The Prachakorn

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ


นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

28 เมษายน 2566
1,887



ถ้าเด็กในวันนี้คือสิ่งที่กำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า การบ่มเพราะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้เติบโตอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์และสติปัญญา อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย จำเป็นจะต้องอาศัยการดูแลอย่างเอาใจใส่ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการศึกษา ด้านสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก1

ท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ระยะเวลาในการใช้หน้าจอของผู้คนเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเกือบครึ่งของเด็กอายุ 0-2 ขวบ พบว่ามีปฏิสัมพันธ์กับสมาร์ตโฟน และกลุ่มคน Generation Z ใช้เวลาหน้าจอเฉลี่ยมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน2 จากข้อมูลสะท้อนถึงแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตการขยายตัวด้านพฤติกรรมหน้าจอในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจุบันรูปแบบวิถีการเล่นของเด็กได้ถูกแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ภาพของการวิ่งเล่นรวมถึงกิจกรรมการเล่นของเด็ก ๆ ดั่งในอดีต ได้ถูกอุปกรณ์หน้าจอสี่เหลี่ยมอย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต เข้ามาแทนที่และมีบทบาทในชีวิตประจำวัน ปี 2565 ที่ผ่านมา Active Healthy Kids Global Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย ที่มีหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วม จำนวน 57 ประเทศ รวมประเทศไทย ได้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพอื่นของเด็กและเยาวชน อายุ 5-17 ปี มีข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเกี่ยวกับการเล่น หรือกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ดังนี้

  1. เด็กและเยาวชนไทยเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนักสะสมอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที ตามเกณฑ์คำแนะนำ จัดเป็นอันดับที่ 27
  2. เด็กและเยาวชนไทยที่มีส่วนร่วมในการเล่นกีฬา และ/หรือกิจกรรมทางกายที่มีโครงสร้าง อยู่ที่ร้อยละ 37 จัดเป็นอันดับที่ 33
  3. เด็กและเยาวชนไทยเพียงร้อยละ 19 ที่มีกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง 2 ชั่วโมงต่อวัน ตามเกณฑ์คำแนะนำ จัดเป็นอันดับที่ 23

ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ด้านกิจกรรมทางกายยังพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กและเยาวชนไทยเองก็เป็นปัญหาที่น่ากังวล เนื่องจากการสำรวจพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กและเยาวชนไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์3

แนวโน้มพฤติกรรมหน้าจอ พฤติกรรมเนือยนิ่ง และกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต จะเป็นอย่างไร?

มีหลักฐานเชิงสถิติที่ชี้ชัดเกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมการใช้หน้าจอของเด็กและเยาวชนไทย ซ้ำร้ายในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยพบว่า เด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 5-17 ปี มีระยะเวลาการใช้หน้าจอ ทั้งจากโทรศัพท์สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ เพื่อความบันเทิง เฉลี่ยสูงถึง 4 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 1 ชั่วโมง ตัวเลขคาดประมาณต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลดังกล่าว เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลระยะเวลาการใช้หน้าจอ เพื่อความบันเทิงของเด็กและเยาวชนไทยเท่านั้น ตัวเลขสถานการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนถึงสิ่งที่น่ากังวลใจจากผลกระทบด้านความอันตรายทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กไทยในอนาคต

ขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านพฤติกรรมเนือยนิ่งยิ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงระหว่างปี 2555-2560 เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน จากนั้นในปี 2561-2563 ระยะเวลาของพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยสูงเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อคาดประมาณต่อในอีก 5 ปีข้างหน้า พบว่ามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากกิจกรรมประจำวันของเด็กที่ต้องนั่งอยู่กับที่ในขณะเรียน ร่วมกับการใช้เวลาหน้าจอในการค้นคว้าเพื่อการศึกษา เนื่องจากอิทธิพลของการนำเอาอุปกรณ์หน้าจอมาใช้ในการศึกษาที่มากขึ้น

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือสถานการณ์พฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายที่มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงอย่างน่ากังวล โดยในช่วงระหว่างปี 2555-2564 เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายโดยเฉลี่ย ประมาณ 40 นาทีต่อวัน เมื่อทำการคาดประมาณต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า พบว่า ในปี 2569 เด็กและเยาวชนไทยจะมีกิจกรรมทางกายต่อวันลดลงจนกลับอยู่ในระดับต่ำที่สุดเทียบเท่า กับในปี 2559 อีกทั้งยังคงมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกายต่อวันของเด็กและเยาวชนไทยยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่อย่างน้อยควรมีกิจกรรมทางกาย สะสมอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที4 ซึ่งแนวโน้มจะพบว่า เด็กและเยาวชนไทยยังคงขาดการมีกิจกรรม  ทางกายกว่า 20 นาทีต่อวัน

โดยปกติใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง คนเราจะมีพฤติกรรมประจำวันที่สามารถจำแนกตามลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรมทางกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวัน 2) พฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ และ 3) การนอนหลับพักผ่อน5 จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น พฤติกรรมหน้าจอที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการมีกิจกรรมทางกาย การนอนหลับพักผ่อนที่เหมาะสม และมิติสังคมและจิตใจของเด็กและเยาวชนด้วย

ผลกระทบจากพฤติกรรมการใช้หน้าจอในเด็กและเยาวชน

หากเด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับการมีโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดน้อยลง และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงได้แม้ในช่วงระยะสั้น ทั้งปัญหาของสุขภาพจิต สมาธิของเด็ก ๆ ลดลง และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายได้ เช่น ตาแห้ง จอประสาทตาเสื่อม ปวดศีรษะ การที่นั่งท่าเดิมเป็นเวลานานส่งผลให้ปวดหลัง ไหล่ หรือกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน และส่งผลต่อประสิทธิภาพการนอนหลับและการตื่นนอน

สำหรับกลุ่มวัยเด็กที่มีพฤติกรรมหน้าจอจนนอนดึกกระทบเวลานอนหลับพักผ่อน จะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ นำไปสู่ผลกระทบในมิติอารมณ์และสมาธิในเด็ก เช่น อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น และอาจทำให้ความสามารถด้านวิชาการของเด็กลดลงได้ สอดคล้องกับการศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัย พบว่า เวลาหน้าจอที่สูงขึ้นในเด็กอายุ 2 และ 3 ขวบ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพที่ลดลงในการทดสอบการคัดกรองประเมินพัฒนาการของเด็ก6 มหาวิทยาลัย Anglia Ruskin ประเทศอังกฤษ ได้เผยข้อมูลว่า การใช้สมาร์ตโฟนหรือการติดหน้าจอมีอัตราเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กปฐมวัยมากที่สุด เมื่อเด็กอยู่กับหน้าจอนานขึ้นส่งผลต่อการรับประทานอาหาร สุขภาพสายตาที่ไม่ดี สุขภาพจิตที่แย่ลง เช่น มีความวิตกกังวล และปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด และอารมณ์ฉุนเฉียวบ่อยครั้ง7

ที่แย่ไปกว่านั้น อาจมีอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในเด็กและความเสี่ยงต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติ และเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาได้ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม การขัดพฤติกรรมเนือยนิ่งบ่อย ๆ จะทำให้สามารถลดกลูโคส ฮอร์โมนอินซูลิน และไขมันในเลือดได้ ดังนั้น การลดพฤติกรรมเนือยนิ่งเพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านเมตาบอลิซึมจึงมีความสำคัญ8,9

ทำไม? การเล่นและกิจกรรมทางกายถึงมีความสำคัญ

การเล่น การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิจกรรมทางกายเป็นสิ่งสำคัญในด้านพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่น้อย ช่วยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาการของเด็ก7,8 “การเล่น” สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ต่อเด็ก หลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยยืนยันให้เห็นว่า การเล่นอย่างเหมาะสมจะนำไปสู่การเสริมพัฒนาการเด็กในหลากหลายมิติ ความลับที่สำคัญของการเล่นที่คือ การเล่นหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย เพียงระยะเวลาสั้น ๆ 20 นาที สามารถกระตุ้นกระบวนการทำงานและคลื่นสมองของเด็กให้มีความพร้อมกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น10

การ “ประสานความร่วมมือ” เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็ก ได้เล่นและมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ลดพฤติกรรมหน้าจอและพฤติกรรมเนือยนิ่งประจำวัน

จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้หน้าจอ การขาดกิจกรรมทางกาย และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ดูจะเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ขาด เนื่องจากระหว่างที่มีการใช้งานหน้าจอนั้น เป็นช่วงที่ร่างกายเองก็แทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวเลย ดังนั้นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการสกัดกั้นพฤติกรรมเหล่านี้เห็นทีคงหนีไม่พ้นการมีกิจกรรมทางกาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1) ภาครัฐ
ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสนับสนุน สำหรับการมีกิจกรรมทางกายการกำหนด นโยบาย กฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพให้เข้าถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

2) สถานศึกษา
ควรมีการจัดการระบบนิเวศด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย นโยบายด้านการจัดการเรียนการสอน บริบทเชิงพื้นที่ของโรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายให้กับนักเรียน รวมถึงการจัดสรรเวลาในการจัดกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การเล่น และการออกกำลังกายให้กับนักเรียนในแต่ละช่วงเวลาของวันที่นักเรียนอยู่ที่โรงเรียน โดยอาจเป็นในรูปแบบของการบูรณาการเข้ากับรายวิชาที่สอนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เล่นและเรียนรู้อย่างเหมาะสม

