The Prachakorn

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

09 มิถุนายน 2564
755



การศึกษาในหลายประเทศพบว่า โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับอาชีพ ประมาณครึ่งหนึ่งของพลังงานที่เราใช้เพื่อทำกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน (57%) ถูกใช้เพื่อการทำงาน1 กิจกรรมทางกายที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั้นจึงเกี่ยวข้องกับอาชีพและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานเป็นอย่างมาก เพราะโดยทั่วไปประชากรวัยแรงงานใช้เวลาส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงาน พนักงานสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงในที่ทำงาน และ 2 ใน 3 เป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary)2 อย่างการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโรคอ้วนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความผิดปกติของไขมันในเลือด ความดันโลหิต โรคเบาหวาน ภาวะโรคอ้วนและเริ่มอ้วน (นํ้าหนักเกิน)

ที่มา: ปรับจาก https://www.canva.com/join/pqc-xjm-wwb

ภาวะโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 1990 หรือ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดจากประชากรมีกิจกรรมทางกายเพื่อการพักผ่อนลดลงและการทำงานที่ใช้เครื่องจักรแทนกำลังแรงงานของมนุษย์3 การศึกษาในออสเตรเลียพบว่า ผู้ชายที่ทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญและทำงานในกระบวนการผลิตขั้นกลางและการขนส่ง (intermediate process and transport) เสี่ยงต่อโรคอ้วน ในขณะที่ผู้หญิงที่ทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ เสมียน และพนักงานบริการ มีความเสี่ยงต่ำต่อโรคอ้วน4

ปัจจุบันอัตราประชากรไทยที่มีภาวะโรคอ้วนมีประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด (34.1% หรือ ประมาณ 19.3 ล้านคน) และ อัตราอ้วนลงพุงหรือมีรอบเอวเกินคิดเป็น 37.5% หรือ ประมาณ 20.8 ล้านคน5 อย่างไรก็ตาม อัตราความชุกของภาวะโรคอ้วนนั้นแปรผันตามเชื้อชาติและเพศ สมมติฐานที่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของภาวะโรคอ้วน ได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อมทางอาหารส่งผลต่อการบริโภคอาหาร 2) ลักษณะของงานที่ต้องการชั่วโมงการทำงานแบบเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น 3) ความเครียดจากการทำงานส่งผลต่อวิถีชีวิตที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น พฤติกรรมเนือยนิ่ง และ การนอนอย่างไม่มีคุณภาพ 4) เพื่อนร่วมงานส่งผลต่อพฤติกรรมทั้งทางด้านบวกและลบ 5) ความเครียดทางจิตใจที่เป็นสาเหตุให้ร่างกายทำงานผิดปกติซึ่งนำไปสู่ภาวะโรคอ้วน และ 6) การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอเนื่องจากการทำงานที่ยาวนานหรือการทำงานเป็นช่วงเวลา (shift work) เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน6

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและอาชีพในประชากรไทยยังไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ เพราะยังไม่มีข้อมูลสำรวจภาวะสุขภาพของกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ครอบคลุมประชากรกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างเพียงพอและเป็นตัวแทนของประเทศ (representative) คณะนักวิจัยจึงได้นำชุดข้อมูลที่มีอยู่ ได้แก่ การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พ.ศ. 2552 และ สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 มาใช้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและอาชีพของคนไทย โดยการจำแนกประเภทอาชีพตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization classification – ISCO-88) ซึ่งจำแนกอาชีพออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ 1) นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่อาวุโส และผู้จัดการ 2) ผู้เชี่ยวชาญ 3) ช่างเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง 4) เสมียน พนักงานสนับสนุน 5) พนักงานบริการ และพนักงานขายในร้านค้าและตลาด 6) อาชีพพื้นฐาน 7) ฝีมือแรงงานเกษตรและประมง 8) กองทัพ 9) ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและเครื่องจักรและผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ 10) ไม่มีอาชีพ 11) อื่นๆ  แม้ชุดข้อมูลดังกล่าวจะเป็นการสำรวจระดับประเทศ แต่เมื่อจำแนกตามลักษณะทางประชากร ได้แก่ กลุ่มอายุ เพศ ระดับการศึกษา พื้นที่อยู่อาศัย (ในและนอกเขตเทศบาล) ภาค และกลุ่มอาชีพแล้ว จะทำให้กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็ก และส่งผลต่อความแม่นยำในการวิเคราะห์อัตราของผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนตามลักษณะทางประชากรดังกล่าว คณะนักวิจัยจึงใช้วิธีการทางสถิติ Bayesian hierarchical models เพื่อการคาดประมาณในพื้นที่หรือกลุ่มประชากรขนาดเล็ก (small area estimation)7

