The Prachakorn

Seaspiracy กับความจริงอีกด้านที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง


รีนา ต๊ะดี

10 พฤษภาคม 2564
460



หนังสารคดีที่ได้รับการแนะนำใน Netflix กับประเด็นที่ไม่ได้ถูกพูดถึงและทางออกของผู้บริโภค

ฝูงปลากะมง ภาพถ่าย โดย ผู้เขียน

“Seaspiracy” หนังสารคดีที่ผู้กำกับได้เล่าถึงอันตรายต่าง ๆ ที่มนุษย์เป็นผู้กระทำต่อสัตว์ทะเลทั้งหลายและยังได้เปิดโปงคอร์รัปชั่นขององค์กรในระดับสากลที่น่ากังวลอีกด้วย นี่คือคำบรรยายหนังสารคดีเรื่องนี้ที่ถูกเขียนไว้ในการแนะนำบนช่องทางสตรีมมิ่ง Netflix 

หนังสารคดีเรื่องนี้เปิดตัวเล่าเรื่องขยะพลาสติคในทะเล ผลกระทบที่เกิดจากขยะเหล่านี้ รวมถึงวิธีการที่ผู้ดำเนินเรื่อง (ผู้กำกับ) เชื่อว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติคในทะเลลงได้ นั่นเป็นความรู้ทั่วไป และฉันเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงตระหนักถึงเรื่องนี้ดีในปี 2021 นี้  

จากนั้นได้มีการพูดถึงสิ่งที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลและปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการล่าวาฬและการทำประมงเชิงพาณิชย์ เช่น การจับปลาทูน่าซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงการทำประมงด้วยวิธีลากอวน ขยะอวนที่อยู่ในทะเล การที่องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ หลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดเรื่องการทำประมงเชิงพาณิชย์ว่าส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างไร การที่รัฐบาลบางประเทศให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการเพื่อควบคุมค่าอาหารทะเลให้อยู่ในราคาที่ไม่แพงเกินไป และมาตรการต่าง ๆ ในระดับสากล รวมถึงการใช้แรงงานทาสในเรือประมง และอาชญากรรมต่าง ๆ ที่พ่วงมากับการทำประมงเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังได้พูดถึงเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน การทำฟาร์มสัตว์น้ำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และปิดท้ายด้วยการเสนอทางออกว่า แม้ว่าเราจะไม่กินปลาหรืออาหารทะเลอีกต่อไป เราก็มีทางเลือกไปกินอาหารทะเลที่ทำมาจากพืชได้ (plant based seafood) นอกจากจะไม่ต้องจับสัตว์ทะเลมาเพื่อบริโภคและส่งผลให้ระบบนิเวศในทะเลเสียสมดุลแล้ว ยังสามารถหลีกเลี่ยงสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลที่จับมาอย่างปรอทได้อีกด้วย

เมื่อฉันดูหนังสารคดีเรื่องนี้จบ ฉันมีความรู้สึกแรกว่าไม่อยากกินอาหารทะเลอีกต่อไปเลย รวมถึงเนื้อสัตว์อื่น ๆ ด้วย แต่นั่นคงทำให้ฉันต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของฉันค่อนข้างมาก ฉันจึงพยายามหาทางเลือกอื่น และตั้งคำถามขึ้นมากมายถึงประเด็นอื่น ๆ ที่หนังสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึง  ในรายละเอียด คือ เรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน และการหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การทำประมงอย่างยั่งยืนคืออะไรกัน?

สภาพิทักษ์ทะเล หรือ Marine Stewardship Council: MSC ได้ให้คำนิยามการทำประมงอย่างยั่งยืนว่า หมายถึง การทำประมงในระดับที่สามารถควบคุมรักษาปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลให้มีการจับได้อย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศในทะเล รวมถึงการเคารพและสนับสนุนวิถีชีวิตของผู้ที่ต้องพึ่งพาการประมงในการดำรงชีพ1  

อย่างไรก็ตามความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ โดยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เน้นการสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ มิติของสังคม มิติของเศรษฐกิจ และมิติของสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ แม้ว่าการเลิกบริโภคอาหารทะเลหรือการเลิกทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิงจะทำให้จำนวนของสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจทำให้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการประมงแย่ลง จึงอาจไม่สามารถเรียกว่าเป็นความยั่งยืนได้

นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ระบุว่าปลาและสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ และความต้องการอาหารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก เพื่อให้ประชากรทุกคนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ ในอนาคตอาจจะต้องมีการจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารมากขึ้นด้วยซ้ำ แม้ใน SDGs จะได้ระบุถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเอาไว้เป็นเป้าหมายหนึ่ง (เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน) แต่การยุติการขาดแคลนอาหารก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ SDGs (ข้อ 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน) เช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายที่จะกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารไปพร้อมๆ กัน2  

