The Prachakorn

ประเทศในเอเชียครองแชมป์มีลูกน้อยที่สุดในโลก


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

01 มีนาคม 2564
351



หากจัดอันดับประเทศที่สตรีมีบุตรน้อยที่สุดตลอดวัยเจริญพันธุ์ 15-49 ปี ปัจจุบันจะพบ 4 ประเทศในเอเชียติดอันดับ 1 ใน 20 ที่ครองแชมป์มีลูกน้อยที่สุดในโลก ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย

อัตราเจริญพันธุ์รวม มักเป็นตัวชี้วัดที่ใช้เปรียบเทียบว่า ผู้หญิงชาติใดมีบุตรจำนวนมากหรือน้อยต่างกันอย่างไร เกาหลีใต้มีอัตราเกิดต่ำที่สุดในเอเชียและต่ำที่สุดในโลก สหประชาชาติ1คาดว่า ระหว่างปี 2020-2025 สตรีชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งจะมีบุตรเฉลี่ย 1.08 คนเท่านั้น อันดับสองในเอเชียคือสิงคโปร์ (1.24 คน) อันดับสามคือญี่ปุ่น (1.37 คน) ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับสี่ในเอเชีย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดประมาณไว้ว่าผู้หญิงไทยคนหนึ่งจะมีบุตรเฉลี่ย 1.53 คนตลอดวัยเจริญพันธุ์2

การที่ประเทศหนึ่งมีเด็กเกิดน้อยลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และสัดส่วนประชากรวัยแรงงานอายุ 15-49 ปีลดลง จากเดิมในปี 2020 ที่ผู้สูงอายุคนหนึ่งมีประชากรวัยแรงงาน 3.6 คนเกื้อหนุน (ในระบบภาษี) แต่ปี 2040 จะลดลงเหลือเพียง 1.8 คนเท่านั้น3 ปรากฏการณ์นี้สร้างความไม่สมดุลระหว่างประชากรวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้จ่ายภาษี และประชากรวัยพึ่งพิง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

เงินที่จัดสรรเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นเงินบำนาญหรือบำเหน็จชราภาพ สำหรับผู้ประกันตนหลังเกษียณอายุ ก็มาจากประชากรวัยแรงงานทั้งสิ้น เงินในกองทุนจะถูกนำไปดูแลผู้ประกันตนที่เกษียณอายุในปัจจุบัน (pay as you go) แต่เมื่อประชากรวัยแรงงานจะลดลงจาก 43.3 ล้านคนในปี 2020 เหลือเพียง 36.5 ล้านคน ในปี 2040 ในขณะที่ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 20 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน3 ความท้าทายของรัฐบาลคือ จะจัดสรรหรือบริหารเงินเข้ากองทุนประกันสังคมหรือกองทุนอื่น ๆ ให้เพียงพอ เพื่อดูแลประชากรหลังเกษียณอายุได้อย่างไร

นโยบายการควบรวมโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหนึ่งในผลกระทบอันเนื่องมาจากมีเด็กวัยเรียนลดลงอย่างมาก ประเทศไทยเคยมีเด็กเกิดใหม่ปีละมากกว่า 1 ล้านคนในช่วง พ.ศ. 2506-2526 แต่ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่เพียงปีละกว่า 6 แสนคนเท่านั้น ในอนาคตเราอาจไม่เห็นโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชน ครูในโรงเรียนหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะไม่มีเด็กนักเรียนให้สอนหนังสือกันอีกต่อไปแล้ว  

ประชากรเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา งานวิจัย และรวมถึงการกีฬาด้วย คงจะดีไม่น้อย หากมีประชากรจำนวนมากและหลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสคัดสรรเด็กที่มีร่างกายแข็งแรง เพื่อฝึกฝนให้เป็นนักกีฬาเก่ง ๆ แต่หากมีเด็กเกิดน้อย จนประชากรมีจำกัด ผู้เขียนคิดว่า..ในอนาคตเราอาจจะได้ช่วยกันโบกธงเชียร์กองทัพนักกีฬาหุ่นยนต์ที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแทนมนุษย์ก็เป็นได้.... “ไทยแลนด์สู้ ๆ”
 

Hubo หุ่นยนต์วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกแทนมนุษย์ ในพย็องซัง ประเทศเกาหลีใต้ (PyeongChang 2018 Olympic Winter Games)
ที่มา: https://twitter.com/DennisHongRobot/สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2563 


ที่มา

  1. https://twitter.com/DennisHongRobot/อ้างอิง
    : 1 United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division. 2019. "World Population Prospects 2019”.

  2. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2563). สารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดล. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. Retrieved 17 ธันวาคม 2563 from http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/Gazette.aspx

  3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). การคาดประมาณประชากรของประเทศไทยพ.ศ. 2553-2583 (ฉบับปรับปรุง สิงหาคม พ.ศ. 2562). สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th