การศึกษานี้7 ใช้รอบเอว (waist circumference) ของกลุ่มตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ดัชนีมวลกาย (body mass index - BMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลหนึ่งมีภาวะโรคอ้วนหรือไม่ โดยใช้มาตรฐาน International Diabetes Federation8 สำหรับผู้ชายและผู้หญิงชาวเอเชียที่มีรอบเอว 90 และ 80 ซม. ขึ้นไปตามลำดับ การศึกษานี้ยังได้ทดสอบความไวทางสถิติ (sensitivity) ด้วยการใช้เกณฑ์รอบเอวของชาวยุโรป คือ ผู้ชายและผู้หญิงที่มีรอบเอว 102 และ 88 ซม. ขึ้นไปตามลำดับอีกด้วย แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่พบรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาชีพที่มีแนวโน้มพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary occupation) และระดับภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอัตราภาวะโรคอ้วนแตกต่างกันไปตามกลุ่มอาชีพและเพศ   

การยืนประชุมที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ่ายภาพโดย ประทีป นัยนา - ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากบุคคลในภาพ

ผู้หญิงไทยส่วนมากที่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรที่ใช้ทักษะ มีอัตราผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนต่ำกว่าอาชีพอื่นในทุกกลุ่มอายุ ส่วนผู้ชายไทยที่ทำงานในโรงงาน ควบคุมเครื่องจักร และผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ เป็นกลุ่มที่มีอัตราผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนสูงที่สุด รองลงมาคือ ชายไทยที่ทำงานในกองทัพ อาชีพของท่านเป็นประเภทที่เสี่ยงต่อพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือไม่ และอาชีพใดเสี่ยงต่อการมีภาวะโรคอ้วนสูงที่สุด สามารถค้นหาคำตอบได้ที่บทความวิจัยด้านล่างนี้  

บทความวิจัยเรื่อง "Obesity and occupation in Thailand: using a Bayesian hierarchical model to obtain prevalence estimates from the National Health Examination Survey"
สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://doi.org/10.1186/s12889-021-10944-0

ก่อนจะจบบทความนี้ ขอเสนอเคล็ดลับเพื่อลดความเสี่ยงพฤติกรรมเนือยนิ่งในที่ทำงาน ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพใด วิธีที่ทำได้ง่ายและได้ผลคือ การหยุดพักจากงานเพียงสั้นๆ 1-2 นาที และบ่อยครั้ง ทุกครึ่งชั่วโมง9 หรือ จะเพิ่มจำนวนก้าวด้วยการเดินระหว่างวัน เช่น การเปลี่ยนจากนั่งรถบริการเป็นเดินจากสถานีรถไฟฟ้าไปที่ทำงาน ใช้บันไดแทนลิฟต์ หรือ จะยืนบ้างระหว่างการประชุมอันแสนยาวนาน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases-NCDs) หรือปัจจัยเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 55%2

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ ไม่ใช่ body shaming แต่เป็น well-being ... สุขภาวะที่ดีของทุกคนค่ะ


อ้างอิง

  1. Howitt C, Brage S, Hambleton IR, Westgate K, Samuels TA, Rose AMC, et al. A cross-sectional study of physical activity and sedentary behaviours in a Caribbean population: combining objective and questionnaire data to guide future interventions. BMC Public Health. 2016;16(1):1036.
  2. Jalayondeja C, Jalayondeja W, Mekhora K, Bhuanantanondh P, Dusadi-Isariyavong A, Upiriyasakul R. Break in Sedentary Behavior Reduces the Risk of Noncommunicable Diseases and Cardiometabolic Risk Factors among Workers in a Petroleum Company. Int J Environ Res Public Health. 2017;14(5).
  3. Meseguer CM, n IaG, Herruzo R, Rodrı´guez-Artalejo F. Trends in Leisure Time and Occupational Physical Activity in the Madrid Region, 1995–2008. Revista Española de Cardiología (English Edition). 2011;64(1):21–7.
  4. Allman-Farinelli MA, Chey T, Merom D, Bauman AE. Occupational risk of overweight and obesity: an analysis of the Australian Health Survey. Journal of Occupational Medicine and Toxicology. 2010;5(4):1-9.
  5. Hfocus team. คนไทย “อ้วนลงพุง” กว่า 20 ล้านคน ชี้อันตรายก่อโรคมาก: Hfocus 2021 [Available from: https://www.hfocus.org/content/2021/03/21160.
  6. Jackson CL, Wee CC, Hurtado DA, Kawachi I. Obesity trends by industry of employment in the United States, 2004 to 2011. BMC Obesity. 2016;3(1):20.
  7. Rittirong J, Bryant J, Aekplakorn W, Prohmmo A, Sunpuwan M. Obesity and occupation in Thailand: using a Bayesian hierarchical model to obtain prevalence estimates from the National Health Examination Survey. BMC Public Health. 2021;21(1):914.
  8. International Diabetes Federation (IDF). The IDF consensus worldwide defnition of the metabolic syndrome. Brussels: International Diabetes Federation (IDF); 2006.
  9. Chen C, Dieterich AV, Koh JJE, Akksilp K, Tong EH, Budtarad N, et al. The physical activity at work (PAW) study protocol: a cluster randomised trial of a multicomponent short-break intervention to reduce sitting time and increase physical activity among office workers in Thailand. Bmc Public Health. 2020;20(1):12.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุณแม่อย่าท้อ

ขวัญชนก ใจซื่อกุล

มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

หัวใจ

วรชัย ทองไทย

กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

นอนกี่ชั่วโมงคือเพียงพอ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th