อีกทั้งสหประชาชาติยังได้พยายามให้เกิดการสนับสนุนการทำประมงขนาดเล็ก หรือการประมงแบบพื้นบ้านภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดย FAO Regional Office for Asia and The Pacific (2004) ได้ให้คำนิยามว่าการทำประมงขนาดเล็กคือการทำประมงที่เน้นใช้แรงงานเป็นหลักในการจับสัตว์น้ำ รวมถึงการแปรรูปและการจัดจำหน่าย ซึ่ง FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries: CCRF (1995) ระบุถึงความสำคัญของการทำประมงพื้นบ้านและการประมงขนาดเล็กว่านำไปสู่การจ้างงาน รายได้ และความมั่นคงทางอาหาร โดยรัฐควรสนับสนุนและปกป้องสิทธิของชาวประมงและแรงงานชาวประมงอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นคงและการคงไว้ซึ่งวิถีการดำเนินชีวิต

ตามเป้าหมายหลักด้านการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนของไทยภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 เป้าหมายที่ 14 ชีวิตใต้น้ำ (Life Below Water) ในบริบทของประเทศไทย ได้ระบุเรื่องการส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็ก โดยประเทศไทยมีมาตรการส่งเสริมการทำประมงชายฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้การทำประมงนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรชายฝั่ง และยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงตลาดให้กับชาวประมงรายย่อย ทำให้ยังเกิดปัญหาความยากจนในชุมชนชาวประมงชายฝั่ง  

Seaspiracy ได้มีการพูดถึงการทำประมงอย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดมากนัก และได้นำเสนอการประมงในรูปแบบของการทำฟาร์มสัตว์น้ำแทนก่อนที่จะเสนอให้ผู้ชมเลิกการบริโภคปลาและสัตว์ทะเล  ฉันคิดว่าการทำประมงแบบพื้นบ้าน ที่ชาวประมงออกเรือเล็กและจับสัตว์ทะเลด้วยวิธีที่อนุญาตให้สัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ ได้เติบโต มีเวลาให้ทรัพยากรได้ฟื้นฟูขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไปได้ทันอาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ และเราอาจจะไม่ต้องเลิกบริโภคปลาและสัตว์ทะเลอย่างสิ้นเชิง แต่สามารถเปลี่ยนแหล่งผลิตของปลาเพื่อการบริโภคได้

เรือประมงขนาดเล็กริมชายฝั่งหน้าหมู่บ้านของชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ ภาพโดยผู้เขียน

การบริโภคอาหารที่มาจากพืชผักอย่างเดียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือ?

ในการเพาะปลูกพืชต้องใช้น้ำในปริมาณมาก รายงานจากเว็บไซต์ ourworlddata.org ระบุว่าร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมดบนโลกนี้ถูกนำไปใช้ในการเกษตร3 ทำให้ในบางพื้นที่ถึงกับขาดแคลนน้ำใช้ เช่น ในพื้นที่ที่มีการปลูกอะโวคาโด้ในประเทศชิลี4,5  และยังมีพืชอีกหลายชนิด เช่น เห็ดบางชนิด โปรตีนทางเลือกที่เกิดจากการหมักเชื้อรา (Mycoprotein) โกโก้ และถั่วบางชนิด ที่ใช้น้ำปริมาณมากในการเพาะปลูกและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากในขั้นตอนการเพาะปลูกและการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ6

นอกจากการเพาะปลูกพืชจะต้องใช้น้ำในปริมาณมากแล้ว ยังมีการใช้สารเคมีอีกด้วย BBC ได้ระบุว่าปุ๋ยเคมีก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดบนโลก7  ซึ่งรายงานจาก ourworlddata.org ยังระบุว่าร้อยละ 78 ของมลภาวะในน้ำจืดและน้ำทะเลทั่วโลกเกิดจากสารเคมีตกค้างในการทำเกษตรกรรม8  

รายงานฉบับเดียวกันได้เปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในการผลิตอาหารแต่ละประเภท พบว่าในอาหารที่ให้ปริมาณโปรตีน 100 กรัมเท่ากัน ดาร์กช็อกโกแลต กาแฟ และมะเขือเทศ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในการผลิตมากกว่ากุ้งและปลาจากฟาร์มเสียอีก   ดังนั้นแล้ว การบริโภคอาหารที่มาจากพืชผักอย่างเดียวจึงไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไปแต่ขึ้นอยู่กับประเภทของพืชที่บริโภค โดยธัญพืชต่าง ๆ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อยมาก ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานพืชผักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อย และหลีกเลี่ยงพืชผักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากได้ แต่สำหรับบางคน การเลิกดื่มกาแฟคงเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่ใช่น้อย