3) ชุมชน
ในส่วนของชุมชนควรมีการจัดสรรพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เช่น การพัฒนาและปรับปรุงทางเดินเท้าและทางปั่นจักรยานให้มีคุณภาพ การจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง การจัดสรรพื้นที่เล่นสำหรับเด็กและครอบครัว เช่น สนามเด็กเล่น ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีความปลอดภัยด้วย

4) ครอบครัว
ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เด็กมีศักยภาพในการใช้ชีวิตในสังคมและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องอาศัยการเป็นต้นแบบทางด้านพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เช่น การเป็นแบบอย่างที่ดีในการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี รวมถึงทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายร่วมกันในครอบครัว นอกจากจะเป็นการลดเวลาการใช้หน้าจอและพฤติกรรมเนือยนิ่งแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การกำหนดเวลาในการใช้หน้าจอของเด็ก ๆ ให้เหมาะสม ซึ่งสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา11 ได้กำหนดคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้าจอสำหรับเด็กที่เหมาะสมตามพัฒนาการและช่วงวัย  ไว้ดังนี้

  • เด็กเล็กอายุ 0-18 เดือน ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เลย
  • เด็กอายุ 18-24 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการใช้หรือหากจำเป็นผู้ปกครองควรเลือกเฉพาะสื่อที่มีประโยชน์เท่านั้น
  • เด็กอายุ 2-5 ขวบ ควรใช้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง โดยผู้ปกครองควรอยู่ด้วยตลอดเวลาเพื่อให้คำแนะนำ
  • เด็กอายุ 6-17 ปี ให้จำกัดเวลาการใช้ให้เหมาะสมโดยไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง

การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ตัวน้อยเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์และมีคุณภาพในอนาคตข้างหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ในทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงมอบโอกาสเหล่านี้ ให้เด็ก ๆ ไทยได้มีเวลา กิจกรรม และพื้นที่เล่นมากยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง

  1. Puciato D, Rozpara M, Borysiuk Z. Physical Activity as a Determinant of Quality of Life in Working-Age People in Wrocław, Poland. International Journal of Environmental Research and Public Health. 2018;15(4):623.
  2. Datareportal. 2022. Digital 2022: Global Overview Report. [online] Available https://explodingtopics.com/blog/screen-time-stats.
  3. Widyastari DA, Saonuam P, Pongpradit K, Wongsingha N, Choolers P, Kesaro S, et al. Results from the Thailand 2022 report card on physical activity for children and youth. Journal of Exercise Science & Fitness. 2022;20(4):276-82.
  4. World Health Organization. Global recommendations on physical activity for health: World Health Organization; 2010.
  5. The Sedentary Behaviour Research Network (SBRN). n.d. 24 Movment And Non-Movement Behaviors. [online] Available https://www.sedentarybehaviour.org/sbrn-terminology-consensus-project/thai-translation/.
  6. Madigan S, Browne D, Racine N, Mori C, Tough S. Association Between Screen Time and Children’s Performance on a Developmental Screening Test. JAMA Pediatr. 2019;173(3):244–250. doi:10.1001/jamapediatrics.2018.5056
  7. Trott, M., Driscoll, R., Iraldo, E., & Pardhan, S. (2022). Changes and correlates of screen time in adults and children during the COVID-19 pandemic: A systematic review and meta-analysis. eClinicalMedicine, 48, 101452.
  8. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). 2563. ถึงเวลาแล้ว…ที่เราต้องเร่งกู้วิกฤต เพื่อให้โอกาสการเล่นของเด็กและเยาวชนกลับมา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19. [ออนไลน์]. จาก https://www.facebook.com/TPAK.Thailand
  9. วริศ วงศ์พิพิธ. 2565. บทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการส่งเสริมสุขภาพด้านเมตาบอลิซึม. [ออนไลน์]. จาก https://tpak.or.th/th/article/617.
  10. Hillman CH, Pontifex MB, Raine LB, Castelli DM, Hall EE, Kramer AF. The effect of acute treadmill walking on cognitive control and academic achievement in preadolescent children. Neuroscience. 2009;159(3):1044-54.
  11. American Academy of Pediatrics. 2016. American Academy of Pediatrics Announces New Recommendations for Children’s Media Use. [online] Available https://www.aap.org/en-us/about-the-aap/aap-press-room/pages/american-academy-of-pediatrics-announces-new-recommendations-for-childrens-media-use.aspx


CONTRIBUTORS

Related Posts
อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th