The Prachakorn

30 ปี ที่เปลี่ยนไปกับครัวเรือนผู้สูงอายุไทยที่เพิ่มขึ้น


กาญจนา เทียนลาย

27 เมษายน 2565
633



“ครัวเรือนผู้สูงอายุ” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กับผลกระทบที่ต้องรับมือ

จำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อให้รูปแบบการอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้สูงอายุต้องอยู่กันตามลำพังมากขึ้น เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ส่งสัญญาณเตือนให้สังคมตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ในปี 2564 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้มีโอกาสทำงานวิจัย “โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม” ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

ทั้งนี้ โครงการฯ ได้นำข้อมูลระดับชาติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติหลายชุดมาวิเคราะห์ในการศึกษาวิจัย ผลในเบื้องต้นชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างอายุและเพศของประชากรไทย เด็กเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สอดรับกับรูปแบบการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ที่พบว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุ ที่หมายถึง มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 คน “มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น”

ที่น่าสนใจ คือ การวิเคราะห์รูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไทยจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2533 และ 25631  (ช่วงเวลา 30 ปี) จัดรูปแบบการอยู่อาศัย โดยใช้เกณฑ์ “อายุ” กำหนดให้ ครัวเรือนที่มีสมาชิกทุกคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยไม่มีวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วย เป็น “ครัวเรือนผู้สูงอายุ” แต่หากมีประชากรกลุ่มวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วยจะเรียกว่า “ไม่ใช่ครัวเรือนผู้สูงอายุ หรือครัวเรือนทั่วไป  ทั้งนี้ ในรูปแบบครัวเรือนผู้สูงอายุ ได้ใช้เกณฑ์ความสัมพันธ์มาใช้ในการแบ่งกลุ่มด้วย เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น 

เหตุผลหนึ่งที่โครงการฯ นำเสนอรูปแบบการอยู่อาศัยที่ “ครัวเรือนผู้สูงอายุ” หมายถึง สมาชิกทุกคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยไม่มีวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วยนั้น เพื่อต้องการให้เห็นว่า จำนวนผู้สูงอายุในบ้านเราเพิ่มจำนวนมากขึ้นจริงๆ และส่งผลต่อรูปแบบการอยู่อาศัยทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย 

ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่า จาก 3.4% (ปี 2533) เป็น 16.1% (2563) เมื่อพิจารณาครัวเรือนผู้สูงอายุประเภทต่างๆ พบว่า ทุกประเภทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว และครัวเรือนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับสามี/ภรรยาเท่านั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สัดส่วนของครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 7.2 ในปี 2563 ในขณะที่ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับสามี/ภรรยาเท่านั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 5.9 ในปี 2563

ทั้งนี้ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 คน ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จาก 22.4% เป็น 29.1% ด้วยเช่นเดียวกัน 

ตารางแสดงร้อยละของรูปแบบการอยู่อาศัยของครัวเรือนไทย พ.ศ. 2533 และ 2563

รูปแบบการอยู่อาศัย พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2563
ครัวเรือนผู้สูงอายุ
(สมาชิกทุกคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยไม่มีวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วย)
3.4 16.1
ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว 1.3 7.2
ผู้สูงอายุอยู่กับสามีหรือภรรยาสูงอายุตามลำพัง 1.2 5.9
ผู้สูงอายุอยู่กับผู้สูงอายุรุ่นเดียวกัน (เช่น พี่น้อง) 0.0 0.5
ผู้สูงอายุอยู่กับบุตรสูงอายุ 0.8 2.1
ผู้สูงอายุอยู่กับผู้สูงอายุ 3 รุ่น
(เช่น พ่อแม่ และลูก และหลานที่เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด)
0.0 0.2
ไม่ใช่ครัวเรือนผู้สูงอายุ (หรือครัวเรือนทั่วไป) 96.6 83.9
ผู้สูงอายุอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 คน 22.4 29.1
ไม่มีผู้สูงอายุอยู่ในครัวเรือน 74.2 54.8
รวม 100.0 100.0

หมายเหตุ ไม่ได้นำเสนอรูปแบบการอยู่อาศัยที่มีร้อยละไม่ถึง 0.1 จึงทำให้ผลรวมต่ำกว่าร้อยละที่แสดง
ที่มา: วิเคราะห์ข้อมูลจากสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2533 และ 2563 

ข้อมูลสถิติเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไทย จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะมีลูกหลานอาศัยอยู่ด้วยกันช่วยและคอยช่วยดูแลซึ่งกันและกัน กลับกลายเป็นผู้สูงอายุจะอาศัยอยู่ตามลำพังเฉพาะผู้สูงอายุและอยู่คนเดียวมากขึ้น ประกอบกับข้อมูลในปี 2565 ที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีกว่า 12.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด2  ซึ่งเรียกได้ว่า ประเทศไทยเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (complete aged society) แล้วนั้น ทั้งนี้ภาครัฐควรจะมีมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรดังกล่าวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย อาทิ การให้ความรู้เรื่องทัศนคติการสูงวัยแก่คนในสังคม การดูแลรักษาสุขภาพตลอดช่วงชีวิต การให้บริการทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจด้วย 


อ้างอิง

  1. รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน และคณะ. (2565). โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุ ที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกันเพื่อนําไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). การคาดประมาณประชากรของประเทศไทยพ.ศ. 2553-2583 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
     

ที่มา: โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุ ที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกันเพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

การอ้างอิงข้อมูลจากบทความนี้ 
ศุทธิดา ชวนวัน,  วิชาญ ชูรัตน์ , กาญจนา เทียนลาย , ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น และสิทธิชาติ สมตา, 2565. โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุ ที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกันเพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. นครปฐม. 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ส้วม

วรชัย ทองไทย

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th