ขึ้นชื่อว่า “ขยะ” ใคร ๆ ก็อยากทิ้ง และอยากจะทิ้งให้เร็วที่สุดเสียด้วย น้อยคนนักที่จะมองเห็นคุณค่าจากขยะ
แม้ “ขยะ” จะหมายถึงสิ่งปฏิกูล ของเสีย หรือของที่ไม่มีคุณค่า แต่ปัจจุบัน “ขยะ” สามารถสร้างพลังสังคม กลายเป็นอีกสื่อหนึ่งที่แสดงความรับผิดชอบของคนที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากตัวเลขการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในแต่ละปีที่มนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกทิ้ง (ทั้งที่ลงและไม่ลงถังขยะ) สูงถึง 2.12 พันล้านตันต่อปีทั่วโลก1 หรือแค่ในประเทศไทยประเทศเดียว ปริมาณขยะก็มีสูงถึง 27.8 ล้านตันต่อปี2 ด้วยปริมาณขยะที่มหาศาลเหล่านี้ทำให้มีการรณรงค์เรื่อง “ขยะ” กันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดขยะพลาสติก โดยการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การงดให้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เก็ต การลดการใช้ภาชนะพลาสติก เช่น แก้วน้ำ กล่องโฟมใส่อาหาร เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้มีการรณรงค์กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
นอกจากการรณรงค์ตามกระแสหลักข้างต้นแล้ว การลดปริมาณขยะพลาสติกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงเกิดมีแนวคิดหนึ่งที่หลายคนอาจมองว่าสุดโต่ง เพราะต้องใช้ความพยายามและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก นั่นคือ แนวคิด Freeganism ซึ่งเป็นแนวคิดหรืออุดมการณ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าสวนกระแสทุนนิยมเลยทีเดียว แนวคิดนี้จะเน้นการดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากการซื้อและใช้ของอุปโภคและบริโภค (หรือซื้อและใช้อย่างจำกัดที่สุด) แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 19943 ปัจจุบันมีนักรณรงค์ที่ยึดแนวคิดนี้อยู่จำนวนไม่น้อยในประเทศตะวันตก ซึ่งจะพบมากในเมืองใหญ่ เช่น นิวยอร์ก ซิดนีย์ และลอนดอน4 เป็นต้น กลุ่มคนที่ยึดแนวคิดนี้เรียกตัวเองว่า Freegans ซึ่งมาจากการรวมคำว่า Free กับ Vegans (คนที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์) นักรณรงค์กลุ่มนี้จะหลีกเลี่ยงการอุปโภคบริโภคทุกอย่างที่อยู่ในระบบทุนนิยม หรือพูดง่าย ๆ ว่า พวกเขาจะไม่ซื้อ (ก็คือ การไม่สนับสนุน) ผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกำไรจากกระบวนการที่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ เบียดเบียนสัตว์และสิ่งแวดล้อม พวกเขาไม่เชื่อในระบบทุนนิยมและต้องการปลดปล่อยตนเองจากวงจรเหล่านี้ จากแนวคิดดังกล่าว การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ จึงเกี่ยวโยงกับการจัดการขยะด้วย
แน่นอนว่าในเมื่อ Freegans ไม่สนับสนุนหรือจับจ่ายหาซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ทั้งข้าวของเครื่องใช้และอาหารเครื่องดื่มจากท้องตลาด พวกเขาก็ต้องอาศัย “ขยะ” ในการดำรงชีวิต การนำของใช้ที่ถูกทิ้งลงถังขยะมาปัดฝุ่นใช้ใหม่อาจไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่เราจะพบเห็นของใช้ที่เจ้าของไม่ต้องการ แต่คิดว่าคนอื่นอาจนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ วางอยู่ข้างทางหรือในพื้นที่สาธารณะพร้อมป้ายบอกว่า “ของฟรี” เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาสามารถหยิบกลับบ้านไปใช้ต่อได้เลย หรือหลายคนก็ลงประกาศบนเว็บไซต์ เช่น freecycle หรือ craigslist ซึ่งเป็นแหล่งรวมประกาศทั้งขายและไม่ขายของใช้ที่ไม่ใช้แล้วให้คนได้เข้าไปเลือกจับจองของมือสองเหล่านี้กันได้ ซึ่งของที่ให้ฟรีเหล่านี้ บางทีก็เป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของที่มีราคาสูง เช่น ที่นอน เตียง จักรยาน โต๊ะเขียนหนังสือ หรืออุปกรณ์กีฬา เป็นต้น ในประเทศไทย อาจพบเห็นการถ่ายโอนข้าวของแบบให้เปล่าแบบนี้ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะในประเทศไทยเน้นการให้บริจาคตามมูลนิธิต่าง ๆ เวลามีสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว คนไทยจึงมักนึกถึงการส่งต่อสิ่งของเหล่านี้ให้กับคนที่ขาดแคลนตามมูลนิธิมากกว่าให้กับคนแปลกหน้า (ที่อาจขาดแคลนเหมือนกัน) แต่ไม่ว่าจะให้กับใครและด้วยวิธีใด การให้ก็เป็นการแสดงน้ำใจที่ดีทั้งนั้น
