The Prachakorn

เครื่องบินกระดาษ


วรชัย ทองไทย

27 ตุลาคม 2565
1,803



เครื่องบินกระดาษ (paper airplane) เป็นเครื่องบินของเล่นที่ทำจากกระดาษ ด้วยการพับแผ่นกระดาษในรูปแบบที่ทำให้สามารถร่อนได้เหมือนนก เครื่องบินกระดาษถูกใช้ในการทดสอบการสร้างเครื่องบินจริง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นงานอดิเรกและงานฝีมือ

เครื่องบินกระดาษเกิดขึ้นราว 500 ปีก่อนคริสตศักราช ในประเทศจีนโบราณที่สามารถผลิตกระดาษได้ และในประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลาต่อมาที่พัฒนามาจากศิลปการพับกระดาษของญี่ปุ่น (origami)

การแข่งขันเครื่องบินกระดาษมี 3 ประเภทคือ ระยะทาง เวลาร่อนอยู่ในอากาศ และบินฉวัดเฉวียน เครื่องบินกระดาษสามารถร่อนได้ด้วยหลักอากาศพลศาสตร์ ได้แก่

1. แรงพุ่ง ที่ส่งให้เครื่องบินแล่นไปข้างหน้า
2. แรงยกของอากาศ ที่ไหลผ่านพื้นผิวราบจะยกเครื่องบินให้ลอยสูงขึ้น
3. แรงดึงดูด ที่ต่อต้านแรงยกและดึงให้เครื่องบินลดต่ำลง
4. การต้านของอากาศ ที่ต้านแรงพุ่งทำให้เครื่องบินช้าลง

การพับเครื่องบินกระดาษที่สามารถเพิ่มข้อ 1 กับ 2 และลดข้อ 3 กับ 4 ย่อมทำให้เครื่องบินนั้นร่อนได้ตามความประสงค์ ผู้สนใจสามารถสืบค้นวิธีพับเครื่องบินกระดาษได้จากเว็บ โดยใช้คำค้น “paper airplane”

การปาเครื่องบินกระดาษเป็นพิธีกรรมหนึ่งของการมอบรางวัลอีกโนเบลประจำปี โดยในปีนี้ยังคงจัดแบบทางไกลอยู่ กิจกรรมปาเครื่องบินกระดาษจึงเป็นการอัดวิดิโอล่วงหน้า (ดูรูป) โดยพิธีมอบรางวัลอีกโนเบลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 32 ได้จัดขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 ทาง webcast (ดูพิธีมอบรางวัลได้ที่ https://improbable.com/ig/2022-ceremony/)

รูป กิจกรรมปาเครื่องบินกระดาษ
ที่มา: https://improbable.com/ig/2022-ceremony/
สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2565

รางวัลอีกโนเบลประจำปี 2565 ในสาขาต่างๆ มี10 รางวัล ได้แก่

สาขาโรคหัวใจประยุกต์ มอบให้กับนักวิจัย 5 คนจากสาธารณะเช็ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สวีเดน และอารูบา (Eliska Prochazkova, Elio Sjak-Shie, Friederike Behrens, Daniel Lindh และ Mariska Kret) ที่ร่วมมือกันศึกษาและพบว่า ครั้งแรกที่คู่รักใหม่ได้รู้จักกันและถูกใจกันนั้น หัวใจของทั้งคู่จะเต้นพร้อมกัน

สาขาวรรณคดี มอบให้แก่นักวิจัยจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักร (Eric Martínez, Francis Mollica และ Edward Gibson) ที่ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้เอกสารทางกฎหมายเข้าใจยากโดยไม่จำเป็น

สาขาชีววิทยา มอบให้กับนักวิจัยจากบราซิลและโคลอมเบีย (Solimary García-Hernández กับ Glauco Machado) ที่ร่วมกันศึกษาว่า การที่แมงป่องท้องผูก จะส่งผลต่อการหาคู่อย่างไร

สาขาการแพทย์ มอบให้กับนักวิจัยโปแลนด์ (Marcin Jasiński, Martyna Maciejewska, Anna Brodziak, Michał Górka, Kamila Skwierawska, Wiesław Jędrzejczak, Agnieszka Tomaszewska, Grzegorz Basak และ Emilian Snarski) ที่แสดงให้เห็นว่า คนไข้ที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดที่มีสารพิษ จะมีผลข้างเคียงน้อยลง ถ้าได้นำไอสกรีมไปแทนที่วิธีบำบัดที่ใช้ตามปกติวิธีใดวิธีหนึ่ง    

สาขาวิศวกรรม นักวิจัยญี่ปุ่น (Gen Matsuzaki, Kazuo Ohuchi, Masaru Uehara, Yoshiyuki Ueno และ Goro Imura) ที่ได้ร่วมมือกันค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่คนเราจะใช้นิ้วหมุนปุ่ม

สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มอบให้นักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์และกัวเตมาลา (Peter de Smet กับ Nicholas Hellmuth) ที่ร่วมกันศึกษา ภาพวาดพิธีกรรมบนเครื่องปั้นดินเผามายาโบราณด้วยการใช้ศาสตร์หลายแขนง

สาขาฟิสิกส์ เป็นรางวัลร่วมของนักวิจัย 2 กลุ่ม จากจีน สหราชอาณาจักร ตุรกี และสหรัฐอเมริกา (Frank Fish, Zhi-Ming Yuan, Minglu Chen, Laibing Jia, Chunyan Ji และ Atilla Incecik) ที่พยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมเป็ดสามารถว่ายน้ำเป็นรูปแบบได้

สาขาสันติภาพ มอบให้นักวิจัยจากจีน ฮังการี แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา (Junhui Wu, Szabolcs Számadó, Pat Barclay, Bianca Beersma, Terence Dores Cruz, Sergio Lo Iacono, Annika Nieper, Kim Peters, Wojtek Przepiorka, Leo Tiokhin และ Paul Van Lange) ที่ร่วมกันพัฒนา "ข้ันตอนวิธี (algorithm)” เพื่อช่วยให้คนชอบซุบซิบนินทาตระหนักว่า เมื่อไรควรพูดความจริงและเมื่อไรควรพูดโกหก

สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศอิตาลี (Alessandro Pluchino, Alessio Emanuele Biondo และ Andrea Rapisarda) ที่อธิบายด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ว่า ทำไมการประสบความสำเร็จสูงสุด ไม่ได้ตกอยู่กับคนที่มีความสามารถมากที่สุด แต่กลับกลายเป็นคนที่โชคดีที่สุดต่างหาก

สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย มอบให้นักวิจัยจากสวีเดน (Magnus Gens) ที่ได้พัฒนาหุ่นจำลองกวางมูส เพื่อใช้ในการทดสอบการชน

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้หัวเราะก่อนได้คิด


หมายเหตุ: ที่มา “เครื่องบินกระดาษ” ในประชากรและการพัฒนา 43(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565: 8



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th