ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยงดแจกถุงหูหิ้วพลาสติก ในช่วงแรกของการดำเนินการอาจจะมีเสียงบ่นจากผู้บริโภคถึงความไม่สะดวกสบายอยู่บ้างในการที่ต้องเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกพกไปด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้สังเกตได้ว่าผู้บริโภคเกิดการปรับตัว และคุ้นชินกับพฤติกรรมใหม่ จนได้กลายเป็นนิสัยว่าต้องมีถุงผ้าติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องออกไปซื้อของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดประมาณผลจากการงดแจกถุงพลาสติกนี้ว่าจะสามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้ 29% หรือ เท่ากับถุงพลาสติก 13,000 ล้านใบ/ปี คิดเป็นมูลค่าเงินประมาณ 2,400 ล้านบาท
ทำไมสังคมจึงต้องหันมาให้ความสนใจกับการลดใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) และทำไมภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายและมีมาตรการจริงจังในการลดขยะพลาสติกประเภทนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีรายงานข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ชนิดต่างๆ จากการกินถุงพลาสติกหรือเศษขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายเข้าไปบ่อยมากขึ้น
มาเรียม...ลูกพยูนเซเลปขวัญใจชาวโซเชียล หนึ่งในสัตว์ที่เสียชีวิตจากการที่มีเศษถุงพลาสติกอุดตันภายในกระเพาะอาหาร การตายของมาเรียมทำให้คนไทยเรียนรู้ถึงผลกระทบจากการตกค้างของขยะพลาสติกและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณมากที่ใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นทุกที
ที่ผ่านมาเรายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าผลกระทบโดยตรงจากขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณมากส่งผลเสียกับต่อสุขภาพมนุษย์เราอย่างไร เราทราบเพียงว่า ขยะพลาสติกเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปจะเปลี่ยนสภาพ เกิดการแตกตัวลดขนาดลงเรื่อยๆ จนมีขนาดเล็กมากในระดับที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเรียกพลาสติกจิ๋วนี้ว่า “ไมโครพลาสติก”
มีรายงานวิจัยที่ตรวจพบไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในสัตว์น้ำขนาดเล็กตามแหล่งประมงต่างๆ ของประเทศไทยทั้งในทะเลและแม่น้ำ คำถามสำคัญที่เกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพ คือ ด้วยขนาดที่เล็กนี้มันสามารถเข้าไปสู่ร่างกายมนุษย์ได้หรือไม่ และหากเข้าไปได้จะทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้อย่างไร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นสำคัญที่ตรวจพบไมโครพลาสติกในช่วงขนาด 5-10 ไมครอน (µm) (ขนาดประมาณเท่ากับเม็ดเลือดแดง) ในรกของหญิงชาวอิตาลีที่คลอดทารก โดยตรวจพบไมโครพลาสติก 4 คน จากทั้งหมด 6 คน ผลจากงานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราทราบว่า ไมโครพลาสติกสามารถแตกตัวจนมีขนาดเล็กมากพอที่อาจจะเคลื่อนผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมนุษย์ได้
สาเหตุที่หยิบยกเรื่องมาตรการงดแจกถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ จนถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากไมโครพลาสติกมาเล่าให้ฟังก็เพราะพวกเราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกครั้งในปีหน้านี้ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดใน roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ว่าภายในปี 2565 จะนำมาตรการเลิกใช้พลาสติกเพิ่มเติมอีก 4 ชนิด มาเริ่มดำ.เนินการ ได้แก่ ถุงหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 30 ไมครอน หลอด แก้วน้ำ และกล่องโฟมใส่อาหาร ดังนั้นช่วงเวลาประมาณหนึ่งปีจากนี้ไป พวกเราคงต้องเริ่มปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชินกับการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้หรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น หลอดกระดาษ หลอดแก้ว หลอดสแตนเลส กล่องอาหารทำจากวัสดุย่อยสลายได้ หรือถุงผ้า เมื่อยิ่งปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ก็ทำให้เราคุ้นชินกับนิสัยใหม่ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าการใช้พลาสติกเหล่านี้มีผลกระทบกับสุขภาพเราอย่างไรก็ตาม
ที่มา: https://www.mic.com/p/microplastic-pollution-is-everywhere-how-concerned-do-we-need-to-be-19207575 สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564
อ้างอิง
อารี จำปากลาย
รีนา ต๊ะดี
สรัญญา สุจริตพงศ์
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
อารยา ศรีสาพันธ์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
สุรีย์พร พันพึ่ง
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
วรเทพ พูลสวัสดิ์
นนทวัชร์ แสงลออ
ปรกชล อู๋ทรัพย์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
มนสิการ กาญจนะจิตรา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
ปาริฉัตร นาครักษา
กัญญา อภิพรชัยสกุล
วรชัย ทองไทย
วรเทพ พูลสวัสดิ์
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