นอกจากสิ่งของเครื่องใช้แล้ว นักรณรงค์ Freegans ยังบริโภค “ขยะ” เป็นอาหารอีกด้วย แต่การบริโภคขยะของเขาไม่ใช่การเก็บเศษอาหารกิน แต่อาหาร “ขยะ” เหล่านี้ เป็นอาหารที่ถูกทิ้งลงถังขยะ เนื่องจากหมดอายุ หรือมีรูปทรงที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ ซึ่งอาหารเหล่านี้มักอยู่ในห่อหรือแพ็คเกจที่มิดชิด เช่น ห่อขนมปังบิสกิต อาหารกระป๋อง หรือผลไม้ที่อยู่ในแพ็ค หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว Freegans กินอาหารจากถังขยะที่เป็นเนื้อสัตว์หรือมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ (นอกจากบางคนที่เป็น Freegans และ Vegans ด้วย) พวกเขามองว่า เนื้อสัตว์เหล่านี้ถูกทิ้งแล้ว และการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกทิ้งลงถังขยะแล้วเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมอีกทางนึง ซึ่งการบริโภคอาหารที่กลายเป็น “ขยะ” เหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ Freegans ที่ต้องการลดปริมาณขยะ อันเนื่องมาจากการทิ้งอาหารอย่างง่ายดายและมากมาย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่4 เช่น นิวยอร์ก มีปริมาณขยะมากถึง 4 ล้านตันต่อปี และจากกองขยะกองโตนี้เป็นอาหารขยะเกือบ 1 ใน 3 เช่นเดียวกับที่ปารีส ที่มีปริมาณอาหารขยะสูงถึง 1.2 ล้านตันต่อปี4
ที่มาภาพ: https://the-blueprint.org/freegans-resourceful-use-garbage-to-meet-needs/
Freegans บางทีอาจถูกเรียกว่า Dumpster divers หรือ Urban foragers เพราะหลายคนมักล้อเลียนที่พวกเขาคุ้ยถังขยะตามร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาอาหารที่ยังบริโภคได้ แต่ถูกโยนทิ้งลงถังขยะเสียแล้ว โดยอาหารที่พวกเขาหาได้จะถูกนำมาแบ่งแจกจ่ายให้กับ Freegans คนอื่น ๆ หรือใครก็ตามที่ต้องการอาหาร ณ เวลานั้น Freegans บางคนก็รวมกลุ่มกันแล้วนำอาหารที่หามาได้มาทำเป็นมื้ออาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับคนทั่วไปที่ไม่มีกิน ด้วยเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ต้องการลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม รูปแบบการใช้ชีวิตของ Freegans (นอกจากเรื่องอาหารและสิ่งของ) จึงเน้นการใช้ชีวิตอยู่โดยไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การงดการเดินทางด้วยยานพาหนะทุกประเภท และการกินสมุนไพรตามธรรมชาติเป็นยา5 แน่นอนด้วยวิถีชีวิตที่แปลกแตกต่างจากคนหมู่มาก หลายคนอาจมองว่า Freegans เป็นเหมือนคนเร่ร่อน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ต้องหาอาหารจากถังขยะกิน แต่ Freegans หลายคนเป็นคนที่มีการศึกษาและยึดมั่นในอุดมการณ์ดังที่กล่าวข้างต้น พวกเขาต้องการใช้ชีวิตในลักษณะที่ไม่เบียดเบียนโลกใบนี้ โลกซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตและต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน
ภาพเปิดโดย Foerster - Own work, CC0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=29600620
แหล่งที่มา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
สรัญญา สุจริตพงศ์
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ปาริฉัตร นาครักษา
วรชัย ทองไทย
วรเทพ พูลสวัสดิ์
กัญญา อภิพรชัยสกุล