The Prachakorn

ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


ปาริฉัตร นาครักษา

05 พฤษภาคม 2564
429



จากบทความ (When will life return to normal? In 7 years at today’s vaccine rates)1 ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า เราจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับ New Normal นี้อย่างไร?

ปีที่ผ่านมาเราได้รู้จักโรคอุบัติใหม่ที่มีชื่อว่า COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสุขภาพ นอกจากผลกระทบเหล่านี้เป็นผลกระทบทางตรงจากการระบาดของโรค เรายังพบปัญหาอีกหนึ่งอย่าง คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

สืบเนื่องจากประเทศไทยพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในเดือนมกราคมปี 2563 และมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงกลางเดือนมีนาคมในปีเดียวกันนี้เอง ส่งผลให้รัฐบาลออกมาตรการล็อคดาวน์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมทั้งการประกาศมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ส่งผลให้มีการใช้บริการส่งอาหาร (food delivery) เพิ่มมากขึ้น มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่กลายเป็นขยะจำนวนมากทันทีหลังการบริโภค และขยะเหล่านี้จะไม่ถูกนำกลับมาใช้ เพราะมีความกังวลต่อการเสี่ยงสัมผัสโรค

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ขยะพลาสติกทั่วประเทศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปริมาณขยะ 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน2 เบื้องต้นหลังการแพร่ระบาดระลอกแรก กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร ขับเคลื่อนการดำเนินงาน “Food delivery วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน

ไม่เพียงแค่ประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรค COVID-19 แล้ว จากงานวิจัย The impacts of COVID-19 on the environmental sustainability: a perspective from the Southeast Asian region3 พบว่า ประเทศในแถบตะวันออกเฉียงใต้ เจอผลกระทบนี้เช่นกัน เช่น ประเทศสิงคโปร์พบปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 1,334 ตัน4 และประเทศมาเลเซีย พบขยะพลาสติกจากครัวเรือนเพิ่มขึ้น5 ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอินโดนีเชีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนามมีรายงานการเพิ่มขึ้นของขยะทางการแพทย์

การลดปริมาณขยะจากการใช้บริการ Delivery จะต้องได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคประชาชน แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการควบคุมขยะอย่างไร หากไร้ความร่วมมือจากภาคประชาชนก็ไร้ผล ดังนั้นควรเริ่มที่เราทุกคน การลดขยะสามารถทำได้ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน ตามหลักการ 3REs “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse and Recycle)”6 ยกตัวอย่างเช่น 

  1. ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก (Reduce) เมื่อสั่งอาหารจะมีตัวเลือกในการไม่เลือกรับช้อนส้อมพลาสติก เป็นการลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น
  2. นำถุง กล่อง แก้ว หรือบรรจุภัณฑ์อาหารที่ได้กลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือดัดแปลงบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ในการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การนำไปดัดแปลงเป็นกระถางต้นไม้ เป็นต้น
  3. เก็บรวบรวม ล้าง และตากขยะพลาสติกให้แห้งและนำไปขายหรือบริจาค โดยขยะประเภทพลาสติกแข็ง เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร แก้วกาแฟ ขวดพลาสติก สามารถส่งพลาสติกไปรีไซเคิล (Recycle) ได้ที่ Zero Waste Yolo7  เป็นหน่วยงานที่นำพลาสติกที่ได้รับบริจาคมาล้าง ตาก แยกประเภท บด และหลอมเป็นชิ้นงานที่หลากหลาย เช่น จานรองแก้ว กระเบื้อง โคมไฟ ไม้เทียม จานสี เป็นต้น เพื่อขายให้กับลูกค้าที่ต้องการสินค้ารักษ์โลก ขยะพลาสติกประเภทกล่องโฟมสามารถส่งไปรีไซเคิลได้ที่ Environplast8  เพื่อนำขยะที่รับซื้อมาทำการรีไซเคิลโดยวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่มีความรู้เฉพาะด้าน ขยะพลาสติกประเภทถุงแกง สามารถส่งเพื่อนำมาทำถนนได้ที่ Green Road  เพื่อนำไปผลิตเป็นบล็อกปูถนน โดยพื้นที่ 400 ตารางเมตร สามารถกำจัดขยะถุงพลาสติกไปได้ถึง 400 กก. หรือประมาณ 40,000 ใบ ขยะประเภทถุงพลาสติก/ฟิล์มยืด ส่งโครงการวน เพื่อการนำไปรีไซเคิลต่อไป

แม้ว่าเราจะต้องอยู่กับชีวิตวิถีใหม่ New Normal นี้ไปอีก 7 ปี แต่เรามาช่วยลดขยะพลาสติกร่วมกัน เพื่อเป็นสังคมไทยที่ปลอดโรค ปลอดขยะร่วมกันดีกว่า

ทีมา : https://www.pexels.com/th-th/photo/4226269/


เอกสารอ้างอิง

  1. Randall T. When Will Life Return to Normal? In 7 Years at Today's Vaccine Rates. Updated 5 February 2021. https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-04/when-will-covid-pandemic-end-near-me-vaccine-coverage-calculator
  2. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. ทส. จับมือ Platform ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “Food Delivery วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”. Updated 30 september 2020. https://www.pcd.go.th/pcd_news/8460/
  3. The impacts of COVID-19 on the environmental sustainability: a perspective from the Southeast Asian region. Updated 7 march 2021. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7787621/
  4. TodayOnline. Singapore households generated additional 1,334 tonnes of plastic waste during circuit breaker. Accessed 9 June. https://www.todayonline.com/singapore/singapore-households-generated-additional-1334-tonnes-plastic-waste-during-circuit-breaker
  5. M T. Blue skies, less waste: Covid-19 and the MCO's effects on the environment. Accessed 7 march, 2021. https://www.thestar.com.my/lifestyle/living/2020/04/22/earth-day-a-wake-up-call-to-lead-more-environmentally-sustainable-lives
  6. Network G. ลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R ลดใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิล. Updated July 24, 2019. Accessed 7 march, 2021. https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94-3r/
  7. https://www.zerowasteyolo.com/?fbclid=IwAR2SQEs-U69S7ied2LzsIvEQYrcGtPmSfjUNWBGOuiwoVbu5piXfwtfkLr0
  8. https://environplast.blogspot.com/?fbclid=IwAR2TU-lVgg0ye2gr5VQc7dl9Z17qArniOtjYaKqBjwzXX-IcGlxcblKzo1I
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
แมลงสาบ

วรชัย ทองไทย

รถขยะร้องเพลงที่ไต้หวัน

สุภรต์ จรัสสิทธิ์

กายิกสุข

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th