The Prachakorn

ไดอารี่ : แบบบันทึกความทรงจำกับเส้นทางสายวิจัย


นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

22 กุมภาพันธ์ 2566
1,223



การเขียนไดอารี่อาจเป็นกิจวัตรสำหรับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะนักอ่าน นักเขียน ที่หลงใหลในตัวหนังสือและการบันทึกเรื่องราวที่เล่าอยู่บนหน้ากระดาษได้อย่างอิสระเสรี ไดอารี่ในมุมหนึ่งจึงเปรียบเสมือนเป็นเพื่อนที่รับฟัง ขณะเดียวกันก็สามารถบอกเล่าเพื่อสะท้อนพฤติกรรมของเราได้ ไดอารี่จึงได้ถูกหยิบนำมาใช้ในแวดวงวิชาการ จากความสามารถในการบันทึกข้อมูลที่ร้อยเรียงกิจกรรมตามลำดับเวลาเกิดเหตุได้อย่างไม่มีเบรกโฆษณา

ไดอารี่มีฉายาในวงการวิจัยว่า “การบันทึกการใช้เวลา” หรือสากลเรียกว่า Time-Use Research ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีการบันทึกการใช้เวลาถูกนำมาใช้ในแวดวงสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ค.ศ. 1913 เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการใช้แรงงานกับการใช้เวลาว่างในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพศชายในประเทศสหรัฐอเมริกา1 จากนั้น อีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา งานวิจัยที่ใช้วิธีการบันทึกการใช้เวลาก็ได้แพร่หลายและนำมาศึกษาประเด็นทางสังคมต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้เวลากับการทำงาน กิจกรรมในครัวเรือน การศึกษาลักษณะการใช้เวลาในกลุ่มประชากรต่าง ๆ อาทิ คนว่างงาน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และผู้สูงอายุ2 นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจการใช้เวลาในระดับประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1960s3 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบัน มีการสำรวจการใช้เวลากันอย่างแพร่หลายในมากกว่า 85 ประเทศทั่วโลก4 สำหรับประเทศไทย มีการสำรวจการใช้เวลาครั้งแรกในค.ศ. 2001 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และหลังจากนั้นมีการสำรวจต่อเนื่องอีกในค.ศ. 2004, 2009 และ 20155

หลายคนอาจสงสัยว่าเรื่องราวจากไดอารี่จะถูกนำมาถ่ายทอดให้ออกมาเป็นข้อมูลเชิงวิชาการได้อย่างไร แล้วกลิ่นอายแห่งความทรงจำ ภาพรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือแม้แต่สัมผัสของความอบอุ่นในห้วงเวลาต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บอย่างไร แน่นอนว่า ไดอารี่ที่เรารู้จักคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ที่อาจเปื้อนดิน หิน ทราย หรือเปียกปอนจากสายฝนคละเคล้าน้ำตา เมื่อต้องถูกนำมาใส่สูทผูกไท รวบผมตึงเตรียมเข้าห้องประชุมเพื่อนำเสนอผลการบันทึกเรื่องราวของเด็กหญิง เด็กชาย นาย นาง นางสาว คุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย อาจจะดูแปลกตาไปบ้าง

การบันทึกการใช้เวลา จึงเป็นการเล่าเรื่องที่มีการกำกับการแสดงอย่างชัดเจน โดยจะจัดสรรให้เป็นการบันทึกรายกิจกรรมที่กำกับเป็นช่วงเวลา (เช่น ทุก ๆ 5 ถึง 10 นาที) ตามที่กำหนด พร้อมให้ระบุบริบทของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างชัดเจน การสำรวจการใช้เวลาของประเทศไทยอ้างอิงเกณฑ์การบันทึกตามมาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติ (โดย United Nations Statistics Division: UNSD) ที่ได้พัฒนาเกณฑ์การจัดกลุ่มกิจกรรม ที่เรียกว่า International Classification of Activities for Time-Use Statistics (ICATUS) ในค.ศ. 1997 และพัฒนาเกณฑ์ฯ อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดได้อัพเดตเป็นเวอร์ชัน ICATUS 2016 ที่มีกลุ่มกิจกรรมทั้งหมด 165 กลุ่ม6 ICATUS เป็นเกณฑ์ที่ใช้แพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเซียและแอฟริกา4

