ในยุคที่เด็กเกิดน้อยลงทุกวัน การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับประชากรอย่างทั่วถึงเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ทุกวันนี้ การศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าถึงเด็กไทยอย่างทั่วถึงแล้วแต่ในเรื่องคุณภาพการศึกษายังคงเป็นความท้าทายสำคัญ การวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเรียนการสอนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษา การสอบ O-NET (Ordinary National Educational Test) ซึ่งเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานที่จัดขึ้นโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบ วัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญในการสะท้อนระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทย
จากการดำเนินการมากว่า 14 ปี ตั้งแต่ดำเนินการสอบครั้งแรกเมื่อปี 2549 (ปีการศึกษา 2548) ผลคะแนนจากการสอบ O-NET ของนักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าร้อยละ 50 เกือบทั้งสิ้น ถือว่านักเรียนไทยสอบตกกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่คะแนนอยู่ในระดับต่ำมาก
คะแนนสอบ O-NET ยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอีกด้วย เพราะคะแนน O-NET มีลักษณะเกาะเป็นกลุ่มตามระดับฐานะทางเศรษฐกิจของนักเรียนอย่างชัดเจน นั่นคือ โรงเรียนที่มีนักเรียนร่ำรวยกว่ามีคะแนนเฉลี่ย O-NET สูงกว่ากลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนกว่าอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา O-NET ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมาตรฐานของแบบทดสอบ ที่มีความกำกวม เกินกว่าหลักสูตรกำหนด และข้อสอบผิดเป็นจำนวนมาก จึงเกิดคำถามว่า O-NET สามารถวัดคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริงหรือไม่
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่สามารถดำเนินการไปอย่างปกติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ลงนามในหนังสือเรื่อง การยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานปีการศึกษา 2563 ซึ่งเป็นการยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เท่านั้น แต่มีแนวโน้มว่า หากได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียนและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อาจมีแนวโน้มยกเลิกการสอบ O-NET อย่างถาวรไม่ใช่ชั่วคราว
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตในเรื่องหลักการของการจัดทดสอบระดับชาติที่ใช้ข้อสอบกลางจัดสอบเหมือนกันทั่วประเทศ เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือการวัดความรู้ของนักเรียนว่าได้มาตรฐานตรงกับที่หลักวิชาและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตรงตามมาตรฐานการศึกษาของชาติหรือไม่ โดยที่ไม่ได้เป็นการรับฟังข้อมูลจากสถานศึกษาที่เป็นคนจัดการศึกษาเองเพียงฝ่ายเดียว (เชื่อว่าสถานศึกษาทำหน้าที่ได้ดี แต่ในเชิงหลักการ ควรมีคนนอกมาช่วยเป็นกระจกสะท้อนผลการดำเนินงานของตัวเอง ประกอบกับการทดสอบของสถานศึกษาด้วย เพื่อช่วยให้ผลสะท้อนใกล้เคียงความจริงมากที่สุด)
การสอบ O-NET จึงเป็นโอกาสที่เราจะรับรู้ถึงสถานการณ์คุณภาพการศึกษาของผู้เรียนจากหน่วยงานที่เป็นอิสระ ที่เราคาดหวังว่าจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา แน่นอนว่ามาตรฐานการทดสอบ O-NET ยังมีปัญหาอยู่พอสมควร และมีเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อยอดอีกหลายประเด็นเพื่อให้การสอบ O-NET มีมาตรฐานตามความคาดหวังได้ แต่ถึงอย่างไรก่อนที่เราจะพิจารณาว่าการสอบ O-NET ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ก็ควรตั้งหลักไว้ให้มั่นว่า หากปัญหาเป็นเพียงมาตรฐานการทดสอบ เราก็แก้ปัญหาในจุดนี้ให้สำเร็จ ไม่ใช่ยกเลิกการสอบ O-NET ทั้งหมด และถ้า ยกเลิกไปจริงๆ ควรมีการทดสอบอย่างอื่นเข้ามาทดแทนและมีประสิทธิภาพเหนือกว่าหรือไม่ หรือเราไม่อยากรู้ว่าหลังจากใช้จ่ายงบประมาณ ลงแรงลงใจกับการพัฒนาการศึกษาไปอย่างมากมาย ผลที่ได้ผ่านตัววัดที่คุณภาพผู้เรียนเป็นอย่างไรบ้าง คงน่าเสียดายที่เราอุตส่าห์ลงหลักปักฐานในเรื่องนี้มากว่าสิบปีแล้ว กองเชียร์ O-NET และกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการสอบ O-NET คงต้องจับตาดูถึงสถานการณ์ในเรื่องนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด
ที่มา: https://www.pngegg.com/en/png-bqzhr สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564
ภาพประกอบโดย Pixabay
กาญจนา ตั้งชลทิพย์
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
อมรา สุนทรธาดา
ชิษณุพงษ์ สรรพา
อมรา สุนทรธาดา
พิมลพรรณ นิตย์นรา
อมรา สุนทรธาดา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
อมรา สุนทรธาดา
จีรวรรณ หงษ์ทอง
จรัมพร โห้ลำยอง
สาสินี เทพสุวรรณ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด