้ดูแลกับผู้ที่ได้รับการดูแลทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
งานวิจัยหนึ่งของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม คือโครงการ “ความอยู่ดีมีสุขของลูก และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลสูงวัย กับการย้ายถิ่นของพ่อแม่ในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้” มีผลการศึกษาเกี่ยวกับผู้ดูแลที่น่าสนใจ การศึกษานี้เน้นผู้ดูแลเด็กและวัยรุ่นในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่พ่อ/แม่ หรือทั้งพ่อและแม่อยู่และไม่ได้อยู่บ้าน ซึ่งสาเหตุที่ไม่อยู่บ้านส่วนใหญ่เนื่องจากย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น โดยในบริบทการย้ายถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้นั้นผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่เป็นพ่อ ผู้ดูแลลูกจึงมักเป็นแม่ มีบางส่วนที่เป็นปู่-ย่า-ตา-ยาย เพราะแม่ต้องทำ.งาน หรือเป็นเพราะทั้งพ่อและแม่ย้ายถิ่นทั้งคู่ มีบ้างที่เป็นคนอื่นดูแลในการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการที่ไม่มีพ่อ หรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่อยู่บ้าน พบว่า เด็กเล็กๆ (อายุ 7-12 เดือน) ที่แม่ไม่ได้อยู่ด้วยมีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้าในด้านความเข้าใจภาษา และยังพบว่า การมีกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก สติปัญญา และการใช้ภาษาของเด็ก ผู้ดูแลที่สนับสนุนให้เด็กมีกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการจึงมีความสำคัญ ในส่วนของเด็กวัยรุ่น พบว่า ผู้ที่ไม่มีแม่อยู่ด้วยมีโอกาสมีผลการเรียนที่ดีน้อยกว่าเพื่อนๆ ที่อยู่กับแม่ การมีแม่อยู่ด้วยซึ่งมีนัยว่า มีแม่เป็นผู้ดูแล จึงมีความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขของทั้งเด็กเล็กและวัยรุ่น
ผลการศึกษาเดียวกัน พบว่า การอยู่ในครอบครัวที่ให้การสนับสนุนที่ดี มีสถานะทางเศรษฐกิจดี รวมถึงผู้ดูแลมีสุขภาพดี มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการมีสภาวะทางจิตใจที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ดูแล ในขณะที่การได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีความสัมพันธ์เชิงลบต่อผู้ดูแลทั้งด้านจิตใจและคุณภาพชีวิต ดังนั้น การสนับสนุนความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลจึงต้องคำนึงถึงบทบาทของครอบครัว ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการส่งเสริมความเข้มแข็งทางสุขภาพของผู้ดูแล ขณะเดียวกันการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยสงบสุขก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
การศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ดูแลทั้งต่อพัฒนาการของเด็กและการศึกษาของวัยรุ่น หากผู้ดูแลถูกมองข้าม ถูกละเลยให้มีสภาวะจิตใจที่ไม่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของเด็กที่จะเติบโตต่อไป เราจึงควรให้การดูแลผู้ดูแลที่เสียสละดูแลสมาชิกครอบครัวของเรา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งของตัวผู้ดูแลเอง และลูกหลานของเราอันเป็นผลจากการดูแลของผู้ดูแลต่อไป
รูป: พนักงานสัมภาษณ์กำลังสอบถามข้อมูลจากผู้ดูแลเด็กในครอบครัว
ถ่ายภาพโดย: พนักงานสัมภาษณ์ ในการเก็บข้อมูลรอบสาม เมื่อปี 2564