เรื่องเล่าของกิจกรรมต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดทุก ๆ 10 นาที เรียงลำดับตามจริงตั้งแต่ 0.00 น. ถึง 24.00 น. พร้อมถอดข้อมูลเกี่ยวกับตัวแสดงประกอบ (คนที่ร่วมทำกิจกรรม (ถ้ามี)) เหตุผล/แรงจูงใจ/รายได้ และฉากหลัง (สถานที่ทำกิจกรรม) เป็นต้น ใส่กำกับในช่องที่กำหนด เพื่อคงรายละเอียดของข้อมูลต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้อรรถรสจากการเล่าเรื่องอาจตกหล่นไปบ้างระหว่างทางจากไดอารี่สู่การบันทึกการใช้เวลา แต่ข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในบันทึกยังคงให้รายละเอียดที่มีความครอบคลุมสามารถสะท้อนนัยสำคัญทางสังคมศาสตร์ เศรษฐกิจ และสาธารณสุขได้ เกิดเป็นงานวิจัยในประเด็นต่าง ๆ มากมาย เช่น การใช้แรงงาน สมดุลชีวิต รายได้ครัวเรือน การใช้เวลาว่าง คุณภาพชีวิต และสุขภาวะ3

ล่าสุด ข้อมูลจากการบันทึกการใช้เวลาได้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยด้านพฤติกรรมการเคลื่อนไหวแบบองค์รวม กล่าวคือ เป็นการศึกษาการมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ ภายใต้กรอบเวลา 24 ชั่วโมงร่วมกัน ซึ่งเดิมทีได้มีการศึกษากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่สามารถระบุระดับความหนัก-เบาของกิจกรรมได้ เช่น การเล่นกีฬา การเดิน และการปั่นจักรยาน โดยใช้ข้อมูลจากการบันทึกการใช้เวลามาก่อนแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนไหวทั้งหมดร่วมกันมาก่อน จึงนับเป็นอีกหนึ่งมิติของไดอารี่ที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวแบบองค์รวมของประชากร ซึ่งเป็นการช่วยผลักดันงานวิจัยเรื่องการใช้เวลา ในบทบาทการส่งเสริมพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะขอเล่าให้ฟังในตอนต่อไป ในหัวข้อ “Active Diary บันทึกความเคลื่อนไหวที่ให้มากกว่าความทรงจำ” ฝากติดตามกันต่อในเดอะประชากร

ที่มารูปภาพ: https://www.pngegg.com/en/png-nhwsa


เอกสารอ้างอิง

  1. Bevans, G. E. (1913). How workingmen spend their spare time: Columbia University.
  2. Szalai, A. (1972). Introduction: Concepts and practices of time-budget research. In A. Szalai (Ed.), The use of time: Daily activities of urban and suburban populations in twelve countries. Paris, France: Mounton & Company.
  3. Deyaert J, Harms T, Weenas D, Gershuny J, Glorieux I. Attaching metabolic expenditures to standard occupational classification systems: perspectives from time-use research. BMC Public Health. 2017;17(1):620.
  4. Charmes J. Time use across the world: findings of a world compilation of time-use surveys; 2015.
  5. National Statistical Office. The Time Use Survey 2015. Bangkok, Thailand: National Statistical Office, Ministry of Information and Communication Technology; 2016. Report No.: ISBN 978-974-11-3056-6.
  6. United Nations Statistics Division. International classification of activities  for time use statistics 2016 (ICATUS 2016). United Nations Statistics Division; 2017.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ผมกำลังเตรียมตัวตาย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

แก่นเรื่อง

วรชัย ทองไทย

ปาฐกถา

วรชัย ทองไทย

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th