ในฐานะผู้บริโภค เรามีทางเลือกใดบ้าง 

ในฐานะผู้บริโภค ฉันคิดว่าการเลิกรับประทานอาหารทะเลไปเลยโดยสิ้นเชิงคงไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการหันมาสนับสนุนชาวประมงรายย่อย รวมถึงเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารรายย่อยเหล่านี้ได้ในตลาดของชุมชนที่เราอยู่ นอกจากจะได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพแล้ว ยังได้ส่งเสริมการมีงานทำและวิถีชีวิตชุมชนด้วย

การบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นตามฤดูกาลก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้โดยรวม เช่น ผักและผลไม้ที่เพาะปลูกและจำหน่ายในท้องถิ่นตามฤดูกาลนั้นก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการเพาะปลูกและการขนส่งน้อยกว่าผักและผลไม้ที่เพาะปลูกนอกฤดูกาลหรือมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

การบริโภคอย่างพอเพียงและพยายามทำให้เกิดขยะจากอาหารให้น้อยที่สุดก็สามารถลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน เนื่องจากการย่อยสลายของขยะที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมากในปัจจุบัน เราสามารถลดการเกิดขยะอาหารได้โดยการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบทุกส่วน  การถนอมอาหารเพื่อยืดอายุอาหารให้สามารถนำมารับประทานได้นาน หรือการนำเศษขยะอาหารเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เช่น การหมักปุ๋ย  

ฉันคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะส่งเสริมการบริโภคและการทำประมงอย่างยั่งยืนได้เนื่องจากมี know how ในการทำประมงแบบพื้นบ้าน และยังมีตลาดสดในชุมชนเกือบทุกชุมชนให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่ผลิตในท้องถิ่นได้ สิ่งที่ยังขาดคือนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของชาวประมงท้องถิ่น และการสนับสนุนการทำประมงพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

ตลาดปลาเล็กๆ ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ภาพถ่าย โดย ผู้เขียน

ข้อคิดที่ฉันได้จาก Seaspiracy

ฉันคิดว่าเป็นหนังสารคดีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง และอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านลองรับชมดู ฉันคิดว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้ทำได้ดีในการกระตุกให้ผู้ชมเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเปิดประเด็นสำคัญหลายประเด็นที่ทำให้เกิดการสนทนา การอภิปรายโต้แย้ง และการสืบหาข้อมูลในเชิงลึกต่อไปในสังคมอีกด้วย 

สิ่งที่ฉันต้องการจะย้ำก่อนจบบทความนี้คือ หนังสารคดีเรื่องนี้ได้ส่งสารสำคัญกับผู้ชมคือ การทำประมงเชิงพาณิชย์ การจับสัตว์น้ำมากเกินไป (over fishing) และขยะพลาสติกในทะเลส่งผลอย่างรุนแรงต่อการเสื่อมโทรมของทรัพยากรในท้องทะเล ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) รุนแรงขึ้น หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน อาจเกิดอันตรายขึ้นในอนาคตต่อโลกและมนุษย์เอง 

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจจะรับประทานปลา สัตว์ทะเล รวมถึงเนื้อสัตว์อื่น ๆ ต่อไปหรือไม่ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะแต่ละคนมีบริบทของการดำรงชีวิตที่ต่างกัน ดังนั้นเราจึงควรยอมรับและเคารพการตัดสินใจของกันและกันโดยไม่ตัดสินทางเลือกของใครว่าถูกหรือผิด เท่านี้เราก็จะพบกับความยั่งยืนในความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข 

เรือประมงขนาดกลาง ภาพถ่าย โดย ผู้เขียน


อ้างอิง

  1. https://www.msc.org/what-we-are-doing/our-approach/what-is-sustainable-fishing
  2. https://www.un.org/en/chronicle/article/achieving-and-maintaining-sustainable-fisheries
  3. https://ourworldindata.org/environmental-impacts-of-food?country=#carbon-footprint-of-food-products
  4. https://www.reuters.com/article/us-chile-environment-water-idUSKBN25G2NT
  5. https://www.reuters.com/article/us-water-chile-environment-idUSKCN1T41AL
  6. https://www.bbc.com/future/article/20200211-why-the-vegan-diet-is-not-always-green
  7. see 7
  8. https://ourworldindata.org/environmental-impacts-of-food?country=#carbon-footprint-of-food-products


CONTRIBUTOR

Related Posts
ปลาดุกในที่ทำงาน

จรัมพร โห้ลำยอง

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

แมลงสาบ

วรชัย ทองไทย

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th