The Prachakorn

ถึงแตกต่าง แต่ไม่ต่างกัน


อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

16 ธันวาคม 2563
498



“ถึงแม้เราจะแตกต่าง แต่ความต้องการของเราไม่ต่างกัน”

ผมได้รับโจทย์ให้เขียนบทความเกี่ยวกับคนพิการในฐานะที่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ตอนแรกผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนบทความนี้ในประเด็นใดดี แต่เมื่อได้ทบทวนจากประสบการณ์ที่เคยพูดคุยกับคนไม่พิการแล้วก็พบว่าหลายคนมีความสงสัยว่า “คนพิการส่วนมากมีวิถีการใช้ชีวิตอย่างไร” เขาเหล่านั้นนึกไม่ถึง มองไม่ออกว่าวิถีชีวิตและความต้องการของกลุ่มคนพิการนั้นมีความแตกต่างจากคนไม่พิการอย่างไร หลาย ๆ คนคิดว่าคนพิการส่วนมากคงจะต้องตกอยู่ในสถานะของคนที่เจ็บป่วย และต้องดูแลแบบคนป่วย ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งในส่วนเสี้ยวของชีวิตที่ผู้คนส่วนมากรับรู้น้อยและไม่กว้างขว้างนัก

คนพิการและความพิการมีอยู่ 2 แบบ คือ ความพิการตั้งแต่กำเนิด และความพิการที่เกิดภายหลัง มีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางการมองเห็น ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ความพิการทางสติปัญญา ความพิการทางการเรียนรู้ และออทิสติก
แน่นอนว่าเมื่อความพิการเกิดขึ้น ย่อมมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ร่างกายมีข้อจำกัดและมีความแตกต่างจากคนที่ไม่พิการ สภาพจิตใจบอบช้ำรุนแรงในกรณีที่เกิดความพิการรุนแรงภายหลัง และการใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม สำหรับคนที่พิการภายหลัง ในระยะแรก ๆ หลายคนต้องตกอยู่ในสถานะของคนป่วย พร้อมกับความคาดหวังว่าสักวันข้างหน้าจะมีปาฏิหาริย์ที่จะรักษาความพิการให้หายได้ แต่บางครั้งมันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อคนพิการสามารถผ่านช่วงวิกฤตทางด้านจิตใจไปได้แล้ว ตัวคนพิการเองจะค้นพบวิถีชีวิตของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกันไปแต่ละคน

ถ่ายโดย สุพัตรา แวววับ

ในด้านผลกระทบจากความพิการ คนพิการที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายจะมีปัญหาจากร่างกายและมีอุปสรรคการใช้ชีวิตมากกว่าคนพิการลักษณะอื่น ๆ บางคนอาจจะไม่สามารถขยับหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะมีวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตแบบใดกัน ผมจะบอกเล่าประสบการณ์บางส่วนจากชีวิตเพื่อนคนพิการที่มีความพิการรุนแรงที่อาศัยอยู่ลำพังว่าเป็นอย่างไรเมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และจำเป็นต้องมีผู้ช่วยอาบน้ำ แต่งตัว รวมถึงทำความสะอาดทั้งถ่ายหนักและถ่ายเบาให้ หรือช่วยในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

ในแต่ละวัน กิจวัตรประจำวันของพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ๆ ทั่วไป พวกเขาตื่นเช้า จัดการธุระส่วนตัว อาบน้ำแต่งตัว และย้ายตัวลงนั่งรถเข็นออกไปทำงาน เลิกงาน และหาข้าวกิน ซึ่งก็เป็นรูปแบบวิถีชีวิตที่ดูเป็นปกติ เพียงแต่ว่าเขาจะมีผู้ช่วยเป็นคนช่วยทำในสิ่งที่เขาไม่สามารถทำเองได้ โดยเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจและกำหนดตารางนัดผู้ช่วยให้มาพบที่ห้องพักเพื่อมาช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น เมื่อถึงวันหยุด เขาก็ออกไปเที่ยว ดูหนัง สังสรรค์กับเพื่อนฝูง พวกเขามีความฝัน มีความรัก เคยอกหัก มีความต้องการทางเพศ อยากมีครอบครัว บางวันท้อใจ พบเจอแรงกดดัน บางวันสุขใจ ก็เป็นตามกระแสของชีวิต


ถ่ายโดย สุพัตรา แวววับ

ผู้อ่านคงพอจะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของคนพิการก็ไม่ได้แตกต่างจากไปคุณ ๆ เลย เพียงแค่ในแต่ละกิจกรรมของชีวิตอาจจะมีรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น การเคลื่อนพาตัวเองออกจากบ้านต้องมีรถเข็นใช้แทนขา เวลาเดินทางขึ้นรถ หยิบของ ขับถ่ายต้องมีผู้ช่วย แต่ในด้านของความรู้สึกนึกคิด ความต้องการในมุมต่าง ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย หากเปรียบเปรยคนไม่พิการเป็นแก้วน้ำที่มีหูจับ และคนพิการเป็นแก้วน้ำที่หูจับแตกหักไป แต่แก้วน้ำก็ยังเป็นที่รองรับน้ำได้เหมือนเดิม ความสำคัญนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง ฉันใดก็ฉันนั้นต่อให้พิการหรือไม่พิการ เราต่างก็ยังเป็นคนเช่นกัน อยากที่จะกำหนดวิถีชีวิต เลือกทำในสิ่งที่อยากทำ และอยากเป็นในสิ่งที่ใฝ่ฝัน

การให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มคนพิการคือการช่วยเหลือกัน เป็นสิ่งที่สวยงามและควรต้องแบ่งปันกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ หากผู้อ่านได้ออกไปเจอกับคนพิการที่ใช้ชีวิตในสังคม แล้วอยากจะให้ความช่วยเหลือ ก่อนจะให้ความช่วยเหลือใด ๆ ควรสอบถามเขาสักหน่อยว่า “มีอะไรให้ช่วยหรือเปล่า แล้วจะสามารถช่วยอย่างไรได้บ้าง” เพราะบางครั้งการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ตรงตามความต้องการ อาจจะเป็นการบังคับขืนใจคนรับ ซึ่งนั้นอาจจะไม่เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อีกทั้งการสอบถามยังเป็นการเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่งดงามอีกด้วย


 
ภาพสะท้อนการให้ความช่วยเหลือแบบไม่ได้ถามความต้องการ
ถ่ายโดย สุพัตรา แวววับ



CONTRIBUTOR

Related Posts
ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

Web Accessibility คืออะไร?

เพ็ญพิมล คงมนต์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th