The Prachakorn

ศีลธรรม


วรชัย ทองไทย

30 มิถุนายน 2565
22,482



ศีลธรรม (morality) หมายถึงความประพฤติที่ดีที่ชอบ อันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตในสังคม กล่าวคือ สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุข ดำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองได้ ก็ต่อเมื่อคนในสังคมมีศีลธรรม แต่ถ้าสังคมใดที่คนในสังคมขาดศีลธรรม สังคมนั้นก็จะระส่ำระสายและล่มสลายในที่สุด

ศีลธรรมมี 2 แบบคือ ศีลธรรมที่เป็นวัตถุวิสัย (objective) อันเป็นศีลธรรมที่กำหนดลงมาโดยพระเจ้า (หรือคำสอนของศาสนา) และศีลธรรมที่เป็นจิตวิสัย (subjective) อันเป็นศีลธรรมเฉพาะตัว ที่ได้มาจากความเห็นร่วมกันในสังคม

คนในสังคมรู้จักและเรียนรู้ศีลธรรมจากพ่อแม่ เพื่อน โรงเรียน ศาสนา ขนบธรรมเนียนประเพณีในสังคมของตน คนในแต่ละสังคมจะมีแนวคิดทางศีลธรรมที่แตกต่างกันไป

สังคมไทยมีรากฐานจากศาสนาพุทธ ศีลธรรมของคนไทยจึงมาจากศาสนาพุทธ ดังจะเห็นได้จากรากศัพท์ของ “ศีลธรรม”

ศีลธรรมเป็นลูกคำของ “ศีล” อันหมายถึง การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย หรือข้อบัญญัติทางศาสนาพุทธ ที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เช่น ศีล 5 ศีล 8

ศีลธรรมจึงหมายถึงความประพฤติที่ดีที่ชอบ หรือศีลและธรรม ดังนั้น คนมีศีลธรรมจึงหมายถึง คนมีเบญจศีลเบญจธรรม (ศีล 5 และธรรม 5) หรืออัฏฐศีลอัฏฐธรรม (ศีล 8 และธรรม 8)

เบญจศีลเบญจธรรมเป็นข้อกำหนดของการประพฤติชอบทางกายและวาจา 5 คู่ ที่สนับสนุนกัน แบ่งเป็นสิ่งที่ห้ามทำ 5ประการ (เบญจศีล) และสิ่งที่ควรทำ 5 ประการ (เบญจธรรม)

เบญจศีลหรือศีล 5 เบญจธรรมหรือธรรม 5

1. ห้ามฆ่าสัตว์ (รวมทั้งมนุษย์)
2. ห้ามลักทรัพย์
3. ห้ามประพฤติผิดในกาม  
4. ห้ามพูดเท็จ 
5. ห้ามดื่มน้ำเมา (และสิ่งเสพย์ติด)  

1. ควรมีเมตตากรุณา
2. ควรหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต
3. ควรยับยั้งควบคุมทางกาม
4. ควรมีความซื่อสัตย์
5. ควรมีสติสัมปชัญญะ

เราจึงถือว่า คนมีศีลธรรมคือ คนที่ถือศีล 5 (และธรรม 5) อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่คนในสังคมควรปฎิบัติเป็นประจำ เพื่อความสงบสุขของสังคม

สำหรับสังคมตะวันตกที่มีรากฐานมาจากศาสนาคริสต์ คนมีศีลธรรมจึงเป็นคนที่ปฏิบัติตามบัญญัติ 10 ประการ ที่พระเจ้ากำหนดลงมาให้มนุษย์ถือปฏิบัติ

บัญญัติ 10 ประการ อันเป็นข้อกำกับความประพฤติทางกาย วาจา และใจ ประกอบด้วย

  1. ต้องนมัสการพระยะโฮวาพระองค์เดียว
  2. อย่าไหว้รูปเคารพ
  3. อย่าเอาชื่อพระเจ้าไปใช้ผิดๆ
  4. ให้ถือวันสะบาโต
  5. ให้นับถือพ่อแม่
  6. อย่าฆ่าคน
  7. อย่าผิดประเวณี
  8. อย่าขโมย
  9. อย่าเป็นพยานเท็จ
  10. อย่าโลภ

บัญญัติ 10 ประการ
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/บัญญัติ_10_ประการ
สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2565

จะเห็นว่า ศีลธรรมวัตถุวิสัยมีข้อปฏิบัติสำคัญที่คล้ายกัน ได้แก่ ห้ามฆ่าคน ห้ามขโมย ห้ามผิดประเวณี และห้ามพูดเท็จ อันเป็นหลักสำคัญของความสงบสุขในสังคม เพราะข้อปฏิบัติเหล่านี้ย่อมทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสบายใจ ไม่หวาดระแวงซึ่งกันและกัน

แต่ข้อห้ามพูดเท็จในสังคมตะวันตกจะหมายเฉพาะห้ามเป็นพยานเท็จเท่านั้น ไม่ได้ห้ามพูดเท็จในกรณีอื่น และยังยินยอมให้นักการเมืองพูดเท็จได้อย่างเสรี  ยิ่งกว่านั้น การพูดเสมือนจริง (white lie) พูดจริงครึ่งเดียว พูดเกินจริง พูดบิดเบือน หรือโฆษณาชวนเชื่อ ก็ยังเป็นที่ยอมรับของสังคมอีกด้วย

คนที่นับถือศาสนาจะมีศีลธรรมวัตถุวิสัย ส่วนคนที่ไม่นับถือศาสนาหรือคนที่นับถือศาสนาแต่ในนามอาจจะมีศีลธรรมจิตวิสัย อันเป็นศีลธรรมเฉพาะตัว ที่เรียกว่า คุณธรรม (virtue) จริยธรรม (ethic) เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ความรับผิดชอบ ความไม่เห็นแก่ตัว ความยุติธรรม การควบคุมตน ความรอบคอบ ความสามัคคี ความจงรักภักดี เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

ศีลธรรมจิตวิสัยมีหลายระดับ แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม และไม่เป็นสากล โดยเฉพาะขั้นจริยธรรม เช่น ความจงรักภักดี เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ที่อาจเลือกปฏิบัติเฉพาะในกลุ่มย่อย อันเป็นผลดีในกลุ่มของตน แต่สร้างความแตกแยกในสังคมวงกว้าง

ศีลธรรมจิตวิสัยเป็นที่นิยมกว้างขวางในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่โตขึ้นมาในยุคโลกาภิวัตน์และรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคม ประกอบกับการแพร่ขยายของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกบุคคลนิยม ยิ่งทำให้จำนวนผู้ถือศีลธรรมจิตวิสัยมีจำนวนมากยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ไม่มีทิศทางในการใช้ชีวิต ที่ปล่อยชีวิตให้เลื่อนไหลไปตามกระแสสังคม ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

แนวโน้มเช่นนี้ย่อมมีผลร้ายต่อสังคม เพราะสังคมจะมีความสงบสุขได้ ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมมีคุณธรรมที่เรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ” คือ มีความละอายต่อบาป และความเกรงกลัวต่อบาป

รางวัลอีกโนเบลของปี 2537 สาขาคณิตศาสตร์ ได้มอบให้กับ Southern Baptist Church of Alabama ที่ได้วัดความมีศีลธรรมของพลเมืองรัฐแอละแบมาว่า จะมีสักกี่คนที่ต้องตกนรก ถ้าไม่ไปสารภาพบาป

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


หมายเหตุ: ปรับแก้จาก “ศีลธรรม” ใน ประชากรและการพัฒนา 42(5) มิถุนายน-กรกฎาคม 2565: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ศีล 5

วรชัย ทองไทย

ภาษา

วรชัย ทองไทย

ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th